นักบรรพชีวินวิทยาพบร่องรอยแผลบนใบหน้าของไดโนเสาร์ประเภท ไทแรนโนซอร์รัส (Tyrannosaurs) มามากกว่าสองทศวรรษแล้ว แผลพวกนี้เป็นแผลที่เกิดจากสัตว์สองตัวกัดกันที่หน้า ..นักวิจัยสงสัยว่ารอยแผลนี้เสามารถเปิดเผยพฤติกรรมการแย่งตัวเมีย หรือการแย่งอาหารและอาณาเขตของพวกมันได้
ทีมนักวิจัยได้ตรวจสอบกะโหลกฟอสซิลจำนวน 528 ชิ้นของอัลเบอร์โตซอรัส (Albertosaurus) กอร์โกซอรัส (Gorgosaurus) และ แดสเปลโทซอรัส (Daspletosurus) มีรอยแผลมากถึง 324 รอย ส่วนใหญ่รอยพวกนี้จะอยู่ที่ขากรรไกรบนหรือส่วนล่าง ร่องรอยยังแสดงให้เห็นถึงการฟื้นฟูบาดแผลที่ดีเยี่ยม บ่งชี้ว่าการโจมตีพวกนี้เกิดขึ้นบ่อยและไม่ถึงตาย เรียกได้ว่าแผลพวกนี้เป็นเรื่องปกติของไดโนเสาร์ และ 60% ของสัตว์ที่โตเต็มที่จะมีรอยแผลบนหน้า
จากตำแหน่งของรอยกัด นักวิจัยคิดว่าพวกมันโจมตีโดยการเอียงหัวและพยายามกัดกะโหลกหรือขากรรไกรล่างของอีกฝ่าย ซึ่งคล้ายๆ กับพวกกิ้งก่าหลายชนิดในปัจจุบัน และเช่นเดียวกับสัตว์ปัจจุบัน รอยกัดพวกนี้มาจากสัตว์ที่มีขนาดใกล้เคียงกับมัน
ทีมวิจัยได้ตรวจสอบกะโหลกที่มีร่องรอยการเติบโต (ช่วงอายุและการพัฒนาการ) พบว่าไม่มีรอยแผลในช่วงอายุน้อย แต่เริ่มมีรอยแผลช่วงวัยรุ่นซึ่งจะเยอะมาก และเมื่อมันโตเต็มที่พบว่าแผลหายไวมากขึ้นและน้อยลง จากการค้นพบนี้รวมถึงการเทียบกับสัตว์ชนิดอื่น รอยกัดนี้อาจจะบ่งบอกถึงวุฒิภาวะของพวกมันด้วย แผลพวกนี้คาดว่ามาจาก การหาคู่ การแย่งเขตแดน และการแย่งอาหารจากอีกฝ่าย
นอกจากนี้ทีมงานยังวิเคราะห์รอยแผลบนหน้าในไดโนเสาร์กินเนื้อชนิดอื่น ไม่ใช่เพียงแค่ไทแรนโนซอร์เท่านั้น แต่รอยแผลที่หน้าพบได้ในอีกหลายชนิดเช่น อัลโลซอร์ (Allosaurus), คาร์คาโรดอนโทซอร์ (Carcharodontosaurus) และยังรวมถึงพวกไดโนเสาร์กินเนื้อยุคแรกๆ อย่าง เฮอรีราซอรัส (Herrerasaurus) ซึ่งมันอาจเป็นพฤติกรรมรวมในบรรพบุรุษพวกไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่
แต่ที่น่าแปลกคือไม่มีร่องรอยแผลบนกะโหลกพวกกินเนื้อขนาดเล็กอย่างแรปเตอร์ และกลุ่มอื่นที่ใกล้ชิดกับนก เป็นไปได้ว่าพวกมันอาจจะเปลี่ยนจากการต่อสู้ไปเป็นพฤติกรรมดึงดูดเพศตรงข้ามเหมือนนกก็เป็นได้ และมันอาจจะมีขนที่มีสีสันสดใสเหมือนนกในปัจจุบันอีกด้วย