เหยื่อปลอม ในภาษาอังกฤษใช้คำศัพท์ว่า Lure ออกเสียงว่า “ลัวร์” ส่วนในภาษาญี่ปุ่นของคนรุ่นใหม่ เรียกว่า ルア- ออกเสียงว่า “ลูอา” ซึ่งเป็นการเรียกแบบทับศัพท์ แต่ถ้าจะเรียกกันแบบศัพท์เก่าๆเดิมๆ ก็จะมีคำว่า 疑似餌 ออกเสียงว่า “กิจิเอะ” มีความหมายตรงตัวว่า เหยื่อปลอม
ประเภทของเหยื่อปลอม มีอะไรบ้าง ?
• เหยื่อที่มีลิ้น
• เหยื่อผิวน้ำ
• เหยื่อไม่มีลิ้น
• เหยื่อที่มีลวดเป็นส่วนหลัก
• เหยื่อพลาสติกนิ่ม หรือเหยื่อยาง
• เหยื่อที่ทำจากขน (ฟลาย)
ผมให้คำจำกัดความของคำว่าเหยื่อปลอมไว้ว่า “เป็นวัตถุที่เร้าให้ปลาเข้าสนอง” ไม่ว่าจะเป็นการเร้าให้เกิดการอยากกิน เร้าให้เกิดความโกรธ เร้าให้เกิดความสนใจ โดยมากจะมีลักษณะลอกเลียนพฤติกรรมของเหยื่อเพื่อให้ปลาเข้ากิน แต่ก็มีอยู่ไม่น้อยที่มีลักษณะอันเกิดจากจินตนาการและไม่เหมือนอะไรในธรรมชาติเลย”
เหยื่อปลอม ถือกำเนิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ ในอดีตกาลมนุษย์รู้จักใช้ กิ่งไม้เหลาประกอบเข้ากับ กระดูกสัตว์ หรือเขาสัตว์ ใช้ในการหาปลามากินเป็นอาหาร แล้วมนุษย์ก็มีทักษะฝีมือให้การตกแต่งเหยื่อเหล่านี้ให้มีความประณีต หรือให้มีคุณลักษณะที่ตรงกับความต้องการมากขึ้น
โดยพื้นฐาน เหยื่อปลอมจะทำงานก็ต่อเมื่อ เหยื่อปลอมนั้นมีการเคลื่อนที่ ซึ่งพื้นที่การทำงานของเหยื่อก็จะแบ่งออกไปตามช่วงระดับน้ำ คือ ผิวน้ำ กลางน้ำ และพื้นท้องน้ำ
มีวิธีการจำแนกเหยื่ออยู่หลากหลายวิธี เช่น จำแนกโดยกำหนดจากพื้นที่การทำงานของเหยื่อ จำแนกโดยกำหนดจากลักษณะการใช้งานของเหยื่อ หรือ จำแนกโดยกำหนดจากลักษณะของตัวเหยื่อ
ในที่นี้ ผมขอจำแนกประเภทเหยื่อโดยวิธีการกำหนดจากลักษณะของวัสดุที่ใช้ทำเหยื่อ แล้วค่อยจำแนกออกไปเป็นลักษณะรูปทรงของเหยื่อปลอมเอง
เหยื่อที่มีลิ้น
มีทั้งแบบที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ไม้ และทำจากวัสดุที่มนุษย์สังเคราะห์ขึ้น เช่น พลาสติก
เหยื่อแบบมีลิ้นดำน้ำ : ลิ้นดำน้ำจะเป็นตัวต้านน้ำและบังคับทิศทางให้เหยื่อดำดิ่งลงไป องศาและความยาวของลิ้นจะเป็นตัวกำหนดระยะดำ เมื่อเหยื่อถูกลากไปด้วยความเร็วหนึ่งๆ
จำแนกย่อยออกไปได้อีกหลายแบบตามแต่รูปทรง แต่ที่เห็นบ่อยๆก็จะมี 2-3 แบบ คือ
– แคร้งค์เบท (Crank-bait) เหยื่อแบบนี้ มีลักษณะสั้นป้อม โดยมีลิ้นกำหนดการดำ มีทั้งดำลึกและดำตื้น และมีทั้งแบบลอยและแบบจม
– มิโนเบท (Minnow-bait) เหยื่อแบบนี้ มีลักษณะเลียนแบบรูปทรงจากลูกปลาเหยื่อ รูปทรงเด่นค่อนจะออกไปทางยาว
– แชดเบท (Shad-bait) เหยื่อแบบนี้ มีลักษณะรูปทรงอยู่ระหว่างแคร้งค์เบท และมิโนเบท คือ จะเพรียวกว่าแคร้งค์และจะมีทรงกว้างกว่ามิโน
ข้อดี : ของเหยื่อมีลิ้นก็คือแค่กรอเข้ามาเฉยๆ เหยื่อก็เรียกความสนใจจากปลาล่าเหยื่อได้ นอกจากนี้ยังสามารถใช้เทคนิคต่างๆเข้าช่วยด้วยได้อีก ถือเป็นเหยื่อที่ใช้ง่ายอย่างหนึ่ง
เหยื่อที่ทำจากวัสดุแข็งแบบไม่มีลิ้น : เหยื่อแบบนี้มีหลากหลายรูปแบบ จำแนกจากลักษณะการทำงานของเหยื่อออกเป็น
เหยื่อผิวน้ำ
เหยื่อผิวน้ำ (Topwater) เหยื่อผิวน้ำหรือที่เรามักจะเรียกทับศัพท์กันว่า เหยื่อท๊อปวอเตอร์ เหยื่อพวกนี้ ทำงานบนผิวน้ำตามชื่อ แต่ก็มีบางแบบที่เมื่อกรอสายเร็วๆแล้วก็จะว่ายสลับระหว่างการมุดน้ำกับกระโดดขึ้นที่ผิวน้ำ เป็นเหยื่อที่ได้รับความนิยมมาก เนื่องจากการเข้าชาร์จของปลาล่าเหยื่อที่กระทำต่อเหยื่อชนิดนี้ โดยมากจะเป็นไปด้วยความรุนแรง เรายังสามารถจำแนกย่อยเหยื่อผิวน้ำออกได้ดังนี้
เหยื่อเพนซิล เหยื่อแบบนี้ก็มีหลายรูปทรง โดยมาก เมื่อกระชากเหยื่อแล้วปล่อยสายให้หย่อน แล้วก็กระชากแล้วปล่อยหย่อน อย่างต่อเนื่อง เหยื่อจะว่ายสลับซ้าย-ขวาไปมา อาการคล้ายปลาที่ไม่สบาย เร้าให้ปลาล่าเหลื่อโจมตี
เหยื่อสวิชเชอร์ เป็นเหยื่ออีกชนิดหนึ่งที่เห็นว่านักตกปลามักจะมีติดกล่อง แต่ก็ไม่ค่อยได้เห็นใครใช้สักเท่าไหร่ บางรุ่นมีใบพัดทั้งหัวและท้าย เมื่อลากเหยื่อเข้ามาจะเกิดคลื่นน้ำถี่ๆ ใช้ลาก-หยุด สลับไปเรื่อยๆ
เหยื่อไม่มีลิ้น
เหยื่อไม่มีลิ้นอีกอย่างหนึ่งที่นักตกปลาค่อนข้างใช้บ่อย คือ เหยื่อแบบสั่นสะเทือน หรือบางทีก็เรียกกันว่า แรททิ่น เหยื่อแบบนี้จะมีรูปร่างคล้ายปลา มีทั้งแบบตัน และแบบกลวง สำหรับแบบกลวง โดยมากจะใส่ลูกปืนโลหะไว้ข้างในตัวเหยื่อ เพื่อว่าเมื่อเหยื่อสะบัดตัวเคลื่อนไหว ลูกปืนโลหะเหล่านั้นก็จะกระทบกัน ทำให้เกิดคลื่นเสียงคล้ายลูกแซ็ก
วิธีการใช้ ก็สามารถใช้ได้ทั้งแบบกรอมาเฉยๆ หรือจะกระชากเหยื่อเร็วๆแล้วปล่อย หรือจะกรอแล้วหยุด ก็เกิดการเร้าต่อปลาล่าเหยื่อทั้งสิ้น
เหยื่อปลอมที่จำแนกออกมาในหมวดต่อไป คือ
เหยื่อโลหะ หมายถึง เหยื่อที่มีส่วนประกอบหลักเป็นโลหะ ในหมวดนี้ก็แยกออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
1. เหยื่อที่มีตัวเหยื่อเป็นโลหะ เช่น สปูน กระดี่เหล็ก และจิ๊ก เป็นต้น
2. เหยื่อที่มีลวดเป็นส่วนหลัก เช่น สปินเนอร์ สปินเนอร์เบท บัซเบท เป็นต้น
เหยื่อสปูน
เป็นเหยื่อแบบที่มีลำตัวเป็นโลหะ มีหลากหลายรูปทรง ส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นโลหะแผ่นเว้าคล้ายช้อน มีเรื่องเล่าอยู่ว่า เหยื่อสปูนนี้กำเนิดขึ้นจากความบังเอิญที่มีใครคนหนึ่งเผลอทำช้อนหล่นลงในน้ำ แล้วได้เห็นตอนที่ช้อนร่อนไปร่อนมาในน้ำแล้วโดนปลาแบสเข้าฉวย หมอนี่ก็เลยเอาช้อนมาลองใส่เบ็ดแล้วใช้แทนเหยื่อดู เกิดใช้ได้ผลดี ก็เลยมีการพัฒนาให้มีรูปทรงที่หลากหลายเช่นในปัจจุบัน
เหยื่อกระดี่เหล็ก
Advertisements
เหยื่อนี้ก็เป็นเหยื่ออีกอย่างที่เกิดเมืองนอก แต่เป็นที่นิยมของนักตกปลาชาวไทยอย่างมาก ลักษณะของตัวเหยื่อจะเป็นใบโลหะที่มีน้ำหนักถ่วงอยู่ บางตัวก็อาจมีรูสำหรับลากเหยื่ออยู่หลายรู เพื่อให้เกิดแรงสั่นสะเทือนที่ต่างกันเมื่อใช้รูลากเหยื่อที่ต่างตำแหน่งกัน
เหยื่อจิ๊ก
เหยื่อที่มีลวดเป็นส่วนหลัก
อย่างที่เก่าแก่ที่สุดคงหนีไม่พ้น เหยื่อสปินเนอร์ หลักการของเหยื่อสปินเนอร์คือ เมื่อเหยื่อเคลื่อนที่ด้วยความเร็วที่พอเหมาะ ใบโลหะก็จะหมุนควงรอบแกนลวด เกิดเป็นคลื่นเสียงกระตุ้นปลาให้สนใจ ลักษณะของใบโลหะจะเป็นตัวกำหนดลักษณะของคลื่นเสียงที่เกิดขึ้น เหยื่อสปินเนอร์ที่ดี ควรจะมีความคล่องตัวในการใช้งานสูง
กล่าวคือ ใบโลหะควงตัวรอบแกนได้ง่าย ไม่ลู่พับแนบกับลำตัว แต่หากเกิดปัญหาใบลู่พับ ให้กระตุกปลายคันแล้วปล่อยหย่อนเล็กน้อยก่อนจะลากใหม่อีกครั้ง ก็จะสามารถแก้ปัญหานี้ได้
วิธีใช้ ควรใช้ในที่พื้นน้ำเปิดโล่ง ไม่เหมาะเป็นอย่างยิ่งในที่ที่มีพืชน้ำขึ้นมากๆ โดยเฉพาะพืชน้ำที่มีลักษณะเป็นเส้นใย โดยปกติหากลากเหยื่อด้วยความเร็วเกิน เหยื่อจะเหิรขึ้นมาใกล้กับผิวน้ำ ใ้ห้ลดความเร็วการลากเหยื่อลง หรือจะใช้การลากสลับกับการปล่อยจมเป็นจังหวะๆก็จะได้ผลดีเช่นกัน เหมาะกับปลาล่าเหยื่อพวกปลาช่อนในบ่อ เป็นต้น
เหยื่อสปินเนอร์ เบท
เหยื่อ สปินเนอร์ เบท แบบนี้ออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาการลากเหยื่อลุยในดงสาหร่าย หรือที่ที่มีอุปสรรคใต้น้ำของเหยื่อสปินเนอร์ข้างต้น ลักษณะโดยทั่วไป โครงลวดของตัวเหยื่อ จะทำหน้าที่เป็นการ์ดกันสวะให้กับตัวเบ็ดของเหยื่อไปในตัว ส่วนใบโลหะนั้นจะมี 1 หรือ 2 ใบ และเป็นใบแบบเดียวกัน หรือใบแบบลูกผสมก็ได้
วิธีใช้ คล้ายกับการใช้เหยื่อสปินเนอร์ เพียงแต่ เหยื่อที่มีใบมากกว่า จะเหิรน้ำได้ง่ายกว่า
เหยื่อเทล สปิน
เป็นเหยื่ออีกชนิดหนึ่งที่แก้ปัญหาการจมตัวช้าของเหยื่อสปินเนอร์ คือเหยื่อเทล-สปินนี้ จะสามารถใช้กับตัวถ่วง(ที่เป็นรูปปลาที่รูลากเหยื่อ)ที่มีน้ำหนักได้มากกว่า จะทำให้เหยื่อจมได้เร็วกว่า และข้อดีคือ ขณะที่เหยื่อดิ่งจมลง ใบโลหะด้านท้ายก็จะหมุนควงทำงานไปด้วยพร้อมกัน
วิธีใช้ ทิ้งดิ่ง หรือว่าตีออกไปในจุดที่ไกลออกไปแล้วปล่อยจมลงที่ระดับหนึ่งแล้วค่อยลากเหยื่อ
เหยื่อบัส เบท
ลักษณะของ บัส เบท มีใบแบบสมดุลย์ควงอยู่รอบแกนลวด อาจเป็นแบบ 2 แฉก หรือ 3 แฉก หรือมากกว่านั้นก็ได้ หากแต่ยิ่งมีแฉกของใบพัดมากเท่าไหร่ เหยื่อก็จะทำงานเสียงของเหยื่อก็จะเงียบลงไป แต่ก็จะได้ความถี่ของคลื่นน้ำสูงขึ้น แต่นักออกแบบบางทีก็จะใช้ใบพัดโลหะมากกว่าหนึ่งใบก็ได้ ดังในรูป
วิธีใช้ เหยื่อบัส เบท เป็นเหยื่อที่ทำงานบริเวณผิวน้ำ เหยื่อที่ดีควรจะขึ้นน้ำได้ไว โดยมากจะใช้งานโดยการลากเข้ามาเฉยๆ
เหยื่อใบพัด
วิธีใช้ ส่งเหยื่อในเข้าเป้าหมายแล้วลากเหยื่อออกมาได้เลย เหยื่อแบบนี้ใช้ได้ทั้งการลากเร็วมาก และลากด้วยความเร็วพอประมาณ
เหยื่อพลาสติกนิ่ม หรือเหยื่อยาง
หรือที่เรียกกันติดปากว่า เหยื่อยาง เป็นเหยื่อที่มีรูปทรงหลากหลายอย่างเป็นที่สุด มีลักษณะการใช้งานที่ครอบคลุมเกือบทุกระดับน้ำ มีวิธีการเข้าเหยื่อที่เป็นอิสระ และที่สำคัญหากนักตกปลาเลือกใช้เหยื่อพลาสติกนิ่มนี้ถูกที่ถูกเวลา รับรองว่า ปลาล่าเหยื่อที่คุณล่าจะไม่มีทางหนีรอดมนต์เสน่ห์ของเหยื่อนี้อย่างแน่นอน
ทีนี้ จะย่อยประเภทของเหยื่อพลาสติกนิ่มนี้ออกเป็นแบบต่างๆดังนี้
เหยื่อรูปทรงปลา
เหยื่อนี้ก็มีรูปแบบแยกย่อยได้อีกหลากหลายเช่นกัน เช่น หางกลม หางหนอน หางกรับ ฯลฯ มีเบ็ดในตัว หรือต้องเกี่ยวกับเบ็ดอื่น
อย่างที่มีเบ็ดในตัวนี้ คงไม่ต้องการคำบรรยายอะไรมาก โดยเฉพาะนักตกกะพงบ่อ ถือว่าเป็นเหยื่อครู และยังเป็นเหยื่อไม้ตายอีกด้วย ลากด้วยความเร็วปานกลาง ลดระดับลงมาได้ถึงค่อนข้างช้า ก็จะได้ผลดี
เหยื่อหนอน
ก็นับว่าเป็นเหยื่อที่ได้รับความนิยมมากอีกอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะมือล่าปลาช่อนด้วยวิธีการเท็กซัส เหยื่อหนอนนี้ก็ถือว่าเป็นเหยื่ออีกอย่างที่ไม่สร้างความผิดหวังอย่างแน่นอน
เหยื่อจิ้งจก
ก็เป็นเหยื่ออีกอย่างที่นักปลาปลาช่อนชื่นชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่ผิวน้ำอุดมไปด้วยแหน ลากเหยื่อให้เลื้อยหรือวิ่งมาบนแหน แล้วหยุดบ้าง
เหยื่อรูปแมลง,กุ้ง,ปู
อย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว เหยื่อพลาสติกนิ่มนี้ มีอิสระในการออกแบบค่อนข้างสูง อีกทั้งเทคนิคในปัจจุบันนี้ก็สามารถสร้างสรรค์งานที่มีรายละเอียดได้ดี จึงเกิดการทำเหยื่อที่ถอดลักษณะได้ใกล้เคียงเหยื่อธรรมชาติมากขึ้น
เหยื่อกบที่ทำจากพลาสติกนิ่ม
กบยาง นี่ก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่นักตกปลาที่ชอบปลาประเภทชะโดควรมีไว้บ้าง โดยเฉพาะในช่วงหลายปีมานี้ ผมมักได้เห็นนักตกปลาตามแหล่งน้ำที่เป็นเขื่อนใช้กันอยู่เป็นประจำ เหยื่อกบพลาสติกนิ่มจะมีลักษณะเป็นเหยื่อที่ตัน หากลากหยื่อไว เหยื่อจะลอยขึ้นมาที่ผิวน้ำ แต่เท่าที่เห็น โดยมากนักตกปลาจะลากเหยื่อที่ค่อนข้างช้า โดยจะให้เหยื่อจมลงใต้ผิวน้ำนิดๆ
เหยื่อกรั๊บ
สำหรับเหยื่อนี้ผมไม่รู้ว่าจเรียกเป็นภาษาไทยว่าอย่างไรดีจึงของเรียกทับศัพท์เอาเลยก็แล้วกัน เหยื่อกรั๊บนี้ ก็เป็นเหยื่ออีกอย่างที่ถูกใช้อย่างแพร่หลาย หางงอๆของกรั๊บเมื่อถูกลากในน้ำก็จะพริ้วไหว เร้าความสนใจจากปลาล่าเหยื่อได้ค่อนข้างดี
วิธีใช้ สามารถใช้ได้อย่างกว้างขวาง คือ จะใช้ร่วมกับตัวเบ็ดจิ๊กก็ได้ หรือจะใช้ร่วมกับเท็กซัสก็ได้ หรือแม้แต่ใช้เบ็ดที่ไม่ได้ถ่วงน้ำหนักก็ยังได้อีก
เหยื่อท่อกลวง
หรือเหยื่อแบบ Tubes เหยื่อแบบนี้ไม่ค่อยจะได้รับความสนใจจากนักตกปลาในบ้านเราสักเท่าไหร่ แต่สำหรับที่อเมริกาหรือญี่ปุ่น เมืองที่ผู้คนนิยมตกปลาแบส ค่อนข้างจะใช้กันอย่างกว้างขวาง
เรื่องของเหยื่อพลาสติกนิ่ม และเหยื่อยางทั้งหลายเหล่านี้ ยังมีความหลากหลายอีกมาก รวมถึงวิธีการใช้ที่แตกต่างออกไปอีกหลายแขนง เป็นเรื่องที่นักตกปลาต้องใช้จินตนาการ และสร้างสรรค์วิธีใช้ ไม่แน่ว่า คุณอาจเป็นผู้สร้างสรรค์วิธีการใช้เหยื่อ หรืออาจเป็นผู้ดีไซน์เหยื่อใหม่ๆขึ้นมาก็ได้
เหยื่อที่ทำจากขน (ฟลาย)
หรือจะเรียกโดยรวมว่าเหยื่อฟลายก็ได้ เหยื่อพวกนี้โดยมากจะทำจากขนของสัตว์ปีก ขนและหนังของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเช่น ใช้ ขนกวางหรือหนังกระต่าย แต่บางทีก็ใช้ใยสังเคราะห์มาเป็นส่วนประกอบอยู่บ้าง โดยมากจะเป็นเหยื่อที่นักตกปลาสร้างขึ้นเอง การทำเหยื่อพวกนี้จะว่าไปก็ไม่ยาก เพียงแต่นักตกปลาต้องมั่นศึกษารูปแบบของเหยื่อ เท่าที่เห็นมาส่วนใหญ่นักตกปลาในต่างประเทศจะมีหลอดดูดแบบปั๊มสูญญากาศ เพื่อดูดเอาอาหารที่อยู่ในทางเดินอาหารของปลาที่ตกได้ออกมาดูว่า ปลาในพื้นที่นั้นๆกินอะไรเป็นอาหาร
เหยื่อแบบนี้มีพื้นที่ใช้งานกว้างขวาง คือ ใช้ได้ตั้งแต่ต้นน้ำ ทะเลสาบ เขื่อน ไปจนถึงทะเล ใช้ตกปลาได้ตั้งแต่ปลาที่ตัวไม่ถึงขีด เช่นพวกปลาเทร้า ปลาชาร์ ที่อยู่ทางต้นน้ำ ไปจนถึงปลาขนาดใหญ่อย่างปลากระโทงร่มในทะเลกว้าง แต่เนื่องจากว่าเหยื่อพวกนี้มีน้ำหนักเบามาก ดังนั้นการส่งเหยื่อออกจึงจำเป็นต้องใช้สายเบ็ดที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้กับเหยื่อประเภทนี้ ที่เรียกกันว่าสายฟลาย แล้วเพื่อให้เหมาะสม
คันเบ็ดและรอกเก็บสายก็ต้องเป็นชุดอุปกรณ์ที่ถูกสร้างมาเพื่อการใช้เหยื่อฟลายนี้ด้วย แต่บางทีนักตกปลาก็สามารถประยุกต์เอาเหยื่อฟลายนี้ไปพ่วงเข้ากับเหยื่อปลอมอื่นๆก็มีให้เห็นอยู่เหมือนกัน เหยื่อฟลายเอง ก็แบ่งแยกออกไปได้หลายรูปแบบอีกเช่นกัน แต่ในที่นี่จะขอจำแนกจากต้นแบบที่เหยื่อเลียนลักษณะมาก็แล้วกัน
เหยื่อแมลงแบบเปียก เหยื่อแบบนี้ จะใช้คู่กับสายฟลายแบบจม ตัวเหยื่อจะไม่มีขนฟูเก้งก้าง ใช้ในแหล่งน้ำไหลที่ใสสะอาด
เหยื่อปลาเล็ก เหยื่อแบบนี้ ฝรั่งเรียกว่า สตรีมเมอร์ ดูเผินๆคล้ายกับแมลง แต่พวกดูตอนที่ใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นลีลา หรือรูปร่างตอนที่อยู่ในน้ำ คล้ายกับลูกปลามากกว่า สามารถใช้ได้ทั้งในแหล่งน้ำไหล น้ำนิ่ง จนถึงกับทะเลก็ยังสามารถใช้ได้ ถือเป็นเหยื่อที่มีความครอบคลุมสูงอย่างหนึ่ง
เอาล่ะครับ สำหรับซีรี่ยส์เรื่องเหยื่อปลอมคืออะไร คงจะพอแต่เพียงเท่านี้ก่อน หวังว่า ผู้อ่านคงได้สาระจากการติดตามอ่านนี้ไปบ้าง เรื่องที่เผยแพร่มาถึงตอนนี้ เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของเหยื่อปลอม ยังมีเหยื่อมากมายหลากหลายประเภทที่ไม่ได้กล่าวถึงในที่นี้ เหล่านี้เป็นเพียงแนวทางให้นักตกปลาได้ใช้เป็นไอเดียเมื่อเวลาได้ไปตกปลา และสามารถประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์มากขึ้น
อ้างอิง : BiXmOUTh