กลับมาจากการสูญพันธุ์ ‘ปลากระเบนผีเสื้อมีหนวด’

ในช่วงบ่ายของฤดูใบไม้ร่วงในปี 2019 ขณะที่ชาวประมงกำลังจับกุ้งในอ่าวเปอร์เซีย Mohsen Rezaie-Atagholipour ผู้เป็นนักชีววิทยาทางทะเลจากสถาบัน Qeshm Environmental Conservation Institute ของอิหร่าน กำลังรอตรวจสอบสิ่งที่ติดอวนขึ้นมากับอวน .. มันเป็นปลาที่ทำให้เขาประหลาดใจและดีใจ

ปลากระเบนผีเสื้อหนวด

Rezaie กำลังตรวจสอบปลาฉลามและปลากระเบนที่ชาวประมงบังเอิญจับขึ้นมาได้และปล่อยพวกมันไป แต่ในขณะที่เขาตรวจก็มีสิ่งมีชีวิตที่คุ้นเคยหลายตัว แต่แล้วเขาก็เห็นสิ่งที่ไม่คาดคิด มันคือปลากระเบนสีเขียวมะกอกขนาดเล็กที่มีหนวดเล็กๆ สองเส้นอยู่ใต้ตาของมัน นักชีววิทยามองดูสิ่งมีชีวิตนี้ด้วยความไม่เชื่อ “ผมพบปลากระเบนผีเสื้อหนวด ! (Tentacled Butterfly Ray)”

ในปี 2017 สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ระบุว่าปลากระเบนผีเสื้อหนวดเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง และอาจสูญพันธุ์ไปแล้ว ครั้งสุดท้ายที่มีการพบตัวมันเกิดขึ้นในปี 1986 นอกชายฝั่งประเทศปากีสถาน ทำให้คาดว่าสปีชีส์นี้หมดสิ้นไปแล้ว ซึ่งปกติจะพบพวกมันได้ตั้งแต่ในทะเลแดงไปจนถึงอ่าวเบงกอลตะวันตก น่าเสียดายที่ปลากระเบนที่ Rezaie-Atagholipour เจอนั้นตายไปแล้ว

ปลากระเบนผีเสื้อหนวด “นักวิจัยทุกคนที่เราได้พูดคุยด้วย ซึ่งพวกเขาทำงานอยู่ในอินเดีย ปากีสถาน และภูมิภาคนี้ ไม่เคยพบเห็นพวกมันมาก่อน และพวกเขาก็ทำงานที่นั่นมาเป็นเวลานานแล้ว” Rima Jabado นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลและผู้ก่อตั้ง โครงการ Elasmo Project ซึ่งตั้งอยู่ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และทำงานร่วมกับ Rezaie-Atagholipour และคนอื่นๆ เพื่อบันทึกการค้นพบนี้ “เรารู้สึกตื่นเต้นที่มันยังคงมีชีวิตอยู่ในอิหร่าน”

แต่จากการค้นพบครั้งแรกที่น่าประหลาดใจนั้น ปลากระเบนผีเสื้อหนวดก็มีการพบเจอเรื่อยๆ ระหว่างเดือนตุลาคม 2019 ถึงพฤศจิกายน 2020 Rezaie-Atagholipour สำรวจอวนของเรือจับกุ้งของอิหร่านที่อยู่ในอ่าวโอมานและอ่าวเปอร์เซียตะวันออกมากถึง 96 ลำ และพบว่ามีปลากระเบนผีเสื้อหนวดมากถึง 367 ตัว ที่จับได้ในช่วงการออกเรือ 39 ครั้งที่ผ่านมา ปลากระเบนผีเสือหนวดคิดเป็นร้อยละ 15 ของปลากระเบนทั้งหมดที่จับได้ในอ่าวแห่งนี้

“นั่นน่าแปลกใจมาก” Rezaie-Atagholipour กล่าว การค้นพบครั้งนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์สงสัยว่าพื้นที่ทางตอนใต้ของอิหร่านอาจเป็นแหล่งที่อยู่สุดท้ายของกระเบนผีเสื้อหนวด

Hamid Reza Esmaeili นักชีววิทยาด้านปลาที่มหาวิทยาลัยชีราซของอิหร่าน กล่าวว่า การค้นพบนี้เปิดโอกาสให้นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษานิเวศวิทยาและพฤติกรรมของสายพันธุ์ที่หายากนี้

ทว่าการประมงที่ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ค้นพบกระเบนกระเบนผีเสื้อหนวด ก็คุกคามการมีอยู่ของมันอย่างมากเช่นกัน Hamid และเพื่อนร่วมงานของเขาพบว่าการจับปลามากเกินไป ได้ส่งผลกระทบต่อสายพันธุ์ของฉลาม ปลากระเบน ที่พบในน่านน้ำชายฝั่งเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน รวมทั้งในเขตมหาสมุทรอินเดียทางตอนเหนือ

“เรามีการแข่งขันด้านประมงที่รุนแรงจากหลายประเทศในภูมิภาคนี้ที่จับสัตว์น้ำที่นี่” เขากล่าว “ไม่มีที่ไหนให้พวกมันหลบซ่อนแล้ว และพวกธุรกิจการประมงก็ไม่ได้สนใจพวกมันด้วย”

แม้ว่าเรือลากอวนของอิหร่านไม่ได้มุ่งเป้าไปที่ปลากระเบนและฉลาม แต่พวกมันก็มักจะติดขึ้นมาโดยบังเอิญ เนื่องจากต้องใช้เวลานานหลายชั่วโมงกว่าจะลากมันขึ้นมา ทำให้พวกมันมักจะตายก่อนที่อวนจะถูกดึงขึ้นจากน้ำด้วยซ้ำ ชาวประมงส่วนใหญ่ขายซากพวกมันให้กับผู้ผลิตปลาป่นสำหรับอาหารสัตว์ ส่วนพวกที่ยังไม่ตายถ้าโชคดีก็โดนปล่อยกลับลงไป แต่มีน้อยมากที่จะรอดชีวิต

Advertisements
Rezaie-Atagholipour วางแผนที่จะทำงานร่วมกับชุมชนชาวประมงเพื่อลดอัตราการจับปลากระเบนโดยไม่ได้ตั้งใจ วิธีหนึ่งคือการใช้อุปกรณ์แยกเต่าทะเลจากอวน มันทำจากโลหะและตาข่าย และวางไว้ที่ปากของอวนลาก เครื่องมือเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าลดจำนวนปลากระเบนที่โดนจับได้มากถึง 18 – 59 เปอร์เซ็นต์

Abdulnoor Malahi ชาวประมงที่ทำงานเกี่ยวกับอวนลากกุ้งในอิหร่าน ยินดีกับการใช้อุปกรณ์ดังกล่าว หากไม่ได้จำกัดการจับกุ้งของเขา แต่เขาเชื่อว่าทางออกที่แท้จริงคือการห้ามใช้อวนลากขนาดใหญ่ในการประมง ระหว่างนั้นหากปราศจากที่แยกปลา สัตว์ทะเลจำนวนมากก็จะถูกทำลายไป เขากล่าว และปลากระเบนผีเสื้อหนวดอาจสูญพันธุ์จริงๆ

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements
Advertisements
แหล่งที่มาhakaimagazine