กรณีโรคเรื้อนได้รับการบันทึกไว้ในประชากรสองกลุ่มของลิงชิมแปนซีตะวันตก ที่อยู่ห่างกันมากถึง 1,000 กิโลเมตร ซึ่งอยู่ในอุทยานแห่งชาติสองแห่งคือ Cantanhez Forests National Park และ Taï National Park
การระบาดครั้งแรกปรากฏขึ้นผ่านกล้องที่ซ่อนอยู่ซึ่งตั้งไว้รอบๆ อุทยานแห่งชาติ Cantanhez ซึ่งแสดงให้เห็นว่าลิงชิมแปนซีป่าอย่างน้อยสี่ตัว ที่มีอาการผิดปกติบนใบหน้า หู มือ และเท้าของพวกมัน รวมถึงขนที่ร่วงและสูญเสียเม็ดสีไป ใบหน้าของมันคล้ายกับอาการของโรคเรื้อนในมนุษย์ ภายหลังเปิดเผยว่ามีอาการคล้ายคลึงกันในลิงชิมแปนซีที่แยกจากกันโดยสิ้นเชิง ที่อยู่ในอุทยานแห่งชาติ Tai
นักวิทยาศาสตร์ประหลาดใจกับอาการเหล่านี้ ซึ่งยืนยันข้อสงสัยของพวกเขาโดยใช้การวิเคราะห์ทางพันธุกรรม ทีมงานเก็บตัวอย่างอุจจาระและตรวจพบแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคเรื้อน Mycobacterium leprae และพวกเขายังพบแบคทีเรียในตัวอย่างการชันสูตรศพตัวเมียที่โตเต็มวัยชื่อโซรา ซึ่งถูกเสือดาวฆ่าในปี 2009 ในอุทยานแห่งชาติ Tai
จากการวิเคราะห์ทางพันธุกรรมเพิ่มเติมของแบคทีเรีย M. leprae ที่ได้จากตัวอย่างอุจจาระ เผยให้เห็นข้อมูลเชิงลึกที่น่าสนใจ
- ประการแรก มีการระบาดสองแบบที่แตกต่างกัน ซึ่งบ่งชี้ว่าการระบาดเกิดขึ้นแยกจากกัน
- ประการที่สอง จีโนไทป์ของสายพันธุ์แบคทีเรียที่รับผิดชอบต่อการระบาดทั้งสองนั้นหายากมากในมนุษย์ ซึ่งบ่งชี้ว่าไม่น่าเป็นไปได้ที่การระบาดจะเกิดขึ้นจากการสัมผัสกับมนุษย์
กรณีก่อนหน้านี้ของโรคเรื้อนมีรายงานพบในลิงชิมแปนซีที่ถูกขัง แต่นี่เป็นครั้งแรกที่โรคนี้ได้รับการยืนยันในประชากรของลิงชิมแปนซีในป่า เป็นที่ทราบกันดีว่ามีผลต่อสัตว์ป่าบางชนิด เช่น กระรอกและอาร์มาดิลโล ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดคำถาม พวกมันติดเชื้อโรคนี้ได้อย่างไร?
“ยังมีอีกมากที่เรายังไม่รู้! น่าแปลกใจมากเมื่อพิจารณาว่าโรคนี้มีความเก่าแก่เพียงใด และโรคนี้ส่งผลกระทบต่อมนุษยชาติมานานหลายศตวรรษ” ดร. Kim Hockings หัวหน้าผู้เขียนการศึกษาจากศูนย์นิเวศวิทยาและการอนุรักษ์แห่งมหาวิทยาลัย Exeter กล่าวกับทาง IFLScience
ดร. Hockings อธิบายว่าการที่มนุษย์สัมผัสกับลิงชิมแปนซีเป็นเรื่องผิดปกติในอุทยานแห่งชาติ Cantanhez และอุทยานแห่งชาติ Tai นอกจากนี้ เชื่อกันว่าแบคทีเรีย M. leprae สามารถถ่ายทอดโดยมนุษย์ ซึ่งมีอาการค่อนข้างชัดเจน แต่ไม่มีรายงานพบผู้ป่วยโรคเรื้อนในหมู่นักวิจัย หรือผู้ช่วยวิจัยในพื้นที่ๆ พวกลิงอยู่
“แม้ว่าแหล่งที่มาของมนุษย์จะไม่สามารถแยกแยะออกได้ แต่โอกาสที่ลิงชิมแปนซีในป่ากับมนุษย์เจอกันนั้นต่ำมาก ประกอบกับความหายากของยีนแบคทีเรีย M. leprae ที่ตรวจพบในลิงชิมแปนซี TNP (อุทยานแห่งชาติ Tai) ในหมู่ประชากรมนุษย์ในแอฟริกาตะวันตก ชี้ให้เห็นว่าการแพร่ระบาดจากคนสู่ชิมแปนซีล่าสุดไม่น่าเป็นไปได้ ดร.Hockings กล่าว
ทีมงานเชื่อว่ามีโอกาสมากกว่าที่ลิงชิมแปนซีจะสัมผัสกับแบคทีเรีย ผ่านทางเหยื่อที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก เป็นที่ทราบกันว่า M. leprae สามารถอยู่รอดได้ในดิน และแบคทีเรียบางชนิดสามารถอยู่รอดในน้ำได้ ซึ่งบ่งชี้ว่าเป็นไปได้ที่ลิงชิมแปนซีจะติดเชื้อจากสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติของพวกมัน
ยังไม่แน่ชัดว่าโรคนี้อาจส่งผลต่อลิงชิมแปนซีในระยะยาวอย่างไร ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโรคเรื้อนเป็นโรคที่แสดงอาการช้า และต้องใช้เวลานานในการส่งผลกระทบกับผู้ป่วย ตัวอย่างเช่น ลิงชิมแปนซีตัวเมียใน Cantanhez แสดงอาการของโรคเรื้อนในระยะแรกในปี 2013 และยังมีชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบัน
แต่อย่างไรก็ตาม ลิงชิมแปนซีในซีกตะวันตกกำลังใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง เนื่องมาจากภัยคุกคามจากมนุษย์ สิ่งสุดท้ายที่พวกมันต้องการก็คืออีกโรคที่อาจจะล้างผลาญพวกมันจนหมดไป “นี่เป็นเพียงหนึ่งในหลายแรงกดดันที่ลิงชิมแปนซีป่าและสัตว์ป่าอื่นๆ กำลังเผชิญอยู่” ดร. Hockings กล่าว
“เป็นไปได้ว่ามันอาจจะมีส่วนจากความเครียด ไม่ว่าจะเป็นจากมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ในสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติของพวกมัน หรือการติดเชื้อจากการรักษา ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ต้องค้นหาคำตอบต่อไป และศึกษาผลกระทบในระยะยาวที่จะมีผลต่อพวกมัน”