หอยทากตีนเกล็ด คืออะไร?
หอยทากตีนเกล็ด (Scaly-foot gastropod) เป็นหอยทากทะเลที่มีขนาดเปลือกประมาณ 32 มิลิเมตร มันเป็นหนึ่งในสิ่งมีชีวิตหายากที่ถูกพบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2544 จนในปี พ.ศ. 2546 ก็ได้รับชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ไครโซมอลลอน สความิเฟอรัม (Chrysomallon squamiferum) แต่ก็ยังไม่ได้รับการอธิบายอย่างเป็นทางการ ต้องรอถึงปี พ.ศ. 2558 หอยทากตีนเกล็ด ก็ได้รับการอธิบายจากตัวอย่างที่ถูกเก็บรักษาเอาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติลอนดอน
หอยทากตีนเกล็ด ถือเป็นสัตว์ที่หายากชนิดหนึ่งในทะเล แต่ก็ไม่แปลกที่มันจะหายาก เพราะหอยชนิดนี้จะอยู่ที่ความลึก 2,400-2,900 เมตร แถมยังอยู่บริเวณจุดร้อน ซึ่งเป็นช่องระบายความร้อนใต้ทะเลลึกในมหาสมุทรอินเดียเท่านั้น และยังมีขนาดพื้นที่อาศัยเพียง 20,000 ตารางเมตร
และเพราะมันเป็นหอยที่อาศัยอยู่บริเวณปากปล่องมีความร้อนสูง จึงคาดว่าหอยชนิดนี้จะทนความร้อนได้ราวๆ 398 องศาเซลเซียส แต่ที่มันพิเศษกว่านั้นคือ มันเป็นหอยที่ “ดูดซับธาตุเหล็ก” และนำมาใช้กับร่างกายของมันได้ ในที่นี้คือมันนำมาเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแกร่งขึ้น นั้นหมายความว่าเปลือกและทุกส่วนที่เป็นสีดำจะประกอบด้วยเหล็ก
หอยที่มีเปลือกหุ้มด้วยเกราะ 3 ชั้น!
อย่างที่บอกเอาไว้ตอนต้น ถ้ากั้งตั๊กแตนเจ็ดสีคิดจะกินหอยชนิดนี่ก็คงคิดหนัก เพราะไม่น่าจะทุบแตกได้ แต่หมัดของกั้งก็คงไม่แตก เพราะมันพิเศษซะจนเหมือนใช้เทคโนโลยีต่างดาว > < โดยเปลือกของหอยชนิดนี้ “หุ้มด้วยเกราะ 3 ชั้น” ที่สร้างขึ้นจากวัสดุที่ต่างกัน
- ชั้นนอกสุดจะเป็นสีดำ มีความหนาประมาณ 30 ไมโครเมตร ประกอบไปด้วย ไอรอนซัลไฟด์ (Iron sulfide) ซึ่งเป็นเหล็กและกำมะถัน
- ชั้นกลางมีสีน้ำตาล มีความหนาประมาณ 150 ไมโครเมตร ประกอบไปด้วย เพริโอสตราคัม (Periostracum) ซึ่งเป็นสารอินทรีย์แข็งๆ ที่มักพบในเปลือกชั้นนอกสุดของกระดองสัตว์ส่วนใหญ่
- ชั้นในสุดมีสีขาวขุ่น มีความหนาประมาณ 250 ไมโครเมตร ซึ่งถือว่าไม่ธรรมดา เพราะมันประกอบไปด้วย อะราโกไนต์ (Aragonite) ซึ่งเป็นแร่คาร์บอเนต และเป็นหนึ่งในสามรูปแบบของผลึกแคลเซียมคาร์บอเนตที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ
ด้วยคุณสมบัติพิเศษของเปลือก ที่นักวิจัยมองว่าเป็นวัสดุคอมโพสิตชนิดพิเศษ พวกมันจึงถูกนำไปวิจัยเพื่อสร้างวัสดุชนิดใหม่ เพื่อใช้ในการป้องกันพลเรือนและการทหาร
และด้วยความลึกที่หอยชนิดนี้อาศัยอยู่ พวกมันจึงปรับตัวด้วยการไม่จำเป็นต้องหาอาหารกิน มันจะใช้วิธีดูดซึมสารอาหารจากแบคทีเรียซิมไบโอติคที่อาศัยอยู่ในร่างกายของมัน และด้วยความหายากและยากที่จะเข้าใกล้ เราจึงมีข้อมูลเกี่ยวกับมันน้อย แต่ยังไงซะมันก็ถูกประกาศให้เป็นสัตว์ “ใกล้สูญพันธุ์” ไปซะแล้ว
สุดท้ายแม้จะคาดว่าหอยชนิดนี้ทนความร้อนได้สูงถึง 398 องศาเซลเซียส แต่อุณหภูมิของน้ำที่พวกมันต้องการคือประมาณ 5 องศาเซลเซียส ซึ่งมันจะพยายามอยู่ในเขตเปลี่ยนผ่านที่มีพื้นที่ประมาณ 1 – 2 เมตร เพื่อให้ได้อุณหภูมิที่ต้องการ พวกมันจะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีไฮโดรเจนซัลไฟด์เข้มข้นสูงและออกซิเจนที่ต่ำมาก …มันจึงเป็นหอยที่ทนทานที่สุดชนิดหนึ่ง