ฉลามอยู่ในกลุ่มของปลากระดูกอ่อน โดยกระดูกส่วนแข็งที่สุดคือฟันของมัน นอกจากนั้นญาติของมันก็คือปลากระเบน ปลาฉนาด และปลาโรนัน โดยชนิดที่มีชื่อเสียงสุดคือฉลามวาฬและฉลามขาว ..พวกมันยังได้วิวัฒนาการให้มีความหลากหลายตลอดหลายร้อยล้านปีที่ผ่านมาทำให้ยังอยู่รอดได้ถึงทุกวันนี้
ฉลามปรากฏตัวครั้งแรกเมื่อไร?
หลักฐานที่เก่าแก่สุดของฉลามหรือบรรพบุรุษของพวกมันคือเกล็ดที่มีอายุย้อนไปได้ถึง 450 ล้านปีก่อน ในช่วงปลายยุคออร์โดวิเชียน ซึ่ง Emma Bernard ผู้เชี่ยวชาญฟันปลาดึกดำบรรพ์ กล่าวว่า “พบเกล็ดพวกปลาที่คล้ายฉลามแต่ว่ายังไม่พบฟัน หากมันเป็นฉลามจริงแสดงว่าฉลามยุคแรกๆ ยังไม่มีฟัน นักวิทยาศาสตร์ยังถกเถียงว่ามันเป็นฉลามจริงๆ หรือปลาที่คล้ายฉลามกันแน่”
จากการวิเคราะห์ฉลามที่ยังมีชีวิต รวมถึงปลากระเบนและปลาประเภทไคเมร่า (ปลาที่คล้ายฉลามแต่ไม่ใช่ฉลาม พบในแหล่งน้ำลึก) ที่ยังมีชีวิตในปัจจุบันแสดงให้เห็นว่า เมื่อประมาณ 420 ล้านปีก่อน ไคเมร่า ได้แยกตัวออกมาจากกลุ่มปลากระดูกอ่อน เนื่องจากไม่มีการพบซากของพวกนั้นในช่วงเวลานั้น ทำให้มีการวิวัฒนาการแยกออกจากกัน และช่วงเวลานั้นพืชเริ่มปรากฏขึ้นบนแผ่นดิน
ฟันที่เก่าแก่ที่สุด
ฟันฉลามที่คาดว่าน่าจะเก่าแก่สุดมีอายุอยู่ในช่วงต้นยุคดีโวเนียนเมื่อ 410 ล้านปีก่อน โดยปลาชนิดนี้อยู่ในประเภท ฉลามที่ไม่เหมือน (Doliodus problematicus) พวกมันมีเกล็ดและหนามรูปเพชรอยู่ด้านหน้าครีบ แต่เป็นปลากระดูกอ่อน กะโหลกและกรามเหมือนฉลาม และยังมีฟันเหมือนฉลามปกติ
ฉลามตัวแรก
ในช่วงกลางของยุคดีโวเนียนเมื่อ 380 ล้านปีก่อน ฉลามสกุล Antarctilamna ได้ปรากฏขึ้นบนโลก พวกมันเหมือนปลาไหลมากกว่าฉลาม แต่อีกชนิดคือ Cladoselache ก็พัฒนาขึ้นมาเช่นกัน นี่จัดเป็นฉลามกลุ่มแรกที่ใกล้เคียงกับฉลามในปัจจุบัน
ยุคทองของฉลาม
ในยุคคาร์บอนิเฟอรัส ( 359 ล้านปีก่อน) เป็นยุคที่เรียกว่ายุคทองของฉลาม หลังจากเหตุการณ์การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ในช่วงท้ายของยุคดีโวเนียน ได้ทำลายสิ่งมีชีวิตถึง 75% ของสายพันธุ์บนโลกในช่วงเวลานั้น รวมถึงปลาหลายชนิด ทำให้ฉลามสามารถครองโลกได้
พวกมันมีรูปร่างที่หลากหลาย ในช่วงเวลานั้นมีฉลามรูปร่างแปลกประหลาดมากมาย รวมถึงพวกไคเมร่าบางชนิดที่มีรูปร่างแปลก อย่างเช่นฉลาม Stethacanthus ที่มีครีบเหมือนทั่งเหล็ก Helicoprion มีขากรรไกรล่างเหมือนเลื่อย และ Falcatus ที่มีกระดูกสันหลังยื่นยาวออกมา
พวกไคเมร่าในปัจจุบันมีความหลากหลายน้อยกว่านี้มาก พวกมันอยู่ในทะเลลึก ยาวเพียง 1.5 เมตร กรามบนของมันรวมกับกะโหลก และพวกมันก็มีหนามพิษด้วย
ที่มาของกรามอันน่ากลัวของฉลาม
เมื่อสิ้นสุดยุคเพอร์เมียน ประมาณ 252 ล้านปีก่อน ได้เกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่อีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้ร้ายแรกมาก สัตว์ทะเละมากถึง 96% สูญพันธุ์ไปแต่ฉลามก็ยังคงรอดมาได้
ในช่วงต้นยุคจูราสสิกเมื่อ 195 ล้านปีก่อน กลุ่มฉลามยุคใหม่ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุด Hexanchiformes ได้วิวัฒนาการขึ้น พวกมันจะเป็นจุดเริ่มต้นของฉลามยุคใหม่ พวกมันพัฒนากรามให้ดีขึ้น สามารถกินเหยื่อที่ใหญ่กว่ามันได้และยังว่ายน้ำได้ดีขึ้นด้วย
ฉลามเริ่มลดขนาดลง
ในช่วงยุคครีเตเชียส 145-65 ล้านปี ฉลามพบได้ทั่วไปในท้องทะเลและน้ำจืด ก่อนที่จะเจอการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่อีกครั้ง ในครั้งนี้สิ่งมีชีวิตจำนวนมากสูญพันธุ์ไป เช่นไดโนเสาร์ที่ไม่ใช่นก และสัตว์เลื้อยคลานบินได้และในน้ำ แต่เป็นอีกครั้งที่ฉลามยังรอด
แต่พวกมันก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ฟอสซิลฟันได้แสดงให้เห็นว่าอุกกาบาตรนี่ได้ฆ่าฉลามขนาดใหญ่หลายชนิด มีเพียงฉลามขนาดเล็กและฉลามน้ำลึกที่รอดมาได้
ฉลามขาวยักษ์กำเนิดขึ้น
ไม่นานนักฉลามหลังฉลามลดขนาดลง พวกมันก็ก็เพิ่มขนาดตัวของมันอีกครั้ง เป็นช่วง 65-23 ล้านปีที่ฉลามตระกูล Otoodus obliquus ที่เป็นบรรพบุรุษของฉลามยักษ์ในตำนานเมกาโลดอนปรากฏตัวขึ้น ซึ่งมันเป็นฉลามขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยมีมา
แม้ในปัจจุบันหลายคนคิดว่าเมกาโลดอนนั้นไม่เกี่ยวกับฉลามขาว อันที่จริงมันอาจจะแข่งขันกันระหว่างบรรพบุรุษของฉลามขาวในช่วงยุคอีโอซีนจากฉลามมาโก
ฉลามหัวค้อนกำเนิดขึ้น
เป็นสายพันธุ์ที่มีอายุน้อยที่สุด อาจย้อนกลับไปได้เพียง 23 ล้านปีเท่านั้น พวกมันมีอย่างน้อยแปดสายพันธุ์ รูปร่างที่แปลกประหลาดของมันนั้นอาจจะช่วยในการใช้สนามไฟฟ้าตรวจหาเหยื่อ
นับตั้งแต่การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ในปลายยุคครีเตเชียส ฉลามได้กลับมายึดครองทะเลอีกครั้ง หลังจากโดนพวกสัตว์เลื้อยคลานในทะเลยึดครองมาหลายร้อยล้านปี รวมถึงการมาของพวกวาฬและโลมา
ทำไมฟอสซิลฟันฉลามถึงหาง่าย
ฟอสซิลฉลามส่วนมากที่พบคือฟัน มีสาเหตุเป็นหลักสองประการ หนึ่งเนื่องจากฉลามเป็นกระดูกอ่อนซึ่งมักจะเสื่อมสลายโดยง่าย มันมีฟันที่เป็นวัสดุที่แข็งสุดทำให้มีโอกาสหลงเหลือเป็นซากฟอสซิลได้
อีกอย่างคือฟันฉลามมีจำนวนมาก เพราะฉลามนั้นเปลี่ยนฟันใหม่ได้ไวมาก ฟันเก่าจะหลุดแล้วฟันใหม่จะขึ้นใหม่เรื่อยๆ โดยตลอดชีวิตของมันฟันจะมีเปลี่ยนถึง 20,000 – 40,000 ซี่ ทำให้ฟันมีโอกาสพบได้ง่ายสุด
ทำไมฉลามถึงรอดจากการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ได้
ฉลามนั้นรอดจากการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ได้ถึงห้าครั้ง และจะมีกลุ่มของฉลามต่างกันในการที่รอดชีวิต แต่สาเหตุหลักๆ ที่มันรอดอาจจะเป็นเพราะการที่อยู่ในน้ำลึกได้และการหาอาหารที่หลากหลายรวมถึงการปรับตัวของมัน
Emma อธิบายว่า “ฉันคิดว่าสิ่งที่ทำให้มันรอดจนทุกวันนี้คือมันสามารถอยู่ได้ทุกที่ ตั้งแต่น้ำที่ลึกจนถึงทะเลตื้น แม้กระทั้งในแม่น้ำ พวกมันกินอาหารหลากหลายเช่นแพลงก์ตอนจนถึงปลาวาฬ ความหลากหลายนี้ทำให้มันรอดได้จนทุกวันนี้”
ฉลามไม่เพียงแต่เป็นสัญลักษณ์ของความแข็งแกร่ง และยังเป็นสัญลักษณ์ของการปรับตัว ความหลากหลายในชีวิตคือกุญแจสู่ความสำเร็จ ทำให้มันครอบครองมหาสมุทรมาหลายร้อยล้านปี