สางห่า งูคา กับความเชื่อว่าเป็นสัตว์ร้ายในตำนาน

สัตว์เลื้อยคลานอย่างสางห่า ผมก็ไม่เห็นมันมานานมากๆ แล้ว อาจเพราะตัวมันไม่ใหญ่เท่าไร เลยสังเกตุเห็นได้ยาก แต่เพราะความแปลกประหลาดของมัน เลยทำให้เกิดความเชื่อแปลกๆ ตามมา อย่างเช่นมันเป็นสัตว์มีพิษ หรือจริงๆ แล้วมันคืองูมีขา แถมยังถูกเอาไปโยงเข้ากับวรรณกรรมเรื่อง "เพชรพระอุมา" อีกด้วย และด้วยเหตุนี้เลยมีความเชื่อแปลกๆ อยู่รอบตัวสัตว์ชนิดนี้

สางห่า งูคา

ความเชื่อเกี่ยวกับสางห่าเป็นเช่นไร?

Advertisements

ยังไงก็ขอเข้าเรื่องนี้ก่อน สำหรับความเชื่อของสางห่าในไทย ซึ่งอาจแตกต่างกันในแต่ละภาค แต่ดูเหมือนที่ภาคอีสานจะค่อนข้างชัดเจน เพราะจะมีความเชื่อว่า สัตว์เลื้อยคลานชนิดนี้เป็นสิ่งมีชีวิตลึกลับ ที่ชอบอาศัยอยู่ตามแอ่งน้ำหรือในถ้ำ

เป็นสัตว์เลื้อยคลาน “มีพิษอยู่ที่เขี้ยว” หรือบางความเชื่อว่า “มีพิษอยู่ที่เล็บ” หรือแม้แต่อยู่ที่หาง ..ว่ากันว่าหากถูกหางของมันฟาดเข้า จะเกิดเป็นรอยแผลไหม้และสุดท้ายจะถึงแก่ความตายได้

ส่วนทางแถบภาคกลางก็ไม่น้อยหน้า มีเชื่อว่าสางห่าเป็นงูขนาดเล็กชนิดหนึ่งที่มีขา อาศัยอยู่ตามยอดหญ้า พอหญ้าเหี่ยวเฉา ก็จะย้ายไปหาหญ้าใหม่ บางท้องที่เชื่อว่า สางห่าเป็นคางคกป่าชนิดหนึ่งและมีเสียงร้องคล้ายเสียงสุนัขเห่า

จากความเชื่อเหล่านี้ ทำให้สางห่าได้ถูกอ้างอิงถึงในวรรณกรรมเรื่อง “เพชรพระอุมา” ของพนมเทียน ซึ่งกล่าวถึงสัตว์ประหลาดหรือธิดาของพญานาค นอกจากนี้สางห่ายังมีชื่อเรียกอื่นๆ เช่น งูคา, กิ้งก่าน้อยหางยาว หรือ กระห่าง

และแม้ว่า “สางห่า” จะดูแปลกประหลาด แต่คงต้องบอกว่า สมัยก่อนมันเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่พบเห็นได้ทั่วไปแม้แต่ในกรุงเทพ แต่เพราะประชากรของพวกมันลดลงอย่างมาก จนกลายเป็นสัตว์หายากมากในบางพื้นที่ มันยากซะจนคนส่วนใหญ่ไม่รู้จักเลยด้วยซ้ำ พอได้เห็นมันเดินออกมาก็ ก็กลายเป็นข่าวใหญ่โต ทั้งๆ ที่จริงๆ ก็มันจิ้งเหลนหรือกิ้งกาธรรมชาติชนิดหนึ่งเท่านั้น

สรุปคือสางห่าไม่มีพิษและไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ มันไม่ใช่คางคก ส่วนเห่าเหมือนหมาถือเปล่า อันนี้ไม่แน่ใจ เพราะผมก็ไม่เคยได้ยินมันเห่า ในทางกลับกันมนุษย์ต่างหากที่เป็นอันตรายกับสัตว์แปลกๆ ตัวนี้ และทั่วโลกก็มีสัตว์ในสกุลนี้ประมาณ 20 กว่าชนิด

แล้วสางห่า คือตัวอะไร?

สางห่า Takydromus sexlineatus (ทาคีโดรมัส ซิกไลน์อิทัส) อยู่ในวงศ์จิ้งเหลนน้อยหางยาว (Lacertidae) และก็อยู่ในสกุลสางห่า (Takydromus) ซึ่งก็ตรงกับชื่อสามัญภาษาไทยของสัตว์ชนิดนี้

สางห่าก็คล้ายกับจิ้งเหลนหรือกิ้งกาที่พบได้ทั่วไป แต่ความพิเศษของมันคือมีขนาดลำตัวเรียวยาวและเล็กกว่า และยังมีหางที่ยาวเรียวมากๆ โดยปกติแล้ว หางจะยาวเป็น 5 เท่าของลำตัว เกล็ดของสางห่าจะปกคลุมลำตัวด้านหลังและด้านท้อง

Advertisements

สางห่าสามารถปล่อยหางให้หลุดจากลำตัวได้เช่นเดียวกับจิ้งจก แต่จะขาดยากกว่าจิ้งจก และสามารถสร้างขึ้นมาใหม่ได้ สางห่าจะขาหน้าและขาหลังค่อนข้างยาว นิ้วตีนยาว นิ้วตีนทุกนิ้วจะมีเล็บและตัวเล็บโค้งลงทางด้านล่าง หากเป็นตัวผู้จะมีจุดกลมสีขาวอมเขียว 10 – 12 จุด อยู่ที่ข้างลำตัว

หากมองดูเผินๆ จะเห็นว่าสางห่ามีลำตัวสีน้ำตาล แต่เมื่อสังเกตจะเห็นลายเส้นสีครีมพาดจากท้ายมาถึงโคนหาง และลายเส้นสีน้ำตาลเข้มจากปลายจมูกพาดผ่านตา ช่องหู ปาก ใต้คางและท้องมีสีขาว ขาและหางสีน้ำตาลอ่อน ตัวผู้มักมีสีขาวอ่อนบริเวณข้างลำตัว แต่ในบางพื้นที่ก็อาจได้เจอกับสางห่าที่มีสีสดขึ้นมาหน่อยเช่นสีเขียว

โดยปกติแล้วสางห่าจะยาวประมาณ 6.5 เซนติเมตร ซึ่งวัดจากปลายปากถึงรูก้น และหางอาจยาวได้ถึง 30 เซนติเมตร ในประเทศไทยพบสัตว์ชนิดนี้ได้ทั่วทุกภาค แม้แต่ในกรุงเทพก็มีเช่นกัน

สางห่าเป็นสัตว์ที่ว่องไว และมีพฤติกรรมการหากินในเวลากลางวัน มันจะวิ่งไปตามทุ่งหญ้า เพื่อจับแมลง ไส้เดือน หรืออะไรก็ตามที่มันกินได้ และเพราะชอบอยู่ตามป่าโปร่ง ป่าเต็งรัง หรือแม้แต่ตามนาข้าว หรือไร้ข้าวโพด ประกอบกับความว่องไว จึงเป็นสัตว์พบเห็นตัวได้ยาก แต่หากเป็นช่วงเช้าจะเห็นตัวได้ง่ายหน่อย เพราะในตอนเช้ามักจะนอนผึ่งแดดและยังชอบเหวี่ยงหางไปมาอีกด้วย

Advertisements

และนี่ก็คือเรื่องราวเล็กๆ ของสางห่า จิ้งเหลนน้อยหน้าตาแปลกและหางยาวสุดๆ ถ้าใครเดินไปเจอมันก็อย่าไปรังแกหรือกลัวมันนะครับ เพราะมันเป็นสัตว์ที่ไม่มีพิษมีภัยกับมนุษย์แม้แต่น้อย หากไม่อยากให้มันเข้าใกล้ ก็แค่เขี่ยเบาๆ เดี๋ยวมันก็วิ่งเข้าพุ่มหญ้าเองนั้นละ หรือถ้ามันเข้ามาในบ้านก็ขอให้จับไปปล่อยเบาๆ และอย่าไปดึงหางมันนะ เดี๋ยวหางจะขาด

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements