เสือโคร่งจีนใต้ หรือ เสือโคร่งจีน หรือ เสือโคร่งเซียะเหมิน (South China tiger) เป็นเสือโคร่งสายพันธุ์ย่อย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Panthera tigris amoyensis มีรูปร่างเหมือนเสือโคร่งทั่วไป แต่มีสีขนที่อ่อนกว่าเสือโคร่งเบงกอล มีหางสั้นกว่า มีลวดลายที่น้อยกว่า นับเป็นเสือโคร่งชนิดที่มีลวดลายน้อยที่สุด มีขนาดรูปร่างและน้ำหนักเล็กกว่าเสือโคร่งอินโดจีนเล็กน้อย
เสือชนิดนี้อาศัยอยู่ในบริเวณประเทศจีนมากว่า 2 ล้านปีแล้ว และเชื่อว่าเป็นต้นสายพันธุ์ของเสือโคร่งพันธุ์อื่น ๆ แต่ปัจจุบัน มีสถานะขั้นวิกฤตในธรรมชาติ พบในธรรมชาติครั้งสุดท้ายเมื่อปี 1964 คาดว่ามีเหลืออยู่ในธรรมชาติราว 30 ตัว (อาจไม่มีแล้ว) และมีไม่กี่สิบตัวที่อยู่ในสวนสัตว์ประเทศจีน ในอดีตเชื่อว่าอาจมีในเกาหลีใต้ด้วย แต่ปัจจุบันไม่พบแล้ว
เสือโคร่งจีนใต้ เป็นเหยื่อของการทำลายล้างจากการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของประเทศจีน ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1950 – 1960 ซึ่งการมาถึงของกฎหมายคุ้มครองนั้นสายไป
การประกาศห้ามล่าในปี 1979 รวมทั้งออกมาตรการเพื่อการอนุรักษ์อีกมากมายในทศวรรษ 1990 แต่น่าเสียดาย ที่เมื่อถึงเวลานั้นประชากรเสือโคร่งก็ลดลงอย่างไม่อาจฟื้นฟูได้
นักอนุรักษ์บางคนมองว่า พื้นที่คุ้มครองที่ไม่มีการรบกวนจากกิจกรรมของมนุษย์ ยังมีไม่เพียงพอที่จะฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งขึ้นมาใหม่ได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เห็นพ้องกัน เพราะกลุ่ม “Save China’s Tigers” ได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานเพื่อการอนุรักษ์ป่าของรัฐ ได้ดำเนินโครงการที่หลายคนไม่เห็นด้วยคือ “Rewilding” ที่จะนำชนิดพันธุ์ที่ถูกเพาะเลี้ยง
ไปปล่อยไว้ในเขตอนุรักษ์ทางตอนใต้ของแอฟริกา เพื่อเรียนรู้การเอาตัวรอดและเพิ่มจำนวนประชากร ก่อนที่จะนำกลับมาปล่อยในป่าของประเทศจีน ในขณะที่นักอนุรักษ์หลายกลุ่มมองว่าเป็นการกระทำที่สิ้นหวัง แต่โครงการก็ยังคงเดินหน้าต่อ ซึ่งในปี 2012 มีลูกเสือโคร่งราว 12 ตัวได้รับการเพาะเลี้ยงเพื่อโครงการนี้
อนึ่งในตอนนี้ “เสือโคร่งจีนใต้” จัดเป็นสัตว์เฉพาะถิ่นและสัตว์ป่าคุ้มครองระดับสูงสุดของจีน รวมถึงจัดเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งของ IUCN