อันดับ 10 – ปลาสวาย – Pangasianodon hypophthalmus
ปลาสวาย (Striped catfish) ที่กำลังพูดถึงนี้จะไม่รวมปลาสวายลูกผสมที่เรียกว่า “บิ๊กหวาย” เนื่องจากบิ๊กหวายไม่ได้เกิดขึ้นในธรรมชาติ และแม้ปลาสวายจะดูเหมือนว่าพวกมันจะมีอยู่มากมายในแม่น้ำ แต่จริงๆ แล้วพวกมัน “ใกล้สูญพันธุ์”
ปลาสวายเป็นปลาน้ำจืดที่มีลักษณะคล้ายกับปลาบึก แต่จะมีขนาดเล็กกว่ามากและมีปากที่แคบกว่า มันเป็นปลากินพืชแต่บางทีก็กินเนื้อได้เช่นกัน ในปลาขนาดใหญ่จะมีสีเทาหรือคล้ำอมน้ำตาล ด้านข้างลำตัวมีสีจาง มีขนาดประมาณ 50 เซนติเมตร ใหญ่สุดอยู่ที่ 1.5 เมตร เป็นปลาที่พบได้ทั่วไปในแม่น้ำลำคลองทั่วประเทศไทย
อันดับ 9 – ปลายี่สกไทย – Probarbus jullieni
ปลายี่สกไทยหรือปลายี่สก (Seven stripped carp) เป็นหนึ่งในปลาที่เกือบจะสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ โดยในอดีต ปลายี่สกมีมากที่สุดในแม่น้ำโขง ต่อมาคือแม่น้ำน่าน ส่วนที่แม่น้ำแคว จังหวัดกาญจนบุรี แม่น้ำแม่กลอง จังหวัดราชบุรี แทบจะไม่มีปลายี่สกเหลืออยู่เลย …แต่โชคยังดีที่กรมประมงสามารถผสมเทียมได้สำเร็จ ด้วยเหตุนี้พวกมันจึงมีเหลืออยู่ในประเทศไทย
โดยปลายี่สก ซึ่งเป็นปลาในวงศ์ปลาตะเพียน จะมีลักษณะเด่นตรงที่มีแถบสีดำ 7 แถบ พาดไปตามความยาวของลำตัว แถบสีดำเหล่านี้จะพาดอยู่ระหว่างรอยต่อของเกล็ด มีตาสีแดง ครีบทุกครีบสีชมพู เป็นปลาที่ยาวได้ถึง 1 เมตร และหนักได้ประมาณ 40 กิโลกรัม
อันดับ 8 – ปลากดคัง – Hemibagrus wyckioides
ปลากดคัง (Asian Redtail Catfish) ซึ่งเป็นปลาที่มีหางสีแดง และมักถูกเข้าใจผิดกับชื่อปลาเรดเทล แต่ความจริงทั้งสองชนิดนี้ต่างกันมาก โดยปากดคังถือเป็นปลาดั่งเดิมของไทย ในขณะที่ปลาเรดเทล เป็นปลาที่มีถิ่นกำเนิดในลุ่มแม่น้ำอเมซอน แน่นอนว่าปลากดคังของเราตัวเล็กกว่า
ปลากดคังถือเป็นน้ำจืดราคาค่อนข้างแพง นิยมนำมาบริโภค พวกมันมีลักษณะทั่วไปเหมือนปลากด แต่จะมีหาง และครีบส่วนอื่นๆ เป็นสีแดงหรือส้มที่โดดเด่น มีลำตัวสีเทาอ่อนอมฟ้าหรือเขียวมะกอก ท้องสีจาง โตเต็มที่ได้ประมาณ 1.5 เมตรและหนักเกือบ 100 กิโลกรัม แต่มีบันทึกว่าเคยพบตัวใหญ่สุดที่ยาวถึง 2.3 เมตร เป็นปลาที่พบในแม่น้ำของไทยทุกภาคและในแหล่งน้ำนิ่งขนาดใหญ่
อันดับ 7 – ปลาเค้าขาว – Wallago attu
ปลาเค้าขาว (Great White Sheatfish) จัดเป็นปลาเนื้ออ่อนขนาดใหญ่ที่พบได้ในประเทศไทย เป็นปลาที่มีส่วนหัวและจงอยปากยื่นแหลม ปากกว้างมาก มีฟันที่แหลมเล็ก ลำตัวยาว มีสีเงินวาวอมเขียวอ่อนที่ด้านหลัง ในปลาบางตัวมีแถบยาวสีคล้ำที่ด้านข้างลำตัว ด้านท้องสีจาง มีขนาดประมาณ 80 เซนติเมตร แต่เคยพบใหญ่สุดที่ 2 เมตร
เราสามารถพบปลาเค้าขาว ได้ทั่วไปตามแม่น้ำสายใหญ่ในประเทศไทย แต่ก็พบได้ไม่ง่ายเช่นกัน จัดเป็นปลาที่นิยมนำมาบริโภคและมีราคาค่อนข้างสูง
อันดับ 6 – ปลาแค้ยักษ์ – Bagarius yarrelli
ปลาแค้ยักษ์ (Goonch) เป็นปลาที่พบได้ยากในประเทศไทย แต่ก็มีตัวให้เห็นอยู่บ้าง โดยปลาแค้ยักษ์มีรูปร่างคล้ายปลาแค้วัว (B. bagarius) ซึ่งพบได้บ่อยกว่าในประเทศไทย สิ่งที่ต่างคือครีบท้องของปลาแค้ยักษ์ จะอยู่เยื้องด้านท้ายของครีบหลัง เป็นปลาที่ยาวได้ประมาณ 70 เซนติเมตร แต่เคยพบใหญ่สุดอยู่ที่ 2 เมตร เราสามารถพบพวกมันได้ใน แม่น้ำสาละวินจนถึงแม่น้ำโขง
อันดับ 5 – เกรตทาปาห์ – Wallagonia leerii
เกรตทาปาห์ (Great Tapah) ชื่อนี้อาจไม่คุ้นหู แต่มันเป็นปลาเค้าดำที่พบได้ในบริเวณภาคใต้ของประเทศไทย แน่นอนว่าพวกมันมีอยู่มากในประเทศมาเลเซีย โดยเกรตทาปาห์ จะมีขนาดใหญ่กว่าปลาเค้าดำ (Wallagonia micropogon) ที่พบในภาคกลางของไทยมาก
เป็นปลาที่ยาว 1.5 เมตรได้อย่างง่ายดาย และตัวใหญ่ที่สุดที่เคยพบคือยาวกว่า 2 เมตรและหนักเกิน 100 กิโลกรัม …ในตอนนี้จัดเป็นปลาใกล้สูญพันธุ์
อันดับ 4 – ปลาเทพา – Pangasius sanitwongsei
แม้ปลาเทพา (Chao Phraya Catfish) จะมีหน้าตาคล้ายกับสวาย แต่ตัวใหญ่กว่าและยังเป็นปลานักล่าที่ดุร้าย มันเป็นปลาที่มีส่วนหัวและปากกว้างกว่าปลาชนิดอื่นในวงศ์เดียวกัน ซึ่งรวมถึงปลาบึกด้วย เป็นปลาที่มีฟันแหลมคม รูปร่างป้อม ที่ปลายก้านครีบอันแรกของครีบหลัง ครีบอกและครีบท้องยื่นเป็นเส้นยาว
ปลาเทพามีฉายาว่า “เจ้าแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา” เนื่องจากเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อโตเต็มวัยมันจะมีความยาวประมาณ 1.25 เมตร แต่ตัวใหญ่ที่สุดที่เคยพบคือ 3 เมตร และหนักเกิน 100 กิโลกรัม เป็นปลาที่อยู่ในสถานะเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ อย่างไรก็ตามยังสามารถเพาะขยายพันธุ์ปลาชนิดนี้ได้ด้วยวิธีผสมเทียม
อันดับ 3 – ปลากระโห้ – Catlocarpio siamensis
ปลากระโห้ (Siamese giant carp) เป็นปลาน้ำจืดที่มีขนาดของเกล็ดใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นปลาในวงศ์ปลาตะเพียนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดอีกด้วย โดยปกติปลาชนิดนี้มีขนาดประมาณ 1.5 เมตร แต่เคยพบใหญ่สุดได้ถึง 3 เมตร หนัก 150 กิโลกรัม โดยปลากระโห้ เคยเป็นปลาที่พบได้ทั่วไปในแม่น้ำของประเทศไทย และพบได้มากในแม่น้ำเจ้าพระยา มันจัดเป็นปลาประจำกรุงเทพมหานครเลยด้วยซ้ำ
อันดับ 2 – ปลาบึก – Pangasianodon gigas
ปลาบึก (Mekong Giant Catfish) เป็นปลาที่คนไทยรู้จักกันดี มันคือหนึ่งในปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เป็นปลาที่เกือบจะสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ ความจริงปลาบึกแท้แทบจะไม่มีเหลือในธรรมชาติ และตามรายงานของเนชั่นแนลจีโอกราฟิก ได้ระบุว่าประเทศไทยประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลาบึก แต่ก็ล้มเหลวอย่างมากในการนำมันกลับคืนสู่ธรรมชาติ
โดยปลาบึกแท้เมื่อโตเต็มขึ้น มันจะไม่มีฟันเหลืออยู่เลย ในธรรมชาติพวกมันจะกินตะไคร่น้ำเป็นอาหาร และมีรายงานว่าปลาบึกเป็นปลาที่เติบโตได้เร็วที่สุดในปลาน้ำจืดชนิดบนโลก ซึ่งสามารถหนักได้ถึง 200 กิโลกรัมได้ภายในเวลา 6 ปี และตัวใหญ่ที่สุดที่เคยจับได้คือ 2.7 เมตร หนัก 293 กิโลกรัม
อันดับ 1 – ปลากระเบนราหูน้ำจืด – Himantura polylepis
ปลากระเบนราหูน้ำจืด (Giant Freshwater Stingray) เป็นปลากระเบนน้ำจืดตัวใหญ่ที่สุดในโลก และยังจัดเป็นปลากระเบนที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากปลากระเบนแมนตาที่พบได้ในทะเล โดยปลากระเบนราหูน้ำจืด หนักได้ถึง 600 กิโลกรัม มีความกว้างถึง 2.5 – 3 เมตร หากรวมความยาวตั้งแต่ปลายส่วนหัวจรดปลายหาง ที่บันทึกไว้ได้ใหญ่ที่สุด คือ 5 เมตร ถือเป็นหนึ่งในปลาน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับแรกของโลก
ในอดีตเราสามารถพบปลาชนิดนี้ได้ ในแม่น้ำสายหลักหลายสายของประเทศไทย แต่ในปัจจุบันได้สูญพันธุ์ไปหมดแล้ว คงเหลือแต่ในแม่น้ำแม่กลอง บริเวณ 20 กิโลเมตรก่อนไหลลงสู่อ่าวไทย ช่วงอำเภออัมพวาจังหวัดสมุทรสงคราม จัดเป็นปลาที่เสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์