“CITES 1 เป็นชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าและพืชป่าที่ห้ามค้าโดยเด็ดขาด เนื่องจากใกล้จะสูญพันธุ์ ยกเว้นเพื่อการศึกษา วิจัยหรือเพาะพันธุ์ ซึ่งต้องได้รับคำยินยอมจากประเทศที่จะนำเข้า ประเทศส่งออกจึงจะออกใบอนุญาตส่งออกได้ ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความอยู่รอดของชนิดพันธุ์นั้นๆ ด้วย”
ในอดีตปลายี่สกมีแหล่งอาศัยมากที่สุดที่ แม่น้ำโขง ต่อมาคือแม่น้ำน่าน ส่วนที่แม่น้ำแคว จังหวัดกาญจนบุรี แม่น้ำแม่กลอง จังหวัดราชบุรี แทบจะไม่มีปลายี่สกเหลืออยู่เลย ปลายี่สกที่จับได้มีปริมาณลดลง เนื่องจากแหล่งน้ำอันเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำเสื่อมโทรมไปตามธรรมชาติ
การสร้างเขื่อนกั้นน้ำ สร้างถนน สร้างโรงงานอุตสาหกรรมและการปล่อยสิ่งโสโครกลงในแม่น้ำลำคลองทำให้เกิดน้ำเสียเป็น อันตรายต่อพันธุ์สัตว์น้ำ จำนวนปลายี่สกลดน้อยลง การเพาะพันธุ์ปลายี่สกเสริมแห่งน้ำธรรมชาติจึงเกิดขึ้น มันจะช่วยอนุรักษ์พันธุ์ปลาชนิดนี้ไว้ก่อนที่จะสูญพันธุ์ไป
“ปี พ.ศ.2517 สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดหนองคาย ประสบผลสำเร็จในการผสมเทียมปลายี่สกไทย โดยพ่อแม่พันธุ์เป็นปลาธรรมชาติ”
“ปี 2533 จึงสามารถใช้พ่อแม่พันธุ์ปลาที่ถูกเลี้ยงอยู่ในบ่อดินได้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการคืนชีวิตให้กับยี่สกไทยเลยก็ว่าได้”
ลักษณะของปลายี่สกไทย
ปลายี่สกไทย หรือ ปลายี่สกทอง เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Probarbus jullieni อยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน (Cyprinidae)
เป็นปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ หัวค่อนข้างโต มีหนวดสั้น 1 คู่ อยู่มุมปากบน ปากเล็กยืดหดได้ อยู่คล้อยลงมาใต้ส่วนหัว สีของลำตัวเหลือง มีแถบสีดำ 7 แถบ พาดไปตามความยาวของลำตัว แถบสีดำเหล่านี้จะพาดอยู่ระหว่างรอยต่อของเกล็ด ตาสีแดง ครีบทุกครีบสีชมพู
ชอบอยู่ตามแม่น้ำที่พื้นที่เป็นกรวด หิน หรือทราย ในฤดูผสมพันธุ์ ลำตัวปลาตัวผู้จะเปลี่ยนสีเป็นสีคล้ำอมม่วงและมีตุ่มสิวขึ้นบริเวณข้างแก้มและครีบอก วางไข่ในฤดูหนาว โดยจะอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ ฝูงละ 30–40 ตัว บริเวณที่วางไข่อยู่ท้ายเกาะกลางน้ำ กินหอยและตัวอ่อนแมลงน้ำที่อยู่บริเวณพื้นดิน ขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่พบมีความยาว 1 เมตร และมีน้ำหนักถึง 40 กิโลกรัม
ปลายี่สกไทย (เพศผู้)
- ลำตัวมีขนาดเล็กกว่า และเรียวยาวกว่าเพศเมีย
- ช่องเพศเป็นวงขนาดเล็ก มีสีแดงเรื่อ หากบีบท้องบริเวณใกล้กับช่องเพศจะมีน้ำเชื้อสีขาวขุ่นไหลออกมา
- มีตุ่มสิว (Pearl spot) ที่บริเวณแก้มและข้างตัวมากกว่าตัวเมีย เมื่อเอามือลูบจะสากมือ
ปลายี่สกไทย (เพศเมีย)
- ลำตัวมีรูปร่างอ้วนป้อม และสั้นกว่าเพศผู้เมื่อเทียบกับตัวที่มีอายุใกล้เคียงกัน
- ช่องเพศมีลักษณะเป็นวงนูน และมีขนาดวงใหญ่กว่าเพศผู้ ส่วนสีจะมีสีชมพู ต่างกับเพศผู้ที่มีสีแดงเรื่อ
- ข้างแก้มมีตุ่มสิวน้อย และห่างกัน
ปลาเนื้ออร่อย
ปลายี่สกเป็นปลาที่มีรสชาติอร่อย จึงถูกจับเพื่อนำมาบริโภคและซื้อขายกันเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้จึงกลายเป็นปลาที่อยู่สถานะใกล้สูญพันธุ์ในธรรมชาติ แต่กรมประมงสามารถเพาะพันธุ์ด้วยการผสมเทียมได้สำเร็จตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 และสนับสนุนให้เลี้ยงเป็นปลาเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังเลี้ยงเป็นปลาสวยงามได้ด้วย
ปัจุบันถ้าเป็นนักตกปลาหน้าดิน คงจะตกได้ปลายี่สกไทย บ่อยๆ จนลืมไปแล้วว่ามันคือปลาที่เกือบจะสูญพันธุ์ไปแล้ว แต่ยังไงก็ถือเป็นเรื่องดีที่มาถึงยุคนี้ยังมียี่สกไทยให้ตกมากมายตามเขื่อน และหวังว่ามันจะมีมากขึ้นๆ