เกี่ยวกับกุ้งดีดขัน
กุ้งดีดขัน หรือ กุ้งกระเตาะ (Snapping shrimps) เป็นครัสเตเชียนจำพวกหนึ่งในวงศ์ Alpheidae จัดเป็นกุ้งขนาดเล็ก ลำตัวใส ส่วนหัวมีขนาดใหญ่เรียวเล็กลงไปถึงหาง นัยน์ตาเล็กและมีหนวดยาว มีก้ามใหญ่โต โดยเฉพาะข้างหนึ่งจะใหญ่กว่าอีกข้างหนึ่ง
ที่มาของชื่อกุ้งดีดขัน?
แน่นอนว่ามาจากก้ามที่ใหญ่โตของมัน แม้ว่าตัวมันจะเล็ก แต่ก็มีก้ามใหญ่มากอยู่ข้างนึง โดยก้ามนี่สามารถงับอย่างแรงและเร็ว ทำให้เกิดเสียงดัง “แป๋งๆ” และยิ่งกระทบโลหะเสียงจะยิ่งดัง และนี่คือที่มาของชื่อ “กุ้งดีดขัน”
อาวุธสุดยอดของกุ้งดีดขัน
การสร้างเสียงด้วยก้ามอันใหญ่ของมัน หลักๆ ก็เพื่อทำให้ศัตรูตกใจกลัว แต่อาวุธร้ายของมันคือการสร้างแรงดันน้ำต่างหาก โดยจากการทดสอบของนักวิทยาศาสตร์พบว่า พลังของการฉีดน้ำมันน่าเหลือเชื่อ
แรงดันของน้ำที่เกิดจากก้ามของกุ้งดีดขันมีมากถึง 80 kPa ส่งผลกระทบรัศมี 4 เซนติเมตร ซึ่งมีความรุนแรงมากพอที่จะทำให้ปลาตัวเล็กๆ ช็อกตายได้ทันที
โดยเสียงจากการกระทำนี้มีความดังถึง 218 dB/µPa/m (เดซิเบล/ไมโครปาสคาล/เมตร) เมื่อเทียบกับเสียงของน้ำตกไนแองการาซึ่งดังเพียง 90 dB หรือเสียงพูดคุยปกติธรรมดา 30 dB นับว่ากุ้งดีดขันสามารถทำเสียงได้ดังกว่ามาก
ดูคลิปทดสอบการสร้างเสียงและแรงดันน้ำของกุ้งดีดขัน
กุ้งชนิดนี้มีทั้งหมด 45 สกุล ชนิดที่พบเจอบ่อยๆ ได้แก่ Alpheus microrhynchus ซึ่งพบในน้ำจืด เฉพาะสกุล Alpheus นั้นพบในประเทศไทยทั้งหมด 35 ชนิด โดยพบในอ่าวไทย 8 ชนิด ทะเลอันดามัน 5 ชนิด และพบทั้งสองฟากทะเล 22 ชนิด
กุ้งดีดขันมีความสำคัญในแง่ของการประมง ที่บังกลาเทศ, ญี่ปุ่น, ออสเตรเลียตอนเหนือ นิยมนำมารับประทาน และยังนิยมทำเป็นเหยื่อตกปลาอีกด้วย นอกจากนี้แล้วจากความสามารถที่ทำเสียงดังได้ ทำให้กุ้งดีดขันมักถูกจับมาขายเป็นสัตว์เลี้ยงสวยงาม ซึ่งชนิดที่มักถูกจับมาขายเป็นสัตว์เลี้ยง คือ A. cyanoteles ซึ่งเป็นชนิดที่พบได้ในน้ำจืดสนิท