เหยื่ออย่าง Swimbait หรือที่นักตกปลาชาวไทยมักจะเรียกรวมๆ ว่า “Big Bait” กัน เพราะ Swimbait เกือบทั้งหมดตัวใหญ่ครับ แต่คำว่า Big Bait เป็นชื่อเรียกกลางๆ ของเหยื่อแทบทุกชนิดที่ยาวเกิน 10cm แน่นอนว่าปลายางหัวจิ๊ก 10cm อยากจะเรียก Big Bait ก็ได้เช่นกัน แต่ผมจะพูดถึง Swimbait แบบ 2 ท่อนขึ้นไปนะครับ
มีเรื่องอะไรที่ต้องรู้บ้างเกี่ยวกับ Swimbait ไปดูแบบรวดเร็วกันได้
Swimbait ใช้ตกปลาที่ไหนดี
เปิดมาเรื่องควรรู้ก่อนเลย “เอาเหยื่อไปตกที่ไหนดี” เรื่องนี้บอกเลยว่าในไทย Swimbait แทบจะไม่เหมาะกับหมายธรรมชาติ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะใช้ตกไม่ได้ ที่ไม่เหมาะเพราะมีเหยื่อราคาถูกกว่าและเหมาะกว่าให้เลือกใช้ เช่น ปลั๊ก หรือปลายางเป็นต้น
เพราะเหยื่อทั้งสองที่พูดมามันตีไกลกว่าด้วย จะว่าไป Swimbait เป็นเหมือน เหยื่อสนองNeed มากกว่า อาจจะจัดอยู่ในกลุ่มเหยื่อสะสมด้วยซ้ำ ด้วยความที่เป็นเหยื่อราคาแพง สวยงาม การใช้งานข07’เหมาะที่จะนำไปใช้ใน “ฟิชชิ่งปาร์ค” เป็นหลัก
ข้อควรรู้เกี่ยวกับ Swimbait
ถ้าน้าๆ ไม่เคยเล่นเหยื่ออย่าง Swimbait หรือเคยบ้าง แบบใช้เฉพาะช่วงปลาสาดอะไรแบบนี้ ผมก็มีเรื่องบางเรื่องที่พอจะนึกขึ้นได้มาบอกน้าๆ ครับ
- Swimbait ส่วนใหญ่ตัวใหญ่และเลียนแบบปลา
- Swimbait จัดอยู่ในกลุ่มเหยื่อปลอมราคาแพงที่สุด แม้จะเป็นไทยทำ ราคา 400 – 700 บาท ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเลย
- Swimbait น้ำหนักมาก ได้ปลายากกว่าเหยื่อขนาดเล็ก
- Swimbait จะส่งผ่านความรู้สึกที่รุนแรงกว่าปลั๊ก ปลายาง หรือเหยื่ออื่นๆ เมื่อปลากัด เนื่องจากปลาล่าเหยื่อจะโจมตีอย่างรุนแรงเพื่อกัดเหยื่อ เนื่องจากเป็นเหยื่อขนาดใหญ่
- การโจมตีเหยื่อ Swimbait โดยปลาล่าเหยื่อมักจะเกิดซ้ำ เนื่องจากเหยื่อมีขนาดใหญ่ ปลาล่าเหยื่อส่วนใหญ่คิดจะกัดให้เจ็บก่อน หากโดนเบ็ดก็ดีไป
- จากข้อ 5 ปลาที่ได้จาก Swimbait ส่วนใหญ่ตัวเบ็ดมักอยู่นอกปาก นั่นเพราะปลาคิดทำให้เหยื่อเจ็บก่อน
มีอยู่ 6 ข้อหลัก ข้อ1 – 2 พอจะเข้าใจง่ายๆ .แต่อย่าง ข้อ 3 ที่ว่าได้ปลายากกว่า หากถามว่าได้ยากแล้วใช้ทำไม? ผมคงบอกได้ว่ามันเป็นเหยื่อทางเลือกนะครับ เหยื่ออย่าง Swimbait ถ้าเอาไปตกตามบ่อตกปลา ส่วนใหญ่สู้ปลั๊กหรือเหยื่อยาง ไม่ค่อยได้ แต่ในบางช่วงเวลาก็ดีกว่าได้เช่นกัน
ทำไม Swimbait จึงแพงกว่าเหยื่อปลอมแบบอื่น
น้าบางท่านที่เคยใช้แต่เหยื่อปลายางหัวจิ๊ก กระดี่เหล็ก ปลั๊ก หรือแม้แต่ป๊อป หากมาถามราคา Swimbait จะมีหลายท่านแน่ๆ ที่ซื้อไม่ลง เพราะ Swimbait มันแพงจริงๆ อย่างถ้าของนอก S-Song ก็ 1,500 บาทแล้ว และหากแพงๆ ในตลาดบ้านเราคงเป็น Deps Slide Swimmer 250 ราคาก็ 3,000 กว่าบาท หรือถ้าของไทยคุณภาพสูงดังๆ หน่อยก็ 600 บาทขึ่นไปแน่นอน
ที่แพงอีกประการ เพราะโดยพื้นฐาน Swimbait สร้างขึ้นมาได้ยากกว่า แม้จะเป็นงานเรซิน พลาสติก ก็ยังยากอยู่ดี ยิ่งงานไม้ก็จะยากกว่า นั่นเพราะเป็นงาน 2 ท่อนขึ้นไป ขั้นตอนการทำยุ่งยากกว่า จากประสบการณ์ที่ผมทำเหยื่อระหว่าง “ปลั๊ก” กับ “Swimbait” ด้วยไม้ ก็พบว่า Swimbait ทำยากกว่าประมาณ 3-4 เท่า มันยากในขั้นตอนที่มากกว่า เรื่องที่มันแพงจึงไม่น่าแปลกใจเลย
รูปแบบแอคชั่นของ Swimbait
หลักๆ แล้ว มาตรฐานสากลของเหยื่อปลอม หลักๆ จะแยกออกเป็น S (จม) F (ลอย) และ SP (จมช้า) ซึ่งทั้ง 3 สิ่งนี้ จะเป็นสิ่งแรกที่เลือกกัน และนอกจากการจมแล้ว ยังมีอีกอย่างที่ไม่ค่อยจะมีบอกไว้ในคู่มือแนะนำเหยื่อคือ “เหยื่อปลอมจมอย่างไร”
Swimbait จมอย่างไร?
การสร้างเหยื่อขึ้นมาสักตัว (สำหรับผม) Swimbait ที่เกิดจากแนวคิดจากการสร้างเหยื่อ 3 รุ่น SnowShoe (จมเร็วพิเศษ) MaineCoon (จมช้ามาก) และ Taiyaki (จมธรรมดา) เพื่อแสดงให้เห็นว่า เหยื่อปลอมจะมีความเร็วในการจม และลักษณะในการจมที่ต่างกันด้วย แม้ว่าจะตัวเดียวกันก็ตาม
หากสภาพน้ำต่างกัน (น้ำจืดและน้ำค็ม) การจมก็ต่างกันด้วย เพราะมวลของน้ำอาจจะไม่เท่ากัน การจมที่แตกต่างของเหยื่ออย่าง Swimbait ยิ่งจะมีผลมากหากเป็นเหยื่อประเภท “จมช้ามาก” เพราะเหยื่อแบบนี้พร้อมที่จะลอยขึ้นผิวน้ำเสมอ
มาดูลักษณะการจมว่ามีแบบไหนบ้าง
1. จมแบบหัวทิ่มดิ่งลงไป
ถ้าเหยื่อแบบนี้มักจะเป็นพวกจมเร็วพิเศษ ถ้าให้นึกภาพเหยื่อที่ว่าก็เป็น S-Song 115 ของ GanCraft หรือหากเคยใช้ SnowShoe ของ MawBa ซึ่งเป็นเหยื่อจมเร็วและหัวทิ่มทั้งคู่ หากพูดว่าหัวทิ่มดิน ก็ต้องมีส่วนที่ยกสูงพิเศษ หางของเหยื่อจะยกสูง ซึ่งเป็นตัวล่อเป้า เหยื่อแบบนี้พอถึงพื้นหัวจะไปเคาะดิน หางลอย
2. จมแนวขนาน
แนวขนานก็คือหัวและหาง จมไปพร้อมๆ กัน หรือใกล้เคียงกัน โดยปกติแล้วเหยื่อแบบนี้จะจมช้ากว่าแบบหัวทิ่มพอสมควร หากถามว่าเหยื่ออะไรจมแนวขนาน มีเยอะเลยครับ อย่างของ Romanmade mother ก็เป็นหนึ่งในนั้น ส่วนอีกตัวก็คือ MaineCoon ก็เป็นเหยื่อที่ผมทำเองเหมือนกัน
และในกรณีที่เหยื่อจมช้ามาก ซึ่งเหยื่อจะค่อยๆ จมลงไป หากเริ่มลากเหยื่อมักจะลอยรักษาระดับความลึกที่มันเพิ่งไปถึง นั่นหมายความว่า หากตีไปแล้วลากเลย เหยื่ออาจจะจมอยู่ที่ความลึกไม่เกิน 1 ฟุตด้วยซ้ำ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับหัวเหยื่อว่าถูกทำในลักษณะไหนด้วย
3. แบบลอยเต็มตัว
ถ้าเป็น Swimbait แบบลอย 2 ท่อน แอคชั่นมักจะขาดๆ เพราะเหยื่อแบบนี้จำเป็นต้องใช้ลำตัวสร้างแอคชั่นการว่าย พอมันไม่จมทั้งตัว แอคจะขาดไปทันที ถ้าให้แอคชั่นโดนใจมักจะมีลิ้น หากไม่มีลิ้นเหยื่อสร้างสร้างแอคชั่นได้เบาๆ เนื่องจากเนื้อที่ของตัวเหยื่อที่อยู่ในน้ำน้อยกว่าแบบจม
ขนาดของ Swimbait
มีน้าหลายท่านอยากได้ Swimbait แบบ 2 ท่อน ที่มีขนาดเล็กกว่า 5 cm ซึ่งจริงๆ สามารถทำได้ แต่ทำไมถึงไม่ทำกัน เหตุผลก็เพราะว่า Swimbait ขนาดเล็ก ไม่สามารถสร้างแอคชั่นที่ดีมากพอได้กำลังในการส่ายน้อย
ผมมี Swimbait 2 ท่อน ยาว 4.5 cm ว่ายสวยดี ใช้มา 4 ปีแล้ว แต่ไม่เคยได้ปลาเลยแม้แต่ตัวเดียว ผมจึงมองว่า Swimbait ที่ดีควรยาวเกิน 9 cm เพื่อให้สามารถติดออฟชั่นเสริม เช่น ขน
แล้วควรติดขนที่ตัวเบ็ดหรือหาง?
โดยส่วนตัวผมติดขนที่หางหากจำเป็น แต่ไม่ติดที่ตัวเบ็ดแน่นอน และการที่น้าชอบติดที่ตัวเบ็ด ก็ไม่ผิดเช่นกัน แต่ต้องรู้ว่าเหยื่อเมื่อติดแล้ว แอคชั่นจะช้าลงตามปริมาณขนที่ติดไป “อย่าให้ Swimbait กลายเป็นลูกขน” การติดขน น้าๆ ต้องคำนึงถึงขนาดตัวเหยื่อด้วย
ก็อย่างที่บอกไว้ “เหยื่อยิ่งใหญ่ กำลังว่ายส่ายจะยิ่งมาก” จะให้ยกตัวอย่างก็ SnowShoe 9.5 ไม่ควรติดขนที่ตัวเบ็ด (ถ้าน้าอยากให้มันเป็นลูกขนก็อีกเรื่องนะ) ส่วน MaineCoon ขนาด 13 cm สามารถติดขนที่ตัวเบ็ดได้พองาม และ Taiyaki 7cm ไม่ควรติดขนเลย
อุปกรณ์ที่ใช้ตก Swimbait
สำหรับผม ไม่เน้นทฤษฎีมากนัก ผมถืออะไรก็จับตีเหยื่อใหญ่หมดน เพียงแต่ลดระยะ ท่าตีต้องลดแรงเครียดของคันเบ็ด อย่าสวิงแรง ไม่ใช้ท่าตีข้ามหัวและไม่ตีแบบสะบัดปลายคัน คันเล็กสุดที่ผมใช้ตีเหยื่อใหญ่ มีน้ำหนักกว่า S-Song115 (S-Song แท้หนักประมาณ 29กรัม ผมตี S-Song โมหนักประมาณ 35 – 40 กรัม) MaineCoon 45 กรัม คันที่ใช้คือคันสปิน 5-10 ติดรอก c2000 กับ pe0.8 ได้สนุกแบบ UL แต่เสียวกว่าหน่อย เพราะตกกระพงใหญ่ เหยื่อใหญ่ด้วย ต้องตีได้อย่างนิ่มนวลเลย
สรุปคือหากน้าๆ มีคันที่แข็งกว่านี้ คงตีแบบสบายๆ ส่วนสายช็อคสำหรับผมใช้ 30lb เอาแค่ Nylon พอเน้นของถูก (เช็คสายบ่อยหน่อย และหากน้าใช้ PE ใหญ่ก็ต้องใช้ช็อคที่ใหญ่ขึ้นด้วย)
Swimbait ต้องใช้แอคแบบไหนปลาถึงจะกิน ?
อันนี้บอกเลยว่าไม่แน่นอนเลย แต่ในความคิดผม (ส่วนตัว) หากแอคชั่นสมบูรณ์แบบ เหยื่อว่ายเหมือนปลามากๆ “นั่นแหละปลาจะไม่ค่อยกิน” เพราะมันคม ดูแข็งแรงเกินไป เหยื่อที่ดีสำหรับผมคือ เหยื่อที่อยู่ระหว่างเหมือนกับไม่เหมือน
หากจะพูดก็คือ หากน้าเป็นปลาล่าเหยื่อ ระหว่างเหยื่อที่ดูแข็งแรง กับเหยื่อว่ายที่ดูแปลกๆ เหมือนจะไม่สมบรูณ์เท่าไหร่ น้าๆจะเลือกกินตัวไหนก่อน แน่นอนต้องเล่นตัวอ่อนแอก่อนอยู่แล้ว
แนวคิดนี้ไม่ใช่สิ่งใหม่ครับ เพราะมันเริ่มตั้งแต่ “ลัวลี่ ราพาล่า” สังเกตุว่าปลาใหญ่จะโจมตีเหยื่อที่ต่างไปจากตัวอื่นก่อน ความไม่สมบูรณ์แบบจนเกินไป คือสิ่งดึงดูดปลาให้สนใจ แต่ที่แน่ๆ Swimbait ที่ดี จะต้องว่ายเป็นตัว S ซ้ายสลับขวา ส่ายไปมา ช้าเร็วขึ้นอยู่กับว่าเป็น Swimbait แบบไหน
คลิปตัวอย่างสิ่งที่อยู่ระหว่างเหมือนกับไม่เหมือน
การใช้งานเหยื่อ Swimbait แบบจม
การตีเหยื่อลงน้ำ แล้วลากกลับมาเฉยๆ เป็นวิธีพื้นฐานอย่างที่สุดของเหยื่อปลอมเกือบทุกประเภท โดยเฉพาะ Swimbait ที่นักตกปลาส่วนใหญ่คิดว่าลากเฉยๆ ก็พอแล้ว เพราะเหยื่อมีแอคชั่นอยู่แล้ว แต่กระพงขังนั้น เรื่องมากสุดๆ แค่นั้นอาจจะไปไม่รอด
แต่ก่อนจะเริ่มตีสิ่งที่น้าๆ ต้องเตรียมคือ “เตรียมใจ” เพราะต้องเข้าใจก่อนว่าเหยื่อใหญ่ ปลาเล็กนั้นจะกินยาก หมายความว่าได้ปลายากขึ้น หรืออาจจะแห้วได้เลย
วิธีแรก
เข้าบ่อให้มุ่งมั่นว่าจะตีเหยื่อใหญ่ จากนั้นตีเข้าจุดที่หมายตาไว้ โดยเหยื่อแบบนี้ไม่จำเป็นต้องตีไกลเอาโล่ก็ได้ ตีเลาะตลิ่ง เอาใกล้ๆ ตลิ่งหน่อย อีกจุดที่ผมว่าไม่ว่าจะบ่อไหนก็คงเหมือนกัน มีตัวแน่ ร้อยทั้งร้อยมีตัวแน่ อยู่ที่ว่าจะกินหรือเปล่า
คือตรงกังหันน้ำ (ส่วนใหญ่ผมไปตีก็ได้ตัวตลอดนะ แต่ไม่ค่อยอยากไปเพราะมีโอกาสเสียเหยื่อสูง) วิธีตีก็เอาชิดๆ กังหันเลยครับ ยิ่งชิดยิ่งดี ให้ถึงทุ่นตัวสุดท้าย ตรงจุดนี้ต้องตีค่อนข้างเก่ง อย่าลืมคิดถึงไม้ใต้น้ำด้วย พอเหยื่อตกน้ำ รอ 10 วิไปเลยก็ได้ให้ถึงพื้น
คลิปตัวอย่างการใช้ Swimbait ไว้ดูเป็นแนวทาง
ต่อไปก็ถึงช่วงสำคัญ กับสเต็ปเก็บสาย เอาจริงๆ ผมใช้ 2 สเต็ปเอง เพียงแต่ปรับความเร็วเอา นึกถึงว่าเหยื่อจมเร็วแค่ไหน “จินตนาการ” เมื่อเหยื่อถึงพื้นตอนก่อนจะเริ่มเก็บสาย ให้เขย่าปลายคันเบาๆ เร็วๆ สัก 2 – 3 วิ แล้วก็เริ่มเก็บสายด้วยความเร็วต่ำ แล้วลดความเร็วลงอีกหน่อย ทิ้งเวลาสักหน่อย
จากนั้นเก็บสายเร็วขึ้น แล้วก็วนไปวนมาจนจบ (เร็วแค่ไหนลองทดสอบดูเอาครับ) ผมมักจะได้ตัวจากสเต็ปนี้ ปลาชอบชาร์ตตอนลดความเร็ว กับตอนออกตัวด้วยการเก็บสายเร็ว
วิธีที่สอง
ผมไม่ค่อยชอบใช้เท่าไหร่ เพราะมันช้ามากๆ (ผมใจร้อน) พอจะเริ่มเก็บสาย ก็เขย่าปลายคันเบาๆ เร็วๆ 2 – 3 วิ แล้วหยุด เก็บสายช้าๆ รอสักแปบ เขย่าปลายคันเบาๆ อีก แล้วหยุดรอสักแปบ (ระยะเวลารอนานหรือช้าดูจากช่วงนี้ทางบ่อให้ปลากินอะไร ถ้าปลาตาย ปลาทูบวกเวลารอก็ดีครับและลดความเร็วเหยื่อด้วย) จากนั้นก็ทำวนไปวนมา สลับไปมา เดี๋ยวปลากินก็รู้เรื่องเอง
ในกรณีที่ตีชิดกังหัน ถ้าใช้เหยื่อใหญ่ๆ น้าจะตีสบายๆ เหมือนเหยื่อเล็กไม่ได้นะครับ ให้อยู่ในสภาพพร้อมรบได้เลย ไม่งั้นน้าอาจจะเสียเหยื่อได้ทันที ให้ปรับเบรกให้แข็งเท่าที่คิดว่าสายจะรับไหว อย่าคิดมาปรับเอาตอนปลากิน เพราะปลาใหญ่กินมันตรงเข้ากังหันหยุดไม่ทัน มองซ้ายมองขวาหาที่ทางวิ่งออกจากระยะกังหันให้ไว ที่เหลือก็ฝีมือการงัดปลาออกจากกังหันครับ
Swimbait ยิ่งใช้ยิ่งคล่อง
เขียนไปเขียนมาก็ยาวเลยทีเดียว หวังว่าจะทำให้น้าๆ เข้าใจเหยื่อ Swimbait มากขึ้น และก็ขออภัยเอาไว้ด้วยหากมีความผิดพลาดจากบทความนี้ครับ เพราะผมก็เป็นนักตกปลาธรรมดาที่มีใจรักการตกปลาในหลายรูปแบบเท่านั้นเอง
ใครที่ชอบเหยื่อปลาใหญ่อย่าง Swimbait แล้วอยากจะลองทำเองกันดู ไปดูวิธีการทำกันได้ที่ สร้างเหยื่อแมวบ้า Swimbait 95s #11