เนื่องจากผมชอบปลาและก็ชอบตกปลาด้วย แต่ก็มิใช่นักวิชาการ ผมจึงมองปลาจากลักษณะทางกายภาพเป็นหลักก่อน สิ่งที่ผมเข้าใจมาตั้งแต่เด็กคือ ปลาม้าจะมีลำตัวสีเงินออกขาว ส่วนปลาหางกิ่วสีจะออกเหลือง และหากมองผ่านๆ ปลาทั้งสองมีรูปร่างหน้าตาที่คล้ายกันมาก ทั้งยังมีถิ่นอาศัยเดียวกันหรืออย่างน้อยก็ใกล้กัน เพราะในแม่น้ำบางปะกงคุณจะสามารถตกปลาม้าและปลาหางกิ่วได้
สิ่งที่ผมสงสัยต่อไปคือ ผมรู้ว่า “ปลาม้า” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Boesemania microlepis (โบเซมาเนีย ไมโครเลพิส) แต่ “ปลาหางกิ่ว” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่าอะไร? ใช่แล้วปลาหางกิ่วไม่มีชื่อวิทยาศาสตร์ อย่างน้อยผมก็ไม่รู้ชื่อในตอนนี้ ด้วยเหตุนี้จึงไม่สามารถระบุตัวจริงของปลาหางกิ่วได้
และเมื่ออยากรู้มากขึ้น ความน่าสงสัยที่เกี่ยวกับปลาพวกนี้ก็จะมีมากขึ้น แล้วหลังจากที่ผมใช้พลังสมองถึง 120% ก็พอที่จะสรุปได้แบบหยาบๆ ว่า “ปลาหางกิ่ว” น่าจะเป็นชื่อเล่นของ “ปลาจวด” สักชนิดนึงนั้นล่ะ หรือ! อาจรวมไปถึงปลาม้าเลยหรือเปล่า?
เพราะยังไงซะปลาม้าก็อยู่ในวงศ์ปลาจวด ซึ่งมีอยู่หลายสิบสกุล และเฉพาะในไทยปลาที่อยู่ในวงศ์ปลาจวดก็มีประมาณ 40 ชนิด แน่นอนว่าปลาม้าคือหนึ่งในนั้น แต่หลายคนอาจคิดว่าปลาหางกิ่ว ก็คงอยู่สกุลเดียวกับปลาม้า …คำตอบคือ! ไม่ใช่ นั้นเพราะปลาม้าอยู่ในสกุล Boesemania (โบเซมาเนีย) ซึ่งปลาในสกุลนี้มีปลาม้าเพียงชนิดเดียว และที่พิเศษกว่านั้นคือ ในบรรดาปลาจวด “ปลาม้าคือปลาน้ำจืดเพียงชนิดเดียวที่พบได้ในไทย”
ความเป็นไปได้ที่ปลาหางกิ่วอาจเป็นปลาจวดชนิด บาฮาบา โพลิคลาดิสคอส Bahaba polykladiskos?
สาเหตุที่ผมคิดว่าปลาหางกิ่วอาจเป็น Bahaba polykladiskos (บาฮาบา โพลิคลาดิสคอส) เพราะอย่างน้อยมันก็ตรงกับสิ่งที่ ดร.นนท์ ผาณิตวงศ์ เขียนเอาไว้ประมาณว่า ปลาม้ามีปากที่ยาวกว่าปลาหางกิ่ง แล้วก็วงเล็บชื่อ b.polykladiskos ซึ่งผมก็เดาว่าตัว b ก็คงเป็นสกุล Bahaba นั้นละ และยังเป็นชนิดที่กรมประมงมักจะเอามาเทียบกับปลาม้าซะด้วย
ทั้งนี้ “ปลาจวด” ชนิดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bahaba polykladiskos (บาฮาบา โพลิคลาดิสคอส) เป็นปลาน้ำกร่อยและทะเล มีลักษณะคล้ายปลาม้ามาก มันมีรูปร่างเรียวส่วนหางคอดกิ่ว ปากมีขนาดใหญ่ ขากรรไกรบนยาวถึงกลางตาหรือขอบตาหลัง ฟันมีทั้งเล็กและใหญ่ ครีบหลังแบ่งเป็นสองส่วน ครีบหางเป็นทรงสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ลำตัวสีเทาอ่อนหรือเหลืองเหลือบเงิน มีขนาดตัวประมาณ 30 – 40 เซนติเมตร เกล็ดมีขนาดเล็กและเรียบ มีเส้นข้างลำตัวจนถึงปลายครีบหาง
ส่วน “ปลาม้า” ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Boesemania microlepis (โบเซมาเนีย ไมโครเลพิส) เป็นปลาน้ำจืดชนิดเดียวที่อยู่ในวงศ์ปลาจวดที่พบได้ในไทย มีรูปร่างเพรียวเล็กไปทางด้านท้ายลำตัว หน้าผากเว้าลึก ตาอยู่สูงไปทางด้านบนของหัว ปากกว้างอยู่ด้านล่างของจะงอยปาก ใต้คางมีรูเล็กๆ 5 รู ครีบหลังยาวตลอดส่วนหลัง โคนหางเรียวเล็ก ครีบก้นมีก้านแข็งขนาดใหญ่และหนา ครีบอกยาว เกล็ดมีขนาดเล็กมาก เส้นข้างลำตัวยาวถึงปลายครีบหาง ลำตัวสีเหลืองเหลือบเงิน ด้านหลังมีสีคล้ำ ด้านท้องสีจาง ครีบใส มีความยาวประมาณ 25 – 50 เซนติเมตร และอาจใหญ่ได้ถึง 1 เมตร
จากคำอธิบายทางกายภาพ น่าจะพอมองออกว่าปลาม้า และปลาจวดชนิดนี้ มีความเหมือนกันมาก ดีไม่ดีคนที่ตกปลาพวกนี้ได้ และไม่รู้จักปลาม้าดีพอ ก็อาจคิดว่าปลาจวดชนิดนี้เป็นปลาม้าไปเลยก็ได้
มาถึงตรงนี้หลายคนน่าจะงงในงงเหมือนกับผมอยู่ ประมาณว่า เราก็ยังไม่รู้อยู่ดีกว่าปลาหางกิ่วมันคืออะไร? เอาเป็นว่าขอสรุปตามความเข้าใจของผมก่อน!
- ข้อแรกคือ ปลาม้า อยู่ในวงค์ปลาจวด และยังเป็นปลาชนิดเดียวในวงค์ปลาจวดที่พบในไทยที่เป็นปลาน้ำจืด สำหรับข้อแรกผมว่าถูกต้องแน่นอน
- ข้อสองคือ ปลาหางกิ่ว ที่นักตกปลาหรือชาวบ้านเรียกกัน ก็คือปลาจวดนั้นละ และทั้งหมดก็พบในน้ำกร่อย-เค็ม สำหรับข้อสองผมไม่แน่ใจนัก
- ข้อที่สาม หรือบางทีปลาหางกิ่วที่เราจับกันได้ตามแม่น้ำบางปะกงอะไรพวกนี้ อาจจะมีมากกว่าหนึ่งชนิดก็เป็นได้ …หรือคุณคิดว่ายังไงกัน?
สรุปส่งท้ายกันหน่อย! …ถ้าพูดถึงปลาม้า ตอนนี้เราคงรู้แน่ชัดแล้วว่ามันคืออะไร แต่สำหรับหาปลากิ่วผมเองยังไม่ทราบจริงๆ ว่ามันคือชนิดไหนกันแน่ หากใครมีข้อมูล สามารถอธิบายเพิ่มเติมไว้ที่คอมเมนท์ได้นะครับ แต่โดยส่วนตัวผมเชื่อว่าปลาหางกิ่วมันก็คือปลาจวดหลายๆ ชนิดที่ว่ายอยู่ในน้ำกร่อย แต่เอาเป็นว่าเรื่องนี้สำหรับผมยังหาข้อสรุปไม่ได้ และสำหรับคนที่เป็นห่วงว่าปลาม้าจะสูญพันธุ์ ผมก็มีข่าวดีมาบอกว่า กรมประมงสามารถเพาะพันธุ์ได้แล้วนะ เพียงแต่ยังไม่มีการเลี้ยงเป็นปลาเศรษฐกิจอย่างแพร่หลาย