หอยงวงช้างกระดาษ คืออะไร?
หอยงวงช้างกระดาษ จริงๆ ก็คือ หมึกสาย หรือ หมึกยักษ์ (octopus) มันแปลกประหลาด สวยงาม และพบเห็นได้ค่อนข้างยาก …และเพื่อไม่ให้สับสน ผมขอเรียกว่า “หอยงวงช้างกระดาษ” จะไม่ขอเรียกว่าหมึกนะครับ แต่ก็ขอให้เข้าใจตรงกันว่า มันคือก็คือ หมึก
หอยงวงช้างกระดาษ (Paper nautilus) อยู่ในสกุล อาร์โกเนาตา (Argonauta) มีอยู่อย่างน้อย 7 ชนิด โดยมี อาร์โกเนาตา อาร์โก เป็นชนิดต้นแบบ (Argonauta argo) ในน่านน้ำไทยบางแหล่งข้อมูลบอกว่ามี 3 ชนิด แต่น่าเสียดายที่ไม่สามารถระบุชนิดที่ชัดเจนได้ ผมจึงต้องขอข้ามการพูดถึงทั้ง 3 ชนิดไปก่อน
หอยงวงช้างกระดาษ ตัวเมียอาจยาวได้ถึง 40 เซนติเมตร ในขณะที่ตัวผู้จะไม่เกิน 3 เซนติเมตร มันเป็นขนาดที่ต่างกันจนไม่คิดว่ามันคือหอยงวงช้างกระดาษเหมือนกัน ส่วนเรื่องเปลือกหอย จริงๆ แล้วจะมีในตัวเมียเท่านั้น ซึ่งเปลือกของมันไม่ได้สร้างมาจาก อาราโกไนต์ (Aragonite) เหมือนกับเปลือกหอยทั่วไป แต่เป็น แคลไซต์ (Calcite) และมีสัดส่วนของแมกนีเซียมคาร์บอเนตที่สูงกว่า (7%) โดยรวมแล้ว เปลือกของหอยงวงช้างกระดาษจะเปราะบางคล้ายกระดาษ และมันก็เป็นที่มาของชื่อ โดยเปลือกมีหน้าที่สำคัญคือ เอาไว้วางไข่ มิได้เอาไว้ป้องกันตัวแต่อย่างใด
โดยทั่วไปหอยงวงช้างกระดาษ จะอาศัยในทะเลที่ห่างไกลจากชายฝั่ง ทั้งในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน ตั้งแต่ระดับผิวน้ำไปจนถึงระดับน้ำลึกประมาณ 100 เมตร พวกมันมีลักษณะการใช้ชีวิตที่ต่างกัน บางทีก็ลอยไปตามน้ำ บางทีก็ว่ายน้ำเอง บางทีก็เกาะกันเป็นกลุ่มหลายสิบตัวแล้วก็ลอยไปเรื่อยๆ บางทีก็ไปเกาะติดกับแมงกะพรุน หรืออะไรสักอย่าง
การผสมพันธุ์ที่แปลกประหลาด
เพราะเมียหนักกว่าตัวผู้หลายร้อยเท่า การผสมพันธุ์แบบทั่วไปจึงไม่สามารถทำได้ …ความจริงมันใกล้เคียงกับปลาแองเกลอร์ฟิช ในแง่ที่ว่า ตัวผู้มีขนาดเล็กมากๆ และเพื่อที่จะได้ผสมพันธุ์ ตัวผู้จะเข้าไปเกาะติดกับตัวเมียที่ใหญ่กว่ามันมากๆ จากนั้นก็หลอมรวมเข้ากับตัวเมียจนดูคล้ายเมล็ดสิว และเมื่อมันทำแบบนั้นก็จะไม่สามารถจากไปได้อีกเลย!
แต่หอยงวงช้างกระดาษ มีวิธีที่ต่างกัน! เพราะถึงยังไงซะ มันก็คือหมึก! ตัวผู้จะมีหนวดอยู่หนึ่งเส้นที่ได้รับการพัฒนาเอาไว้ใช้สืบพันธุ์ ซึ่งจะเรียกว่า เฮกโตโคไทลัส (Hectocotylus) …มันก็คืออวัยวะสืบพันธุ์ของหมึกนั้นละ
โดยความพิเศษของหนวดเส้นนี้คือ สามารถแยกออกจากร่างกายได้ แถมเมื่อแยกออกไปยังเคลื่อนที่เองได้อีก จริงๆ มันคล้ายจรวดนำวิถี ที่เมื่อถูกยิงออกไปก็จะตามไปหาตัวเมียเป้าหมายได้ แน่นอนว่ามีพลาดเป้า แถมเมื่อติดตัวเมียได้แล้ว หนวดยังกระดืบๆ ต่อไปได้จนกว่าจะได้ปลดปล่อยสเปิร์มในตัวเมีย
หลังจากที่ผสมพันธุ์แล้ว ตัวเมียจะเริ่มสร้างเปลือกโดยการหลั่งแคลไซต์ออกมาจากปลายหนวด มันจะเป็นกระบวนการที่ยาวนานและต่อเนื่อง เมื่อเสร็จสิ้นก็จะกลายเป็นเปลือกกระดาษที่สวยงาม และภายในเปลือกก็จะอัดแน่นไปด้วยไข่
ส่วนเรื่องที่ตัวผู้หลังจากยิงหนวดออกไปแล้วจะเป็นเช่นไร? บางแหล่งข้อมูลบอกว่าจะตายจากไป แต่! ข้อมูลนี้ยังไม่สามารถยืนยันได้ ส่วนหนวดจะงอกออกมาหรือไม่? คำตอบคือไม่! อย่างน้อยในตอนนี้นักวิจัยก็ยังไม่พบหลักฐานการงอกใหม่ของหนวด
สุดท้าย! อย่างที่บอกเอาไว้ หอยงวงช้างกระดาษ มักจะอาศัยอยู่ในบริเวณผิวน้ำมากกว่าพื้นทะเล โดยเปลือกมีวิธีการใช้งานที่พิเศษอีกอย่างคือ มันจะลอยขึ้นไปที่ผิวน้ำ ดูดกลืนอากาศเอาไปเก็บไว้ที่เปลือกบางส่วน จากนั้นก็ดำลงไปจนกว่าฟองอากาศที่ติดอยู่ในเปลือกจะอยู่ในจุดสมดุลย์ จากนั้นมันจะสามารถรักษาตำแหน่งความลึกเอาไว้ได้โดยที่ไม่ต้องใช้พลังงานเลย มันก็แค่ต้องออกแรงมากขึ้นเมื่อต้องการจะหนี เปลี่ยนทิศ หรือจะไปให้เร็วขึ้น