ทีมสำรวจสถาบันวิทยาศาสตร์รัสเซียและศูนย์พันธุศาสตร์บรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยสตอกโฮล์ม สวีเดน นำโดยนักวิจัยชาวรัสเซีย Gennady Boeskorov และ Alexey Tikhonov ได้ทำการศึกษาซากของลูกสิงโตสองตัวและตั้งชื่อมันว่า Sparta และ Boris ซากของพวกมันทั้งสองถูกค้นพบบริเวณริมแม่น้ำ Semyuelyakh ในไซบีเรีย
สิงโตถํ้าเป็นสายพันธุ์แยกของสิงโตปัจจุบัน คาดการว่าสองสายพันธุ์นี้ แยกจากกันเมื่อประมาณ 1.9 ล้านปีก่อน ปัจจุบันทีมวิจัยได้ทำการศึกษาซากของลูกสิงโตถ้ำอีกครั้ง เดิมทีนักวิจัยต้องศึกษาจากรูปวาดบนผนังถ้ำ รวมถึงการเปรียบเทียบกับสิงโตในปัจจุบันเพื่อศึกษาสภาพและหน้าตาของสิงโตถ้ำ แต่การค้นพบซากสิงโตทั้งสองตัวนี้ทำให้เข้าใจมันได้ง่ายขึ้นมาก
ลูกสิงโตถ้ำ Sparta เป็นซากสัตว์โบราณในยุคน้ำแข็งที่มี “สภาพดี” ที่สุดที่เคยค้นพบมา ขนสีทองของมันยังอยู่สภาพดีและไม่เสียหาย ฟัน ผิวหนัง แม้แต่อวัยวะภายในยังอยู่ในภาพสมบูรณ์ และแผงคอของพวกมันคล้ายกับสิงโตในปัจจุบัน พวกมันมีขนที่หนาเพื่อช่วยในการใช้ชีวิตในบริเวณที่อุณหภูมิต่ำได้
เดิมคิดว่าลูกสิงโตสองตัวนี้อายุไม่ห่างกัน ไม่ก็อยู่ในยุคเดียวกัน แต่จากการตรวจอายุจากรังสีพบว่า Sparta มีอายุ 27,962 ปี และ Boris อายุมากกว่า 43,448 ปี
พวกมันตายตอนอายุเพียง 1-2 เดือน ไม่มีร่องรอยการถูกโจมตีจากนักล่าอื่นๆ แต่การสแกนด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แสดงให้เห็นถึงความเสียหายของกะโหลกศีรษะ กระดูกซี่โครงเคลื่อนจากตำแหน่งปกติ และโครงกระดูกบิดเบี้ยว ทำให้เชื่อว่า ลูกสิงโตถ้ำทั้งสองตัวอาจเสียชีวิตในเหตุการณ์โคลนถล่ม หรือตกลงไปในรอยแยกของชั้นดินเยือกแข็ง
“สภาพซากที่สมบูรณ์ลักษณะนี้ พวกมันต้องถูกฝังอย่างรวดเร็ว เป็นไปได้ว่าอาจเกิดโคลนถล่ม หรือรอยแยกของแผ่นน้ำแข็ง”
สิงโตถ้ำพบได้ทั่วไปในไซบีเรียตะวันออกในช่วงปลายยุคไพลสโตซีน แต่จากหลักฐานล่าสุดพบว่ามันแพร่ไปถึงยุโรปและรวมถึงอเมริกาเหนือเช่นอลาสกาอีกด้วย
เหมือนกับสัตว์ใหญ่อื่นๆ ส่วนมากในยุคไพลสโตซีน สิงโตถ้ำสูญพันธุ์ไปเมื่อ 14,000 ปีก่อน ในช่วงการสิ้นสุดยุคน้ำแข็ง แต่ด้วยอุณหภูมิที่ต่ำกว่าศูนย์องศาในไซบีเรียช่วยเก็บรักษาซากสัตว์พวกนี้ไว้อย่างสมบูรณ์ ทำให้เรารู้ถึงการใช้ชีวิตในอดีตของพวกมัน และในอนาคตอาจจะนำพวกมันให้กลับมามีชีวิตอีกก็เป็นได้