อันดับ 4 – ปลาสตาร์เกเซอร์ (Stargazers Fish)
ปลาสตาร์เกเซอร์ เป็นปลาที่อยู่ในกลุ่มปลาไฟฟ้าเพียงชนิดเดียวที่ใช้ไฟฟ้าเพื่อช็อตเหยื่อเท่านั้น มันไม่สามารถใช่ไฟฟ้าเพื่อนำทางเหมือนปลาไฟฟ้าชนิดอื่นได้ ทั้งนี้ปลาสตาร์เกเซอร์ซึ่งอยู่ในวงศ์ (Uranoscopidae) ซึ่งมีมากถึง 50 ชนิด
โดยชนิดที่มีมากที่สุดดูเหมือนจะเป็น ปลาแอตแลนติก สตาร์เกเซอร์ (Atlantic stargazer) และชนิดมีชื่อเสียงในเรื่องความสามารถมากที่สุดคงจะเป็นปลาไวท์มาร์จิ้น สตาร์เกเซอร์ (Whitemargin Stargazer)
และถึงแม้พวกมันจะปล่อยไฟฟ้าได้แต่ 50 โวลต์ แต่ก็เพียงพอที่จะทำให้มันล่าเหยื่อได้ง่ายขึ้น เพราะปลาทะเลหน้าตาแปลกๆ ตัวนี้เกือบจะเป็นนักล่าที่สมบรูณ์แบบ มันขาดเพียงความเร็วในการว่ายน้ำเท่านั้น
ปลาสตาร์เกเซอร์นอกจากจะช็อตด้วยไฟฟ้าได้แล้ว มันยังเป็นสุดยอดนักซุ่มโจมตี มันซ่อนตัวในทรายได้ มันเป็นหนึ่งในปลาที่ดูดและงับเหยื่อได้เร็วที่สุดในโลก แถมยังมีพิษที่เงี่ยง และหากที่มีทั้งหมดยังไม่พอ ปลาชนิดนี้ยังมีไม้ตายคือการใช้ลิ้นแปลกๆ ของมัน ปลอมเป็นหนอนแกว่งไปแกว่งมาเพื่อดึงดูดเหยื่อให้เข้ามาใกล้ได้อีกด้วย ..มันคือปลาที่รวมความสามารถพิเศษของปลาหลายชนิดเอาไว้ด้วยกัน
อันดับ 3 – ปลากระเบนไฟฟ้า (Electric rays)
เช่นเดียวกับปลาไฟฟ้าชนิดอื่น “ปลากระเบนไฟฟ้า” ก็มีอยู่หลายชนิด พวกมันมีมากกว่า 60 ชนิด โดยแบ่งเป็น 4 วงศ์ 11 สกุล หนึ่งในนั้นคือ ปลากระเบนไฟฟ้าตอร์ปิโด (Common torpedo) มันเป็นกระเบนไฟฟ้าที่ปล่อยไฟฟ้าได้ 200 โวลต์ ถูกใช้เพื่อนำทาง หาอาหารและช็อตเหยื่อ เป็นปลาที่พบได้ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและบางส่วนของมหาสมุทรแอตแลนติกตะวันออก
อีกชนิดคือปลากระเบนโรงศพ (Hypnos monopterygius) ปลาชนิดนี้พบบริเวณชายฝั่งของออสเตรเลีย มันปล่อยไฟฟ้าได้ 250 โวลต์ และยังช็อตได้หลายครั้งอีกด้วย มันเป็นปลาที่นักท่องเที่ยวมักจะโดนช็อต เนื่องจากอยู่ในระดับน้ำที่ไม่ลึกนักและชอบซ่อนตัวอยู่ในทราย เป็นปลาขนาด 40 เซนติเมตร ที่ว่ายน้ำได้ช้าและยังอ่อนแอ มันจึงชอบอยู่นิ่งๆ เป็นเวลานาน
อันดับ 2 – ปลาดุกไฟฟ้า (Electric catfishes)
สำหรับ “ปลาดุกไฟฟ้า” จะมีอยู่ 25 ชนิด โดยจะแบ่งออกเป็น 2 สกุล ชนิดที่ตัวใหญ่ที่สุดคือ ปลาดุกไฟฟ้ายักษ์ (Malapterurus microstoma) ซึ่งยาวได้เกิน 1 เมตร ส่วนชนิดที่มีชื่อเสียงในเรื่องไฟแรงคือ ปลาดุกไฟฟ้าแอฟริกา (Malapterurus electricus) ซึ่งเป็นปลาดุกน้ำจืดที่ปล่อยไฟฟ้าได้ประมาณ 300 – 400 โวลต์ มันจะใช้เพื่อนำทาง หาอาหาร ป้องกันตัวและช็อตเหยื่อได้
ปลาดุกไฟฟ้าแอฟริกา ยาวได้เต็มที่ประมาณ 1 เมตร มันมีรูปร่างอ้วนป้อม ลำตัวยาว เป็นปลาที่หน้าตาแปลกๆ ที่เคลื่อนไหวได้ช้า และชอบอยู่นิ่งๆ บริเวณท้องน้ำ คอยหลบซ่อนอยู่ในโพรงไม้ใต้น้ำหรือตามกอสาหร่าย และรอคอยเหยื่อให้เข้ามาใกล้ เป็นปลาที่พบได้เฉพาะในทวีปแอฟริกา
และแม้ว่าปลาดุกไฟฟ้าหลายชนิดจะดูหน้าตาแปลกๆ แต่พวกมันก็ถูกจับมาบริโภคในท้องถิ่น และยังนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามอีกด้วย แน่นอนว่าประเทศไทยถือเป็นปลาต้องห้าม
อันดับ 1 – ปลาไหลไฟฟ้า (Electric eels)
ปลาไหลไฟฟ้าคือปลาน้ำจืดที่ปลดปล่อยไฟฟ้าได้รุนแรงที่สุดในอาณาจักรสัตว์ แน่นอนว่าพวกมันมีอยู่หลายชนิด ส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในลุ่มน้ำอะเมซอนและโอริโนโคในทวีปอเมริกาใต้ เป็นปลาที่ยาวได้ถึง 2 เมตร หรืออาจยาวกว่านั้น และในประเทศไทย ปลาไหลไฟฟ้าถือเป็นปลาต้องห้าม
โดยทั่วไปแล้วปลาไหลไฟฟ้าที่โตเต็มวัยจะปล่อยไฟฟ้าได้ประมาณ 650 โวลต์ ซึ่งก็ถือว่ามีอันตรายมากแล้ว มันเป็นปลาที่ใช้ไฟฟ้าเพื่อนำทาง หาเหยื่อและเมื่อเจอมันจะช็อตเหยื่อก่อนที่จะกลืนเหยื่อเข้าไป
และถึงแม้พลังไฟ 650 โวลต์จะน่าตกใจ แต่เมื่อปี 2019 มีการค้นพบปลาไหลไฟฟ้าชนิดใหม่ ที่ปลดปล่อยกระแสไฟฟ้าได้สูงถึง 860 โวลต์ มันถูกเรียกว่า “อิเล็กโทรฟอรัส โวลไต (Electrophorus voltai)” ปัจจุบันมันคือเจ้าของตำแหน่งสิ่งมีชีวิตที่ปลดปล่อยไฟฟ้าได้รุนแรงที่สุดในโลก
ปลาไหลไฟฟ้าเป็นปลาที่ประหลาด เพราะร่างกายของมันส่วนใหญ่ถูกใช้เพื่อผลิตไฟฟ้า จะมีเพียง 20% เท่านั้นที่ถือเป็นอวัยวะสำคัญและจะถูกอัดอยู่ที่สวนหัวของมัน ที่เหลือจะใช้ผลิตไฟฟ้าแม้แต่ผิวหนังของพวกมันก็ถูกปกคลุมไปด้วยเซลล์ไฟฟ้า เรียกว่าเป็นปลาที่ถูกสร้างมาเพื่อผลิตไฟฟ้าเลยก็ว่าได้
เรื่องเสริมปลาไหลไฟฟ้า ใช้ผลิตพลังงานทดแทนได้หรือไม่?
หลายคนอาจสงสัยว่าปลาไหลไฟฟ้า สามารถเอามาใช้ผลิตพลังงานทดแทนได้หรือไม่? เพราะเมื่อดูจากพลังไฟฟ้าที่สร้างได้ต่อตัว ถ้าเราเอาพวกมันมาเลี้ยงรวมกัน มันก็น่าจะเป็นแหล่งพลังงานได้หรือเปล่า? คำตอบในทางทฤษฎีคือสามารถทำได้ แต่ในทางปฏิบัติทำไม่ได้
เหตุผลหลักเลยที่การทำให้เป็นจริงมันไม่สามารถทำได้ “เพราะมันคือสิ่งมีชีวิต” และเพราะปลามีไม่มากพอ นั้นเพราะว่า ปลาไหลไฟฟ้ายังไม่สามารถขยายพันธ์ในสถานที่ปิดได้ มันจะขยายพันธุ์ได้ในธรรมชาติเท่านั้น ..การมีพวกมันจำนวนมากจึงเป็นไปได้ และถึงแม้จะพยายามไปจับมาจากธรรมาชาติ มันก็ไม่สามารถใช้ได้ในระยะยาวอยู่ดี
และถึงแม้วันนึงมนุษย์จะขยายพันธ์พวกมันได้ แต่การเลี้ยงปลาไหลไฟฟ้าให้สามารถปล่อยพลังไฟฟ้าได้มากพอ จะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 – 4 ปี และการจะสร้างฟาร์มผลิตไฟฟ้าขึ้นมา จำเป็นต้องใช้ปลาไหลไฟฟ้าจำนวนมาก นี้ยังไม่รวมความเสี่ยงที่มันจะตาย หรือกัดกันเองอีก ป่วยและค่าอาหาร ที่สำคัญปลาพวกนี้ไม่ได้ปล่อยพลังไฟฟ้าที่รุนแรงตลอดเวลา และนี่คือเหตุผลว่าทำไมจึงใช้ผลิตพลังงานทดแทนไม่ได้
นอกจากปลาไฟฟ้าทั้ง 4 ชนิดที่พูดถึงไปแล้ว ยังมีปลาชนิดอื่นที่ใช้ไฟฟ้าเพื่อนำทางและหาอาหาร หรือก็คือพวกมันใช้ไฟฟ้าอ่อนๆ อย่าง “ปลาผีอะบาอะบา (Aba aba, Aba knifefish)” ที่มีรูปร่างคล้ายปลาไหล และยาวได้ประมาณ 1 เมตร มันเป็นปลาที่พบได้ในทวีปแอฟริกาแถบตะวันตก ในลุ่มแม่น้ำแกมเบีย จัดเป็นปลาสวยงามที่นิยมเลี้ยงอีกชนิด แต่หากต้องการเลี้ยงต้องคิดให้ดีหน่อยเพราะปลาชนิดนี้ค่อนข้างดุ
อีกตัวอย่างคือ “ปลาแบล็คโกสต์ (Black ghost knifefish)” ชนิดนี้น่าจะรู้จักกัน เพราะมีให้เห็นบ่อยในตลาดปลาสวยงาม มันปล่อยไฟฟ้าอ่อนๆ เพื่อนำทางและหาอาหาร เป็นปลาที่ยาวได้ประมาณ 50 เซนติเมตร พบในลุ่มแม่น้ำอะเมซอนและซูรินามในทวีปอเมริกาใต้ ..เป็นปลาที่น่าเลี้ยงเพราะนิสัยดี แต่ก็หวงถิ่น หากเป็นตู้ขนาดเล็กควรเลี้ยงตัวเดียว
เอาละก็จบแล้วนะครับ สำหรับเรื่อง ‘ปลาไฟฟ้า’ ที่ช็อตได้รุนแรงที่สุดในโลก ก็หวังว่าจะมีประโยชน์กับทุกคน ไม่มากก็น้อยนะครับ