ปลาโรนิน คืออะไร?
สำหรับปลาโรนิน หรือ ปลากระเบนพื้นน้ำ (Bowmouth guitarfish, Mud skate, Shark ray) จัดเป็นปลากระดูกอ่อน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Rhina ancylostoma (ไรน่า แอนซีลอสโตมา) เป็นปลาเพียงชนิดเดียวที่อยู่ในสกุล Rhina (ไรน่า)
โดยปลาโรนินจะมีส่วนหัวคล้ายกับปลากระเบนแต่ส่วนหางคล้ายปลาฉลาม และยังมีลักษณะคล้ายกับปลาอีกชนิดคือปลาโรนัน ด้วยเหตุนี้ปลาโรนินมักจะถูกจำสับสนกับปลาโรนัน แต่ถึงอย่างงั้นพวกมันทั้งสองก็มีลักษณะทางกายภาพที่ต่างกันอย่างชัดเจน นั้นคือที่บริเวณหลังและหัวของปลาโรนินจะมี “สันหนามจำนวนมาก” ส่วนปลาโรนันจะไม่มีและหลังจะเรียบ จุดสังเหตุอีกอย่างที่ชัดมากๆ หัวของปลาโรนินจะดูโค้งมน ในขณะที่ของโรนันจะแหลมกว่าอย่างเห็นได้ชัด
ในเรื่องสีของปลาโรนินด้านบนมีสีเทาอมน้ำตาล มีแต้มเป็นจุดสีขาวจางๆ กระจายอยู่ทั่วตัว ด้านท้องมีสีขาว โดยเฉพาะปลาวัยอ่อนจะมีลวดลายที่มากกว่าปลาขนาดใหญ่
ปลาโรนินเมื่อโตเต็มที่จะมีความยาวได้ถึง 3 เมตร หนักได้ถึง 135 กิโลกรัม พบอาศัยอยู่ตามบริเวณพื้นทะเลที่เป็นดินทรายปนโคลน จัดเป็นปลาที่พบเห็นได้ยากมากในปัจจุบัน และอยู่ในสถานะเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ สำหรับในน่านน้ำไทยพบที่ฝั่งอันดามัน โดยชาวประมงจะเรียกปลาโรนินว่า “ปลากระเบนพื้นน้ำ”
ตามบันทึกการพบปลาโรนินครั้งสุดท้ายแบบเป็นๆ เกิดขึ้นเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2558 มีการพบปลาโรนินตัวหนึ่งซึ่งเป็นเป็นเพศเมีย ที่บริเวณปากแม่น้ำประแส อำเภอแกลง จังหวัดระยอง มีน้ำหนักประมาณ 40 กิโลกรัม ความยาวตั้งแต่หัวจรดหางประมาณ 2 เมตร คาดว่าจะมีอายุประมาณ 10 ปี ในตอนนั้นปลามีแผลถลอกทั้งตัวเนื่องจากติดอวนประมง
ต่อมาทางศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลอ่าวไทยฝั่งตะวันออก ได้นำปลาตัวนี้มาพักฟื้นจนแข็งแรง คาดว่าจะถูกปล่อยคืนทะเลไปแล้ว สำหรับการพบโรนินในครั้งนี้ถือว่าน่าประหลาดใจมาก เพราะที่ผ่านมาไม่เคยพบปลาโรนินบริเวณฝั่งอ่าวไทยมานานกว่า 30 ปีแล้ว
จนในปี พ.ศ. 2560 ก็พบปลาโรนินถูกวางขายในตลาดปลาจังหวัดภูเก็ต ในราคา 8,000 บาท และก็เป็นเรื่องตลกที่ปลาหายากชนิดนี้ ถูกนำมาขายในสภาพแบบนี้ แถมยังไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด นั้นเพราะในปีนั้นปลาโรนินยังไม่ได้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง …จนถึงวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2561 ปลาโรนินจึงได้รับการประกาศให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองอย่างเป็นทางการ
เครื่องรางของขลังจากชิ้นส่วนปลาโรนิน
เครื่องรางของขลังอาจเป็นหนึ่งในสิ่งที่ทำให้ปลาโรนินลดจำนวนลงรวดเร็ว ทั้งนี้ก็เนื่องจากมีความเชื่อว่าหนามบนหลังของปลาโรนิน ใช้เป็นเครื่องรางของขลังทางไสยศาสตร์ โดยนิยมนำมาทำเป็นหัวแหวนหรือนำมาห้อยคอและยังมีราคาซื้อขายที่ไม่แพงอีกด้วย
โดยผู้ที่ตามหาเครื่องรางของขลังที่ทำจากชิ้นส่วนของปลาโรนิน มักจะเชื่อว่าจะช่วยให้แคล้วคลาดจากคุณไสย เสริมสิริมงคล เดินทางปลอดภัย และหัวแหวนที่ทำจากหัวปลาโรนิน เมื่อนำไปจุ่มในน้ำที่มีสารพิษ ก็จะเปลี่ยนสีทันที ซึ่งช่วยป้องกันถูกวางยา แต่ก็ไม่แน่ใจว่าเปลี่ยนสีจริงหรือไม่?
ทั้งนี้หลังจากประกาศให้ปลาโรนินเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง กรมประมงได้ประกาศเตือนผู้ครอบครองแหวนหัวกระเบนท้องน้ำหรือส่วนหนามบนหัวปลาโรนินให้แจ้งครอบครองตามกฎหมายภายในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2561 ซึ่งมาถึงวันนี้ก็หมดเขตไปนานแล้ว หากใครไม่แจ้งและมีในครอบครองก็ถือว่าผิดกฎหมาย