หนึ่งในปลาทะเลหายากที่สุดในโลก กำลังกลับมาจากขอบเหวของการสูญพันธุ์

เมื่อปี พ.ศ. 2563 สมูทแฮนท์ฟิส (Smooth handfish) ได้ถูกประกาศการสูญพันธุ์อย่างเป็นทางการ มันเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ที่มีการประกาศว่า “ปลาทะเลสูญพันธุ์” ... ในขณะที่พี่น้องของมันที่ชื่อว่า เรดแฮนด์ฟิช (Red handfish) ก็มีสถานะที่น่าเป็นห่วง และแม้ออสเตเรียจะพยายามอนุรักษ์อย่างเต็มที่ แต่เรดแฮนด์ฟิชก็ยังคงลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง นั้นเพราะพวกมันถูกคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

จนไม่กี่ปีก่อนทางออสเตรเลียได้ตัดสินใจที่จะตามจับเรดแฮนด์ฟิชที่อยู่ในทะเล มาไว้ในศูนย์เพาะเลี้ยง ซึ่งพวกเขาต้องการจับให้ได้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ แต่ก็ได้ไม่กี่ตัวอยู่ดี พวกเขาพยายามเพาะพันธุ์เรดแฮนด์ฟิช และเพื่อให้พวกมันอยู่ในธรรมชาติได้ พวกเขาพยายามปรับปรุงสายพันธุ์อีกด้วย! จนเมื่อไม่กี่เดือนก่อน ก็มีข่าวดีของปลาหายากชนิดนี้ ต่อไปเป็นเรื่องราวของเรดแฮนด์ฟิช

เรดแฮนด์ฟิช (Red handfish) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ไทมิชธีส โปลิตัส (Thymichthys politus) เป็นปลาทะเลขนาดเล็ก ที่มีถิ่นกำเนิดในออสเตรเลีย จัดเป็นปลาที่อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤติ

Red handfish (Thymichthys politus)

ในตอนนี้ เรดแฮนด์ฟิช เป็นปลาที่พบเฉพาะในแนวปะการังเล็กๆ สองแห่งที่อยู่นอกชายฝั่งแทสเมเนีย คาดว่ามีประชากรที่โตเต็มวัยไม่เกิน 100 ตัว โดยปลาเกือบทุกตัวในธรรมชาติจะถูกติดตาม และสำหรับผู้บริจาคเงินให้กับโครงการอนุรักษ์ อย่างน้อย 1,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือประมาณ 24,000 บาท จะสามารถตั้งชื่อให้กับเรดแฮนด์ฟิช …มีปลาไม่ถึง 60 ตัว ที่ถูกตั้งชื่อแล้ว

สำหรับในโครงการเพาะเลี้ยงเรดแฮนด์ฟิช เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูปลาแฮนด์ฟิชที่ใกล้สูญพันธุ์โดยเฉพาะ พวกเขาเริ่มจับปลาจากธรรมชาติบางส่วนและเพาะเลี้ยงในบ่อของโครงการ จนในปี พ.ศ. 2564 พวกเขาก็ทำสำเร็จเป็นครั้งแรก แต่ดูเหมือนจะไม่ดีนัก

จนในเดือนพฤศจิกายน ปี พ.ศ. 2566 นักวิจัยจากสถาบันศึกษาทางทะเลแอนตาร์กติก (IMAS) รัฐแทสเมเนีย ก็พบกับกลุ่มของไข่สีเหลือง 21 ฟอง ในบ่อสำหรับเลี้ยงปลาเรดแฮนด์ฟิช และนักวิจัยของโครงการก็ออกมาประกาศภายหลังว่า “เรามีความยินดีที่จะประกาศการมาถึงอย่างปลอดภัยของลูกปลาเรดแฮนด์ฟิช 21 ตัว”

และแม้จะมีเพียง 21 ตัว แต่ความสำเร็จครั้งนี้ คิดเป็น 1 ใน 4 ของประชากรเรดแฮนด์ฟิชที่อยู่ในธรรมชาติ และแม้จะเป็นการเป็นการกำเนิดในสภาพกักขัง แต่พวกมันก็มีการผสมกันแบบธรรมชาติ และแม่ปลาก็คอยดูแลไข่ด้วยตัวเอง ซึ่งใช้เวลานานถึง 50 วัน

เป้าหมายต่อไปคือ ปล่อยปลาหายากเหล่านี้คืนสู่ธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม มันไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับปลาที่เกิดในสภาพกักขัง นักวิจัยยังต้องหาวิธีพัฒนาทักษะเอาตัวรอดให้กับปลาเหล่านี้ซะก่อน

ทักษะเอาตัวรอด นอกจากจะต้องเรียนรู้พฤติกรรมตามธรรมชาติ พวกมันยังต้องรู้จักการหาอาหาร หาที่พักพิง ปฏิสัมพันธ์กับสัตว์ชนิดเดียวกัน รวมถึงศัตรูตามธรรมชาติของพวกมัน ทั้งนี้ก็เพื่อเพิ่มโอกาศรอดชีวิต!

หากมีลูกปลาจำนวนมาก ก็คงไม่ต้องคิดถึงเรื่องพวกนี้ เพียงแค่ปล่อยไปเยอะๆ ก็ต้องมีส่วนหนึ่งรอดชีวิต แต่เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ในสภาพกักขังเพียง 2 ครั้งเท่านั้น การฟื้นฟูสายพันธุ์ของปลาตัวเล็กหน้าตาแปลกๆ ชนิดนี้จึงไม่ง่ายเลย นอกซะจากว่าที่อยู่อาศัยของสาหร่ายทะเล ที่พวกมันใช้ผสมพันธุ์จะได้รับการฟื้นฟู …หากไม่มีการฟื้นฟูที่เหมาะสม ไม่ว่าจะปล่อยเรดแฮนด์ฟิชไปมากแค่ไหน พวกมันก็ตกอยู่ในความเสี่ยงอยู่ดี

อย่างไรก็ตาม ในตอนนี้! การเพิ่มประชากรในธรรมชาติด้วยการคัดเลือกจากโครงการเพาะพันธุ์ ถือเป็นขั้นตอนหนึ่งที่ช่วยดึงเรดแฮนด์ฟิชกลับมาจากปากเหว ก็ถือเป็นก้าวสำคัญและถือเป็นทิศทางที่ถูกต้องสำหรับปลาหายากเหล่านี้

ส่วนการปรับปรุงแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของพวกมัน ถือว่าเป็นอะไรที่ยากกว่าซะอีก แต่ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะสามารถทำได้ในอนาคตอันใกล้ เพราะหากทำไม่ได้น่าจะมีสัตว์ทะเลอีกหลายชนิดต้องสูญพันธุ์อย่างแน่นอน

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements
Advertisements