น้าหลายคนอาจจะคิดว่าปลาอย่าง เรนโบว์เทราต์ จะมีในไทยได้ยังไง แต่จริงๆ แล้ว ปลาชนิดนี้ถูกนำเข้ามาในไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 โดยการนำมาแบบเป็นไข่ปลาจากสหรัฐอเมริกา และถูกเลี้ยงไว้ใน ในโครงการหลวง ที่ดอยอินทนนท์
“รู้หรือไม่ไข่ที่นำกลับมา เมื่อมาฟักที่เพาะเลี้ยง มีปลาที่รอดมาได้สูงถึง 90% ถือว่าสูงมากทีเดียว นี่แสดงให้เห็นว่ามันเหมาะกับภาคเหนือของไทย”
ข่าวการพบในแหล่งน้ำธรรมชาติบนยอดดอย..?
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีรายงานเรื่องเกี่ยวกับเรนโบว์เทราต์ หลุดไปในแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นลูกปลาขนาดเล็ก เคยมีรายงานพบปลาขนาดใหญ่ราว 1 ฟุตอยู่ในลำธารใกล้ๆ สถานีเพาะเลี้ยง และมีการจับปลาขนาดใหญ่ได้ในช่วงท้ายน้ำของผู้คนพื้นถิ่น
จากการให้สัมภาษณ์ของคนพื้นถิ่นพบว่า ตั้งแต่มีปลาเรนโบว์เทราต์เข้ามา ลูกปลาชนิดต่าง ๆ ก็ได้หายไปเป็นจำนวนมาก จึงหวั่นเกรงกันว่าจะเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมต่อไป แต่เอาจริงๆ ผมเองรู้สึกก็ยังไม่เห็นคลิปคนตก หรือมันยังออกมาไม่เยอะพอ..?
สำหรับเรื่องปลาหลุดมาจากแหล่งเพาะเลี้ยง จนน้าๆ หวังจะตกได้บ้าง ผมเองพยายามหาข้อมูลแต่ก็ไม่พบคลิป หรือบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ชัดๆ เลยขอสรุปคร่าวๆ ว่า น่าจะมีหลุด แต่น้อยเกินไป และอาจทนสภาพน้ำบ้านเราไม่ได้หรือเปล่า..? ใครรู้ข้อมูลเพิ่มเติมบอกกันหน่อยนะ
ข้อมูลของเรนโบว์เทราต์
ปลาเรนโบว์เทราต์ หรือ ปลาเทราต์สายรุ้ง (Rainbow trout, Steelhead, Trout salmon ชื่อวิทยาศาสตร์: Oncorhynchus mykiss) จัดอยู่ในจำพวกปลาแซลมอน อาศัยอยู่ในสาขาแม่น้ำที่ไหลสู่มหาสมุทรแปซิฟิกในทวีปเอเชียและทวีปอเมริกาเหนือ ซึ่งเป็นช่วงที่มีวงจรชีวิตอาศัยอยู่ในทะเล ปกติจะว่ายจากทะเลสู่แม่น้ำเพื่อวางไข่หลังจากอาศัยอยู่ในทะเลไปแล้ว 2-3 ปี
เป็นปลาน้ำเย็น
ปลาเรนโบว์เทราต์ เป็นปลาที่ดั้งเดิมอาศัยอยู่ในลำธารหรือทะเลสาบที่น้ำมีอุณหภูมิที่เย็น (ไม่เกิน 20 องศาเซลเซียส ขณะที่บางข้อมูลระบุว่าไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส) เป็นปลาที่มีสัญชาตญาณนักล่าอยู่ในตัว โดยเป็นปลาที่กินสัตว์น้ำต่างๆ ไม่เลือก ทั้งปลาและแมลงน้ำ
ด้วยสรีระที่เป็นทรงกระสวย หางมีขนาดใหญ่ช่วยในการว่ายทวนกระแสน้ำได้เป็นอย่างดี ถึงแม้จะไม่มีฟันหรือเขี้ยวขนาดใหญ่ แต่ก็มีจะงอยปากที่เป็นลักษณะตะขอ เมื่อสบกับจะงอยปากบนที่เป็นร่องลึกก็จะประกบกันได้ลงตัวพอดี ทำให้จับเหยื่อได้อย่างมั่นคง มีขนาดโตเต็มที่ได้ถึง 1.2 เมตร น้ำหนักกว่า 25 กิโลกรัม สีตามลำตัวสวยงาม เนื้อมีรสชาติดี มีก้างน้อย และยังมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิด โอเมกา 3 อยู่ในปริมาณที่มากด้วย