ประวัติ ‘นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร’ หนึ่งในนกที่เข้าใจยากที่สุดในไทย

นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร เป็นหนึ่งในสายพันธุ์สัตว์ที่เข้าใจยากที่สุดในโลก นั้นเพราะนกชนิดนี้พบได้ที่บึงบอระเพ็ดเฉพาะหน้าหนาวเพียงแห่งเดียวในโลก ไม่มีแม้แต่ภาพตัวเป็นๆ หรือในธรรมชาติของนกชนิดนี้ และมันก็อาจสูญพันธุ์ไปแล้วตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 ด้วยเหตุนี้ข้อมูลของ "นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร" ส่วนใหญ่จึงเป็นการอนุมาน ข้อมูลที่แท้จริงจึงยังไม่แน่นอน และอาจไม่มีวันเข้าใจมากไปกว่านี้

นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร

นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร คืออะไร?

Advertisements

นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร หรือ นกนางแอ่นตาพอง (White-eyed River-Martin) มีชื่อวิทยาศาสตร์ Pseudochelidon sirintarae (ซูโดเคลิดอน สิรินทาแร) จัดเป็นนกที่อยู่ในสกุลของนกนางแอ่นแม่น้ำ อยู่ในวงศ์ของนกนางแอ่น และนกในสกุลนี้ก็มีด้วยกัน 2 ชนิด

นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร (White-eyed River-Martin) / Pseudochelidon sirintarae

โดยอีกชนิดคือ “นกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกา” มันเป็นนกที่ผสมพันธุ์และวางไข่อยู่ตลอดเส้นทางแม่น้ำคองโกและแม่น้ำสาขา ส่วนสถานะของนกชนิดนี้ก็ดีกว่านกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรอยู่เล็กน้อย มันเป็นนกที่ยังไม่ทราบขนาดของประชากร แต่คาดว่าจะเหลือน้อยเต็มที เนื่องจากในช่วงก่อนปี ค.ศ. 1950 นกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกา ก็ถูกจับเพื่อนำไปกินเป็นจำนวนมาก แถมแหล่งวางไข่ก็ยังถูกทำลายไปมากเช่นกัน

นกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกา (African River Martin)

ทั้งนี้นกนางแอ่นแม่น้ำ ทั้งเอเชียและแอฟริกาจะต่างกันที่ขนาดของปากและตา แสดงให้เห็นว่า พวกมันมีการกินอาหารที่แตกต่างกัน นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรอาจกินเหยื่อที่มีขนาดใหญ่กว่า ในขณะที่นกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกาจะมีปากที่กินเหยื่อขนาดเล็ก

ประวัติการพบนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร

นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรถูกพบในปี ค.ศ. 1967 โดยนักวิจัยจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย พวกเขาได้ดักจับนกนางแอ่นจากบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อศึกษาเรื่องการอพยพย้ายถิ่นของสัตว์ต่างๆ

จนในช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 1968 คุณ กิตติ ทองลงยา ก็ได้สังเกตุเห็นนกตัวหนึ่งที่แตกต่างจากนกนางแอ่นชนิดอื่นที่จับได้ นกตัวนี้มีขนาดใหญ่กว่านกนางแอ่นทั่วไปมาก ขนเป็นสีดำคล้ำ ตามีวงขาวและใหญ่ ปากและสะโพกสีขาว หางกลมมน ขนหางคู่กลางมีแกนยื่นยาวออกมาอย่างชัดเจน

จากการตรวจสอบขั้นต้น ไม่สามารถจำแนกชนิดของนกที่พบได้ คุณกิตติจึงเก็บตัวอย่างของตัวเบียน หรือ เห็บ เหาและไร ของนกส่งไปให้สถาบันสมิธโซเนียน เพื่อให้ช่วยตรวจและวิเคราะห์หาชนิดของนกดังกล่าว ผลที่ได้มาคือ มันมีเหาชนิดเดียวกับนกนางแอ่นแม่น้ำในสกุล Pseudochelidon (ซูโดเคลิดอน) ซึ่งพบในแถบลุ่มน้ำคองโกของแอฟริกา

จากนั้นก็ได้ทำการเปรียบเทียบลักษณะอวัยวะต่างๆ ภายในของนกตัวนี้กับตัวอย่างนกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกา (African River Martin) พวกเขาก็พบว่านกตัวนี้จะต้องเป็นนกในสกุลนกนางแอ่นแม่น้ำอย่างแน่นอน แต่เนื่องจากว่านกในสกุลนี้เคยมีเพียงชนิดเดียวคือนกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกา ดังนั้นนกที่ค้นพบที่บึงบอระเพ็ดจึงต้องเป็นชนิดใหม่ของโลก

เมื่อมีการยืนยันว่านี่คือนกชนิดใหม่ นักปักษีวิทยาของเมืองไทยต่างก็มีความเห็นว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนราชสุดา ซึ่งเป็นพระยศในขณะนั้น ทรงเป็นผู้ที่สนพระทัยในเรื่องธรรมชาติวิทยาของเมืองไทยเป็นอย่างมาก พวกเขาจึงขอพระราชทานนามมาตั้งชื่อให้กับนกชนิดนี้ว่า “นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร” และมีชื่อสามัญภาษาอังกฤษว่า White-eyed River Martin (Pseudochelidon sirintarae)

ลักษณะของนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร

นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรเป็นนกนางแอ่นขนาดกลาง มีความยาวจากปากจรดหางประมาณ 12 – 13 เซนติเมตร ความยาวเฉพาะหาง มากกว่า 9 เซนติเมตร

ลำตัวสีดำสนิท มีเหลือบสีน้ำเงิน-เขียวเข้มบางส่วน บริเวณสะโพกมีสีขาว บริเวณหลังมีสีดำเหลือบสีน้ำเงินหรือเขียวเข้ม หัวสีเข้มกว่าหลัง บริเวณคางมีกระจุกขนสีดำคล้ายกำมะหยี่ไปถึงหลังส่วนบน ปีกสีดำ หางสีดำเหลือบเขียว ขนหางมนกลม ขนคู่กลางที่มีแกนยื่นออกมาเป็นเส้นเรียวยาวประมาณ 10 เซนติเมตร และที่ปลายจะแผ่เล็กน้อย

ในอดีตชาวบ้านในบริเวณที่ค้นพบเรียกนกชนิดนี้ว่า “นกตาพอง” เนื่องจากที่บริเวณขอบตาของนกมีวงสีขาวล้อมรอบ จนดูเป็นขอบตาสีขาวกลมๆ พองๆ ที่เห็นได้เด่นชัดเจน มีนัยน์ตาและม่านตาสีขาวอมชมพูเรื่อๆ ปากกว้างสีเหลืองสดแกมเขียว มีแต้มสีดำรูปโค้งที่ปากบน ขาและเท้าใหญ่มีสีชมพู ไม่ส่งเสียงร้องในฤดูหนาว และเสียงร้องในช่วงผสมพันธุ์ก็ไม่ทราบเช่นกัน

จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่ทราบชีววิทยาการขยายพันธุ์ของนกชนิดนี้

Advertisements

แหล่งผสมพันธุ์วางไข่ของนกชนิดนี้ยังไม่มีการค้นพบ จึงไม่ทราบชีววิทยาการขยายพันธุ์ของนกเลย แต่คาดกันว่ามันน่าจะคล้ายกับนกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกา โดยจะทำรังตามโพรงบริเวณตลิ่งทรายริมแม่น้ำ วางไข่ชุดละ 2-3 ฟอง อาจเป็นเดือนเมษายน – พฤษภาคม คาดว่าน่าจะทำให้เสร็จก่อนฝนจะทำให้ระดับน้ำเพิ่มขึ้น

แต่ความแตกต่างทางกายวิภาคของรูปร่างเท้าและขา ทำให้รู้ว่านกชนิดนี้ไม่สามารถขุดโพรงได้ ในฤดูหนาวพบว่านอนอยู่ในฝูงนกนางแอ่นชนิดอื่นๆ ที่เกาะอยู่ตามใบอ้อและใบสนุ่น บางครั้งก็พบอยู่ในกลุ่มของนกกระจาบและนกจาบปีกอ่อน

สรุปคือในตอนนี้เรารู้เพียงแค่ นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรพบในบริเวณ “บึงบอระเพ็ด” เท่านั้น แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่าเป็นนกอพยพหรือไม่? และหากเป็นนกอพยพเราก็ยังไม่ทราบที่มา รวมทั้งพื้นที่แหล่งผสมพันธุ์วางไข่ยังไม่เป็นที่ทราบกัน อาจป็นหุบเขาที่มีแม่น้ำไหลผ่านอย่างภาคเหนือของประเทศไทย หรือทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน

ส่วนสถานภาพในปัจจุบันของนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร ถูกกำหนดให้เป็นนกเฉพาะถิ่น (endermic) ที่พบได้เพียงแห่งเดียวในโลกคือที่บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ มีรายงานการพบครั้งสุดท้ายปี ค.ศ. 1980 และนกชนิดนี้ก็ถูกจัดให้อยู่ในสถานะ “สูญพันธุ์” แต่บางแหล่งข้อมูลให้อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤติ และนอกจากนี้นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรยังจัดเป็นสัตว์ป่าสงวนของประเทศไทยอีกด้วย

สุดท้ายจากการสำรวจเพื่อค้นหานกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งในบึงบอระเพ็ด การสำรวจที่แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน ในปี ค.ศ. 1969 มีการสำรวจที่แม่น้ำวังทางตอนเหนือของประเทศไทย จนในปี ค.ศ. 2004 ก็มีรายงานการพบเห็นที่กัมพูชาแต่ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัด

ต่อมาปี ค.ศ. 2008 มีการสำรวจโดยใช้เรือเร็ว และสัมภาษณ์ชาวบ้านในกัมพูชาที่อาศัยใกล้กับตำแหน่งที่มีการพบเห็นดังกล่าว แต่ก็ไม่พบหลักฐานเชิงบวกใดๆ และนักวิจัยยังระบุว่า พื้นที่แถบนี้อยู่ในสภาพย่ำแย่มาก นอกจากนี้ยังมีการสำรวจบริเวณแม่น้ำในภาคเหนือของประเทศลาว แต่ก็ไม่พบร่องรอยของนกชนิดนี้เลย …แต่ถึงอย่างงั้นนักวิจัยก็หวังว่าจะมีนกชนิดนี้ หลงเหลืออยู่ที่ไหนสักแห่งในประเทศจีน

นกพงปากยาว (Large-Billed Reed-Warbler)
Advertisements

และนอกจากนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร ยังมีอีกชนิดที่หายากสุดๆ และช่วงหลังๆ ก็พบได้ที่ไทย นั้นก็คือ นกพงปากยาว (Large-Billed Reed-Warbler) ซึ่งเป็นนกที่ได้ชื่อว่า “นกที่มนุษย์รู้จักน้อยที่สุดในโลก” มันเป็นที่รู้จักจากตัวอย่างเพียงตัวเดียว ซึ่งพบในอินเดียเมื่อปี 1867 หลังจากนั้นก็ไม่พบอีกเลยจนคิดว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว แต่แล้วในปี 2006 ก็พบนกชนิดนี้ในประเทศไทย และการพบครั้งล่าสุดที่ได้รับการบันทึกคือในบึงบอระเพ็ด

และถึงแม้จะพบเจอตัวอย่างใหม่ แต่นกชนิดนี้ยังคงความลึกลับและปริศนามากมาย ทำให้การศึกษาประชากรพวกมันยังคงทำได้ยาก ถึงจะยังมีการพบเห็นอยู่อีกหลายครั้งก็ตาม

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements