กระต่ายลายสุมาตรา (Sumatran striped rabbit) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า เนโซลากัส เน็ตเชรี (Nesolagues netscheri) เป็นกระต่ายที่พบได้ในป่าของเทือกเขาบาริซัน (Barisan Mountains) ทางตะวันตกของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย และพื้นที่รอบๆ เท่านั้น
ที่ผ่านมามีการเก็บตัวอย่างของกระต่ายชนิดนี้ได้เพียงตัวเดียว ซึ่งเป็นตัวผู้ และแม้จะไม่มีหลักฐานแน่ชัด แต่คาดว่ายังพอจะมีประชากรกลุ่มเล็กๆ อาศัยอยู่ในป่าฝนที่หนาทึบที่มีความสูงระหว่าง 600 – 1,600 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล แน่นอนว่ามันเป็นพื้นที่ๆ ยากมากที่มนุษย์จะเข้าถึง
ลักษณะของกระต่ายลายสุมาตรา
กระต่ายในสกุลเนโซลากัส (Nesolagues) ที่ได้รับการอธิบายแล้ว จะมีอยู่ 3 ชนิด หนึ่งคือ กระต่ายลายสุมาตรา (Nesolagues netscheri) สองคือกระต่ายลายอันนาไมต์ (Nesolagus timminsi) และชนิดที่สามคือกระต่ายไซเนนซิส (Nesolagus sinensis) ซึ่งถูกอธิบายจากฟอสซิล
ด้วยเหตุนี้ กระต่ายในสกุลเนโซลากัส จึงมี 2 ชนิดที่ยังไม่สูญพันธุ์ และทั้งสองก็มีลักษณะที่ใกล้เคียงกัน พวกมันเป็นสัตว์เฉพาะถิ่นเหมือนกัน โดยกระต่ายลายสุมาตรา เกือบจะไม่มีข้อมูลในเรื่องประชากรที่แท้จริงเลย ในขณะที่กระต่ายลายอันนาไมต์แม้จะพบได้ยากมาก แต่ก็ยังพอที่จะพบตัวเป็นได้ได้บ้าง และมันเองก็ถูกระบุว่าใกล้สูญพันธุ์
ทั้งสองอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลกันมากๆ โดยกระต่ายลายสุมาตราอยู่บนเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ในขณะที่กระต่ายลายอันนาไมต์ อาศัยอยู่ในป่าเขตประเทศลาว
และแม้จะมีการพบกระต่ายลายสุมาตราเพียงไม่กี่ครั้ง แถมเกือบทั้งหมดยังเป็นภาพถ่าย แต่คาดว่ากระต่ายชนิดนี้จะมีน้ำหนักมากที่สุดที่ 1.5 กิโลกรัม และมีความยาวระหว่าง 36 – 41 เซนติเมตร หางยาวได้ประมาณ 1.7 เซนติเมตร ความยาวหู 3.4–4.5 เซนติเมตร
ลำตัวมีแถบสีดำหรือสีน้ำตาลเข้มบนพื้นหลังสีเทาอมเหลืองหรือสีน้ำตาลสนิม ขนบริเวณส่วนล่าง ด้านในของขา และใต้คาง มีสีออกขาว หูสีดำและสั้นมาก
กระต่ายลายสุมาตรา จะออกหากินในเวลากลางคืน และพบได้เฉพาะในป่าที่ห่างไกล และแม้แต่ในตอนนี้ ก็ยังไม่ทราบวิธีขยายพันธุ์รวมถึงช่วงเวลาที่แท้จริง แถมไม่เคยพบกระต่ายวัยเด็ก ความจริงมันเป็นกระต่ายที่หายากซะจนในสมัยก่อน คนพื้นเมืองในพื้นที่ ก็ยังไม่เชื่อว่า มีกระต่ายชนิดนี้อยู่จริงๆ …เพราะพวกเขาเองก็ไม่เคยเจอ
ประวัติการพบเห็นกระต่ายลายสุมาตรา
กระต่ายลายสุมาตราถูกพบครั้งแรกใน ปี พ.ศ. 2515 หลังจากนั้นก็ไม่มีรายงานการพบอีกเลย จนในปี พ.ศ. 2543 ก็มีการถ่ายภาพของกระต่ายชนิดนี้ได้หนึ่งตัว แต่ก็ไม่สามารถตามหาตัวได้ ต่อมาก็มีรายงานการพบอีก 3 ครั้ง แต่ก็ไม่ได้มีหลักฐานแน่ชัด
ในเดือน มิถุนายน ปี พ.ศ. 2550 ก็มีการถ่ายภาพได้อีกครั้ง ต่อมาในปี พ.ศ. 2551 / 2552 ก็ดักถ่ายได้อีกปีละ 1 ตัว จนในปี พ.ศ. 2554 ก็ถูกถ่ายได้อีกครั้ง …. แต่ทั้งหมดไม่มีการเก็บตัวอย่างได้สำเร็จ
ปี พ.ศ. 2565 กระต่ายที่มีชีวิตถูกประกาศขายใน Facebook โดยเรื่องราวเริ่มต้นขึ้น เมื่อเจ้าหน้าที่สัตว์ป่าของอินโดนีเซีย ได้พบเห็นภาพ “กระต่ายลายสุมาตรา” (Sumatran striped rabbit) ถูกประกาศขายใน Facebook พวกมันหายากมากซะจนเมื่อมีภาพปรากฏบน Facebook
ชุมชนอนุรักษ์และเจ้าหน้าที่จากอุทยานแห่งชาติบนเกาะสุมาตราของอินโดนีเซียได้ออกตามหาผู้ขายทันที และโชคดีที่พบเขาเจอตัวได้อย่างรวดเร็ว และกระต่ายเองก็ปลอดภัย แน่นอนว่าเจ้าหน้าที่ได้ยืดกระต่ายตัวดังกล่าวกลับมาทันที ซึ่งภายหลังได้ถูกปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ และหลังจากปีนั้นก็มีการถ่ายภาพกระต่ายลายสุมาตราได้อีกหลายครั้ง แต่ไม่มีครั้งไหนที่ตามตัวจนเจอเลย