ปลากดหมู คืออะไร?
ปลากดหมูเป็นหนึ่งในปลาหายากในประเทศไทย ในตอนนี้ปลาในสกุลปลากดหมู หรือสกุลริต้า (Rita) ซึ่งอยู่ในวงศ์ของปลากด (Bagridae) มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 6 ชนิด และในประเทศไทยก็มีอยู่เพียง 1 ชนิดเท่านั้น ซึ่งก็คือปลากดหมูสาละวิน
ทั้งนี้ชื่อสกุลของปลากดหมู เป็นชื่อท้องถิ่นในภาษาบังคลาเทศ และไม่ใช่ทุกชนิดในสกุลริต้าจะเป็นปลาขนาดใหญ่ เพราะโดยทั่วไปปลาพวกนี้จะมีความยาวเพียง 15 – 30 เซนติเมตรเท่านั้น ยกเว้นเพียงปลากดหมูสาละวิน (Rita sacerdotum) ที่ตามข้อมูลทั้งไทยและเทศก็ระบุว่าเป็นปลากดที่ยาวได้ถึง 2 เมตรและตัวก็อ้วนมากด้วย
โดยปกติแล้วปลาในสกุลนี้ จะเป็นปลาหนังที่มีลำตัวอ้วนป้อม มีหนวดสั้นๆ 4 คู่ ซึ่งจะอยู่ใต้คาง 2 คู่ เพื่อใช้เป็นอวัยวะสัมผัส เป็นปลาที่หากินตามพื้นน้ำ จะกินปลาและสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร พบกระจายพันธฺ์ในแม่น้ำสายใหญ่ในประเทศอินเดียและบางส่วนในประเทศพม่าจนถึงบางส่วนของประเทศไทย เป็นที่น่าเสียดายที่ปลากดในสกุลนี้มีข้อมูลน้อยสุดๆ จึงขอพูดถึงปลากดหมูสาระวินเท่านั้น
ปลากดหมูสาละวิน – Rita sacerdotum
ปลากดหมูสาละวิน มีชื่อวิทยาศาสตร์ ริต้า ซาเซอร์โดทัม (Rita sacerdotum) เป็นปลาที่ยาวได้ถึง 2 เมตร และหนักมากกว่า 150 กิโลกรัม แต่โดยทั่วไปจะยาวประมาณ 1.5 – 1.8 เมตร เป็นปลาขนาดใหญ่และหนักที่สุดในวงศ์ปลากด จนมีอีกชื่อว่า “ปลาบึกสาละวิน” ปลามีลักษณะอ้วนป้อมคล้ายหมู จึงเป็นที่มาของชื่อสามัญ
เป็นปลาที่มีหนวด 4 คู่ จุดเด่นที่สะดุดตามากๆ ของปลาชนิดนี้นอกจากจะอ้วนและหัวโตมากคือ มีแผ่นกระดูกบริเวณท้ายทอยและบริเวณเหนือครีบอก เป็นแผ่นหนาและแข็งมาก ซึ่งมองเห็นได้อย่างชัดเจน เป็นปลาขนาดใหญ่มากที่มักอาศัยอยู่พื้นน้ำ กินสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร
ปลากดหมูสาละวินพบได้เฉพาะในแม่น้ำสาละวินบริเวณพรมแดนไทย-พม่า และบริเวณแม่น้ำเมยที่เขตอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก เป็นปลาที่หาได้ยากมากในธรรมชาติประเทศไทย และถือเป็นปลาที่ใกล้สูญพันธุ์ไปจากประเทศไทย ส่วนในระดับนานาชาติยังไม่ได้รับการประเมิน
สำหรับปลากดหมูสาละวิน เป็นปลาที่พูดได้ไม่เต็มปากนักว่ามีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย จริงๆ มันก็เหมือนเป็นทางผ่านเฉยๆ เนื่องจากปลาที่พบในประเทศไทยทั้งหมดจะเป็นปลาขนาดใหญ่
โดยปกติปลากดพวกนี้จะอยู่ในแม่น้ำสาละวินที่เป็นวังลึก และจะย้ายถิ่นขึ้นไปส่วนบนของแม่น้ำในช่วงน้ำหลากซึ่งจะเป็นการเดินทางที่ไกลมาก ส่วนลูกปลาจะอยู่บริเวณปากแม่น้ำประเทศพม่า จัดเป็นปลาเศรษฐกิจของลุ่มแม่น้ำสาละวินตอนล่าง ในอำเภอแม่สอดและสบเมย จะเรียกปลาชนิดนี้ว่าปลาหมูหรือปลาบึกสาละวิน
และแม้ว่าปลากดชนิดนี้จะหายากมากในไทย แต่ก็พบได้ตามบ่อตกปลาขนาดใหญ่ ด้วยความสวยแปลกๆ ของปลาชนิดนี้ มันก็เป็นปลาที่ถูกจับมาขายในตลาดปลาสวยงามเช่นกัน
ปลากดที่พบในไทยและขนาดใหญ่ใกล้เคียงกับปลากดหมูสาละวิน
สำหรับปลากดขนาดใหญ่ที่พบได้ในธรรมชาติประเทศไทย ที่เอามาเทียบในเรื่องความยาวของปลากดหมูสาละวิน คงจะมีแค่ “ปลากดคัง” (Hemibagrus wyckioides) ที่ตามข้อมูลทั่วไปจะยาวได้ถึง 2 เมตร แต่สมัยนี้เจอยาว 1 เมตรก็เก่งแล้ว โดยปกติปลากดคังถือเป็นปลาที่พบได้ทั่วไปในแม่น้ำสายใหญ่บางสายของประเทศไทย โดยเฉพาะตั้งแต่ภาคกลางตอนล่างไปจนถึงภาคเหนือและภาคอีสาน และยังพบได้ตามเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่
ทั้งนี้ปลากดคังจะมีรูปร่างที่ยาว หัวแบน มีหางเป็นสีส้มหรือแดง บางข้อมูลบอกว่าปลาชนิดนี้เมื่อยาว 2 เมตร อาจจะหนักได้ถึง 50 กิโลกรัม แต่บางข้อมูลก็ว่าได้ถึง 100 กิโลกรัม แต่จากที่ผมเคยเห็นและตกปลากดคังได้บ่อยๆ ผมว่านะ กดคังยาว 2 เมตร มาแบบอ้วนตุ๊บ ก็ได้แค่ 70 กิโลกรัมนั้นละ 100 กิโลผมว่ามากไปหน่อย
สำหรับปลากดคังถือเป็นปลาเนื้อดี นิยมนำมาบริโภคโดยการปรุงสด ลวก จิ้ม หรือยำ มีราคาค่อนข้างแพง แต่เห็นว่าตามร้านอาหารเริ่มมีการนำปลาเรดเทลมากินแทน เนื่องจากเรดเทลเป็นปลาขนาดใหญ่ โตเร็วเลี้ยงง่าย แถมยังราคาถูกกว่าปลากดคังอีกด้วย …แน่นอนว่าพวกมันมีรสชาติใกล้เคียงกัน
สำหรับปลาเรดเทล (Phractocephalus hemioliopterus) เป็นปลาที่อยู่ในวงศ์ปลากดอเมริกาใต้ เป็นปลาต่างถิ่นที่ถูกนำเข้ามาเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม จริงๆ ปลาชนิดนี้ต่างจากปลากดคังมาก แต่ก็มีคนจำนวนมากที่คิดว่ากดคังคือเรดเทล และในทางกลับกันก็คิดว่าเรดเทลคือกดคัง ..และในสมัยนี้ทั้งเรดเทลและกดคัง จะมีอยู่มากมายตามบ่อตกปลา โดยเฉพาะในบ่อตกปลาด้วยเหยื่อปลอม
ปลาอีกชนิดที่อยากแนะนำให้รู้จักคือ ปลากดหัวเสียมสาละวิน (Sperata acicularis) ซึ่งเป็นปลาอีกชนิดที่พบได้ในไทย เป็นปลาที่ยาวได้ถึง 150 เซนติเมตร แต่ทั่วไปจะยาว 50 เซนติเมตร อาศัยอยู่ในแม่น้ำสาระวิน มีลักษณะเด่นคือ ส่วนหัวและจะงอยปากยื่นยาวมากที่สุดในกลุ่มปลากดทั้งหมด มีหัวแบนราบเล็กน้อย ตาเล็กอยู่ด้านบนของหัว และมีลำตัวสีเงิน เป็นปลาที่นานๆ จะพบในตลาดของจังหวัดแม่ฮ่องสอน และในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
ก็จบแล้วนะครับสำหรับเรื่องกดหมูสาละวิน เชื่อว่าหลายคนอาจไม่เคยเห็น หรืออาจไม่เคยได้ยินชื่อปลาชนิดนี้เลยด้วยซ้ำ แต่ก็ไม่แปลก เพราะปลาที่อยู่ในสกุลปลากดหมูแทบจะไม่ได้รับการศึกษาที่มากพอ ข้อมูลจึงน้อยสุดๆ และก็หวังว่าข้อมูลส่วนนี้จะมีประโยชน์กับทุกคน