ปลาในสกุลโพรบาร์บัส (Probarbus)
ปลายี่สกที่ถือว่าเป็นปลาท้องถิ่นไทย จะมีอยู่ 3 ชนิด อีก 1 ชนิด เป็นปลาต่างถิ่นที่สวมชื่อเป็นยี่สกเทศ โดยปลายี่สกเทศนั้นมีมากซะจน ทำให้คนจำนวนมากคิดว่าเป็นปลาถิ่นไทยเลยทีเดียว แต่สำหรับปลาในสกุลโพรบาร์บัส (Probarbus) ซึ่งเป็นสกุลปลายี่สกก็มีเพียง 3 ชนิดเท่านั้น ส่วนยี่สกเทศไม่ได้อยู่ในสกุลนี้แต่อย่างใด
น่าเสียดายที่ปลาทั้ง 3 ชนิด ถือว่าอยู่ในสถานะที่ใกล้สูญพันธุ์ พวกมันหายากมาก และวิธีรักษาประชากรในธรรมชาติของพวกมัน จะต้องอาศัยการผสมเทียมและปล่อยลงในแหล่งน้ำเลยทีเดียว ส่วนการเกิดในธรรมชาตินั้นไม่เพียงพอ
ด้วยเหตุนี้ หากคุณต้องการจะปล่อยปลาทำบุญในแหล่งน้ำธรรมชาติ แนะนำให้ปล่อยปลา 3 ชนิดนี้ อย่าไปปล่อยปลาดุกหน้าเขียง ปลาดุกไข่อะไรของคุณจะดีกว่า แน่นอนว่าปลายี่สกเทศก็ไม่ควรปล่อย
ปลายี่สกไทย (Probarbus Jullieni)
ปลายี่สกไทย หรือ ปลาเอิน เป็นปลาที่ยาวได้ถึง 150 เซนติเมตร เป็นปลาที่ตัวใหญ่ เกล็ดใหญ่ หัวค่อนข้างโต มีหนวดสั้น 1 คู่ อยู่มุมปากบน ปากเล็กยืดหดได้ อยู่คล้อยลงมาใต้ส่วนหัว สีของลำตัวออกเหลือง มีแถบสีดำ 7 แถบ พาดไปตามความยาวของลำตัว ซึ่งต่างจากปลาเอินตาขาว ที่มักจะมีแถบสีดำบนลำตัว 9 แถบ นอกจากนี้ ยี่สกไทยยังมีครีบทุกครีบออกสีชมพู และมีดวงตาสีดำที่มีวงสีแดงส้มรอบๆ
ปลายี่สกไทย เคยพบมากมายในแม่น้ำสายหลักของประเทศไทย โดยเฉพาะในแม่น้ำแม่กลอง เขตจังหวัดกาญจนบุรี แต่ในตอนนี้ ประชากรของปลายี่สกไทยในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลองลดจำนวนลงไปมากๆ ที่พอจะมีตัวก็จะอยู่ที่ลุ่มแม่น้ำโขง ส่วนสาเหตุก็มาจากเรื่องเดิมๆ คือ แหล่งน้ำเสื่อมโทรม การจับปลามากเกินไป และการสร้างเขื่อน
ปลายี่สกไทย เป็นหนึ่งในปลาที่รอดจากการสูญพันธุ์จากประเทศไทยได้อย่างหวุดหวิด นั้นเพราะกรมประมงประสบความสำเร็จในการผสมเทียมได้อย่างทันเวลา
ซึ่งโครงการเพาะพันธุ์ปลายี่สกไทย ประสบสำเร็จครั้งแรกใน ปี พ.ศ. 2517 โดยสถานีประมงน้ำจืดจังหวัดหนองคาย ซึ่งใช้วิธีการผสมเทียมโดยใช้พ่อแม่พันธุ์ปลายี่สกธรรมชาติ …แต่ก็ยังทำได้ไม่ดีนัก เพราะที่ต้องการคือ ผสมเทียมจากพ่อแม่พันธุ์ปลาเลี้ยง 100%
จนในปี พ.ศ. 2533 จึงสามารถใช้พ่อแม่พันธุ์ปลาที่ถูกเลี้ยงอยู่ในบ่อดินได้ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการคืนชีวิตให้กับยี่สกไทย …และตั้งแต่นั้นมา กรมประมงก็พยายามส่งเสริมให้มีการเลี้ยงปลาชนิดนี้ แน่นอนว่า การปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติก็สำคัญ ซึ่งบางพื้นที่มีการไปตั้งค่ายเพาะพันธุ์ปลายี่สกไทยอยู่ที่ริมแม่น้ำเลยทีเดียว
ปลาเอินตาขาว (Probarbus labeamajor)
ปลาเอินตาขาว เป็นปลาที่เหมือนกับปลายี่สกไทยมาก และด้วยขนาดความยาวถึง 150 เซนติเมตร จึงแทบจะแยกไม่ออกเลยทีเดียว จุดต่างที่ชัดเจนน่าจะตรงที่ปลาเอินตาขาวมีแถบสีดำบนลำตัว 9 แถบ ในขณะที่ปลายี่สกไทยมี 7 แถบ นอกจากนี้ ปลาเอินตาขาว ยังมีริมฝีปากที่หนาและยื่นออกมาเป็นแผ่น ซึ่งต่างจากปลายี่ยกไทย ด้วยเหตุนี้ ในบางพื้นที่จะเรียกว่า “ปลาเอินปากหนา” และดวงตาก็ไม่แดงเท่าปลายี่สกไทย
ปลาเอินตาขาว จัดเป็นปลาที่พบได้ยากมากในประเทศไทย พวกมันเป็นปลาเฉพาะถิ่นของลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งต่างจากปลายี่สกไทยที่อาศัยอยู่ในเกือบทุกลุ่มน้ำ ด้วยเหตุนี้จึงพบปลาเอินตาขาว ปนอยู่กลับปลายี่สกไทย ส่วนสถานะปัจุบันของปลาเอินตาขาวคือใกล้สูญพันธุ์ ยังไม่มีรายงานที่แน่ชัดในการเพาะพันธุ์ในแหล่งเพาะเลี้ยง
ปลาเอินฝ้าย (Probarbus labeaminor)
ปลาเอินฝ้าย เป็นปลาที่ยาวได้ประมาณ 50 เซนติเมตร บางแหล่งข้อมูลบอกว่ายาวได้ถึง 150 เซนติเมตร มีลักษณะโดยรวมคล้ายกันยี่สกไทย แต่ลำตัวจะป้อมสั้นกว่า และยังมีเกล็ดที่ใหญ่กว่าด้วย แต่ลายบนลำตัวของปลาอินฝ้ายไม่ชัดเจน
เช่นเดียวกับปลาเอินตาขาว ตรงที่จัดเป็นปลาเฉพาะถิ่นของลุ่มน้ำโขง พบได้แถวๆ ตอนกลางของแม่น้ำโขง จังหวัดนครพนมจนถึงจังหวัดอุบลราชธานี เคยมีรายงานว่าพบในแม่น้ำมูล จัดเป็นปลาที่พบได้ยากมาก และข้อมูลการศึกษาเกี่ยวกับปลาชนิดนี้ก็น้อยมากเช่นกัน
ปลายี่สกเทศ (Labeo rohita)
ตามบันทึก ปลายี่สกเทศเป็นปลาที่นำเข้ามาจากประเทศอินเดีย ชื่อเดิมคือ ปลาโรหู้ เข้ามาในประเทศไทยครั้งแรก โดยนายประสิทธิ์ เกษสัญชัย เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน ปี พ.ศ. 2511 จำนวน 19 ตัว และ ครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2512 จำนวน 250 ตัว
มันเป็นปลาที่ถูกนำเข้ามาในช่วงเดียวกับ ปลากระโห้เทศ และปลานวลจันทร์เทศ แต่ทั้งสองไม่ค่อยประสบความสำเร็จเมื่อเทียบกับปลายี่สกเทศ จนในปี พ.ศ. 2514 กรมประมงได้ทำการเพาะขยายพันธุ์ในแหล่งเพาะเลี้ยงสำเร็จ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของปลาชนิดนี้ในประเทศไทย หลังจากนั้นเพียง 1 ปี ปลายี่สกเทศก็ถูกปล่อยลงในแหล่งน้ำธรรมชาติของประเทศไทย
โดยลักษณะของปลายี่สกเทศคือ มีลำตัวยาวทรงกระบอก ส่วนหัวสั้น ปากเล็ก มีหนวดสั้นๆ 2 คู่ มีเกล็ดขนาดเล็กตามแนวเส้นข้างลำตัว ครีบหลังและครีบก้นมีขนาดเล็ก ครีบหางเว้าลึก ลำตัวด้านบนสีคล้ำ ปลาขนาดใหญ่จะมีจุดสีน้ำตาลแดงหรือน้ำตาลอ่อนแต้มที่เกล็ดแต่ละเกล็ด ท้องมีสีจาง ครีบสีคล้ำมีขอบสีชมพูอ่อนหรือแดง ..เจ้านี่ก็ยาวได้เกิน 100 เซนติเมตร
ยี่สกเทศเจริญ ยี่สกไทยตกต่ำ
คงต้องบอกว่าในสมัยที่ “ปลายี่สกเทศ” กำลังอยู่ดีกินดีในแหล่งน้ำไทย มันก็เป็นช่วงที่ “ปลายี่สกไทย” อยู่ในบัญชีตัวสีแดงๆ หรือก็คือใกล้สูญพันธุ์ มันตกต่ำจนถึงขีดสุด!
หากมองจากไทม์ไลน์ ในปี พ.ศ. 2512 การเพาะพันธุ์ของยี่สกไทยโดยกรมประมงยังไม่สำเร็จเลยด้วยซ้ำ โดยระหว่างนั้น เป็นการนับเวลาถอยหลังในการสูญพันธุ์ของยี่สกไทย …และกรมประมงก็ต้องแข่งกับเวลา
ทั้งนี้กว่ายี่สกไทยจะประสบผลสำเร็จในการผสมเทียม ก็เป็นปี พ.ศ. 2517 และต้องรออีกถึง 16 ปี หรือก็คือปี พ.ศ. 2533 จึงจะถึงจุดที่สามารถขยายพันธุ์จนกระจายสู่ธรรมชาติได้ แต่ก็ยังได้เพียงเล็กน้อย ต้องใช้เวลาอีกหลายปี กว่าปลายี่สกไทยจะกระจายไปในแหล่งน้ำหลักๆ ได้ ซึ่งระหว่างนั้น ยี่สกเทศก็ครอบครองแหล่งน้ำขนาดใหญ่จนผู้คนคิดว่า มันคือปลาที่มีถิ่นกำเนิดในไทย บางคนคิดว่ามันคือยี่สกไทยด้วยซ้ำ
สุดท้ายก็ขอสรุปซะหน่อย! ก็อย่างที่ได้ฟังได้ดูกันไป ปลาในสกุลของปลายี่สกจริงๆ ก็มีอยู่ 3 ชนิด และพวกมันทั้งหมดก็ถือว่าเป็นปลาหายากทุกตัวเลยทีเดียว แต่ก็มีเรื่องที่ดีอยู่เล็กน้อยตรงที่ ปลายี่สก ทั้ง 3 ชนิด ยังมีมูลค่าในการตลาดอยู่มาก ไม่เพียงจะเนื้ออร่อย ยังเป็นปลาแม่น้ำที่สวยงาม จึงนิยมเลี้ยงเป็นปลาตู้
เพราะแบบนี้! อย่างน้อยก็มีคนที่พยายามเพาะพันธุ์ปลาพวกนี้ จนความคิดเรื่องที่พวกมันจะสูญพันธุ์ไปอย่างสมบูรณ์นั้นน้อยลง เพราะยังพอที่จะหาปลามาปล่อยลงสู่ธรรมชาติได้เรื่อยๆ และผมก็ขอเน้นย่ำอีกที สำหรับสายมู ถ้าอยากจะหาปลาปล่อยทำบุญ ก็ควรปล่อยปลายี่สก 3 ชนิดที่ผมพูดถึงไป จะดีกว่าปล่อยพวกปลาดุกหน้าเขียงของพวกคุณแน่นอน