“การศึกษาพบว่าลิงอาจจะเรียนรู้เกี่ยวกับความตายในลักษณะเดียวกับมนุษย์ อาจจะต้องใช้เวลาและประสบการณ์เพื่อเข้าใจถึงการตาย มันอาจจะยังคิดว่าลูกของมันอาจจะยังฟื้นกลับมาได้ ความตายเป็นสิ่งที่ลึกลับตลอดมา” ดร. Alecia Carter นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยลอนดอนกล่าว
พฤติกรรมที่น่าแปลกประหลาด
การอุ้มลูกลิงที่ตายแล้วยังไม่มีคำอธิบายชัดเจนจนถึงทุกวันนี้ เนื่องจากมันไม่ได้มีประโยชน์อะไรให้กับตัวแม่เลย แต่พฤติกรรมที่มีมานานนี้ทำให้นักชีววิทยาด้านลิงของมหาวิทยาลัยลอนดอนเริ่มการศึกษาเรื่องนี้ ..ทีมงานย้อนกลับไปถึงปี 1915 จนถึง 2020 โดยรวบรวมเคสของลิงอุ้มศพ จากลิง 50 ชนิด ซึ่งร้อยละ 80 มีพฤติกรรมแบบนี้
ญาติที่ใกล้ชิดกับมนุษย์มากสุดคือลิงตัวใหญ่อย่างพวก กอริล่า ชิมแปนซีและอุรังอุตัง ลิงพวกนี้จะอุ้มศพลูกตัวเองนานที่สุด ตัวอย่างเช่น ในปี 2017 ลิงแสมเพศเมียในอุทยานธรรมชาติที่อิตาลี อุ้มลูกที่ตายไว้นานถึงสี่สัปดาห์ ก่อนที่มันจะกินซากของลูกมัน หนึ่งในเคสที่โด่งดังสุดในปี 2003 เมื่อแม่ลิงชิมแปนซีอุ้มศพลูกของมันสองตัวไว้เป็นเวลาหลายเดือน
แม้เราไม่ทราบว่าอะไรคือแรงจูงใจเบื้องหลังนี้ แต่รูปแบบนี้อาจจะโยงไปถึงด้านการปรับสภาพจิตใจ แม่ลิงบางตัวจะร้องอย่างตื่นตระหนกและโกรธแค้นเมื่อศพลูกถูกพรากไป นี่แสดงว่าการอุ้มศพลูกอาจจะเป็นการบรรเทาความเครียดของลิง
เมื่อลูกลิงแยกจากแม่ ทั้งลูกและแม่จะแสดงอาการตึงเครียดอย่างชัดเจน จากการศึกษาในปี 2011 แสดงให้เห็นว่าลูกลิงจะไม่หายจากความเครียดที่ถูกพรากจากแม่มา ทำให้มีแนวโน้มปัญหาทางจิตรวมถึงภาวะซึมเศร้าและทำให้เกิดความก้าวร้าวขึ้นได้
นักวิทยาศาสตร์ในอังกฤษพบว่า ยิ่งลูกลิงที่อายุน้อย แม่มันยิ่งจะอุ้มลูกไว้นานขึ้น อาจจะเพราะสายสัมพันธ์ อายุของแม่ลิงก็เป็นปัจจัยหนึ่งด้วย แม่ลิงที่ยังสาวจะอุ้มลูกที่ตายแล้วนาน แต่แม่ลิงที่มีอายุเยอะแล้ว บางตัวก็ไม่อุ้มลูกที่ตายเลย นักวิจัยคิดว่าแม่ลิงที่มีประสบการณ์อาจจะรับรู้ว่าลูกของมันจากไปแล้ว และมีความพร้อมทางจิตใจมากกว่าที่จะยอมรับความสูญเสีย
การตายจากอุบัติเหตุหรือสัตว์นักล่า มีโอกาสที่ทำให้มีการอุ้มศพน้อยกว่าการตายที่เกิดจากอาการป่วย การป่วยอาจไม่ได้ทำให้แม่ลิงคิดว่าลูกตัวเองตาย เพราะบางทีเหมือนพวกมันแค่หลับไปเฉยๆ
“มันแสดงให้เห็นว่าแม่ลิงที่มีความผูกพันธ์กับลูกมากเท่าไร ก็ยิ่งอุ้มร่างไร้วิญญาณของลูกมันได้นาน โดยอารมณ์อาจจะมีบทบาทสำคัญ จากการศึกษาของเรายังแสดงให้เห็นว่า จากประสบการณ์ของแม่ลิง มันอาจจะรับรู้ความตายของลูกได้ดีขึ้น และจะตัดสินใจ ที่ไม่อุ้มลูกที่ตายไปแล้ว แม้มันจะยังเสียใจจากการจากไปของลูกมันก็ตาม” Elisa Fernandez Fueyo ผู้ศึกษาร่วมจากมหาวิทยาลัยลอนดอน
ที่มาของการฝังศพของมนุษย์?
การค้นพบนี้ไม่เพียงแต่ทำให้เราเข้าใจว่าลิงจะต้องเสียใจขนาดไหนเมื่อต้องสูญเสียลูก แต่ยังรวมถึงวิธีจัดการกับความตายของสายพันธุ์นี้อีกด้วย โดยทางสังคมเราคล้ายกับลิงชิมแปนซีมาก เป็นไปได้ว่าการการฝังศพและความโศกเศร้าของมนุษย์ อาจจะมีต้นกำเนิดจากความผูกพันทางสังคม
“พฤติกรรมเหล่านี้อาจจะมีในมนุษย์ยุคแรกๆ และจะแปรเปลี่ยนเป็นพิธีกรรมและการปฏิบัติที่แตกต่างกันในช่วงการวิวัฒนาการของมนุษย์” Elisa Fernandex Fueyo กล่าว
“อย่างไรก็ตาม เราต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้เราพัฒนาความเข้าใจในเรื่องนี้ต่อไป และพฤติกรรมของลิงที่เกี่ยวข้องกับความตายอาจจะรวมถึงอารมณ์ที่เกี่ยวข้องคล้ายกับความโศกเศร้าของมนุษย์”