ปลาสวายลึกลับ วางไข่ต้นแม่น้ำโขง เติบโตในทะเลลึก

พอดีได้ทำเรื่องที่เกี่ยวกับปลาสวายไป แล้วได้เห็นข้อมูลของสวายชนิดนึงที่จะวางไข่ที่ต้นน้ำของแม่น้ำโขง และออกไปเติบโตในทะเล มันทำให้คิดว่า มีปลาสวายแบบนี้อยู่จริงๆ หรือ? ก็เลยลองไปค้นข้อมูลเพิ่มเติมมา แต่น่าเสียดายที่เรื่องราวของปลาชนิดนี้มีน้อยมากๆ แต่! ถึงอย่างงั้นผมก็จะพยายามรวบรวมเอามาไว้ในเรื่องนี้ เพื่อให้ทุกคนได้รู้จักกับปลาสวายลึกลับชนิดนี้ และเรื่องนี้รูปก็ค่อนข้างน้อยนะครับ ..ถ้าดูแล้วชอบก็อย่าลืมแชร์กันด้วยนะ

ปลาสวายหายากที่อาศัยอยู่ระหว่างทะเลและต้นแม่น้ำโขง

Advertisements

แม่น้ำโขงเป็นหนึ่งในแม่น้ำที่ยาวที่สุดในโลก เริ่มต้นจากบริเวณที่ราบสูงทิเบตในประเทศจีน ผ่านไทยและไปออกทะเลที่เวียดนาม เป็นแม่น้ำที่มีความหลากหลายของพันธุ์ปลาเป็นอันดับสองรองมาจากแม่น้ำแอมะซอน ในบรรดาปลาที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำโขงอย่างน้อย 1,100 ชนิด มีปลาที่อพยพระหว่างน้ำจืดและน้ำทะเลเพื่อการสืบพันธุ์อยู่เพียง 61 ชนิด นี่แสดงให้เห็นว่า ปลาที่มีวงจรชีวิตแบบนี้มันหายากแค่ไหน?

หนึ่งในปลาที่หายากนี้ก็คือ ปลายาว หรือ ปลาซวยหางเหลือง (Pangasius krempfi) มันเป็นปลาที่อยู่ในวงศ์ปลาสวาย (Pangasiidae) ซึ่งโดยปกติแล้ว มีปลาหลายชนิดที่อยู่ในวงศ์นี้ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและนิเวศวิทยาในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างอย่างมาก และปลายาวเองถือเป็นปลาเนื้อดีที่มีราคาแพงที่สุดในปลาวงศ์นี้ด้วย โดยราคาขายในเวียดนามอยู่ที่ 4 – 6 แสนดอง ต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 6 – 9 ร้อยบาทไทยต่อกิโลกรัม เรียกว่าแพงกว่าปลาบึกแบบไม่เห็นฝุ่นเลย ซึ่งเป็นราคาขายทั้งตัว

ด้วยราคาที่ดีขนาดนี้ มันจึงตกเป็นเป้าหมายหลักในการจับปลาของชาวประมงที่อยู่ตามลุ่มแม่น้ำโขง ตั้งแต่ประเทศลาว กัมพูชา เวียดนาม ในขณะที่ประเทศไทย ถือว่าพบปลาชนิดนี้ได้น้อย

และเพราะการจับที่มากเกินไป ประกอบกับเขื่อนที่สร้างมากขึ้น มวลพิษทางน้ำเพิ่ม จึงทำให้ปลาชนิดนี้ รวมทั้งพี่น้องของมันอย่างปลาบึก ต้องมีประชากรลดลงเป็นอย่างมาก …สุดท้ายมันจึงอยู่ในสถานะไม่มั่นคง (VU) อีกนิดอาจจะถูกย้ายไปที่สถานะใกล้สูญพันธุ์

เรารู้อะไรเกี่ยวกับปลาชนิดนี้อีกบ้าง?

สำหรับข้อมูลของปลาชนิดนี้ ตั้งแต่ต้นกำเนิดไปจนถึงวงจรชีวิต ถือว่ายังไม่ได้รับการศึกษามากนัก เนื่องจากมันเป็นปลาที่หายาก ติดตามได้ยาก และยังแปลกประหลาด เท่าที่ทราบคือ พวกมันจะเติบโตอยู่แถวๆ ปากแม่น้ำและพื้นที่ชายฝั่งของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ประเทศเวียดนาม และเคยมีการตกได้ในทะเลนอกชายฝั่งด้วย

เมื่อปลาโตขึ้นจนพร้อมที่จะผสมพันธุ์ พวกมันจะเริ่มอพยพไปยังพื้นที่น้ำจืดบริเวณต้นน้ำของแม่น้ำโขงเพื่อวางไข่ แต่! ข้อมูลที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ค่อนข้างจำกัด คาดว่าเป้าหมายของการอพยพไปวางไข่จะอยู่บริเวณน้ำตกคอนพะเพ็งจนถึงชายแดนไทย-ลาว ห่างจากทะเลอย่างน้อย 720 กิโลเมตร …และจากการศึกษาล่าสุดพบว่า ปลาชนิดนี้สามารถเดินทางได้ลึกเข้าไปในต้นน้ำถึง 1,400 กิโลเมตร

Advertisements

สำหรับฤดูวางไข่ของปลายาว อาจอยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคมจนถึงต้นเดือนพฤศจิกายน หลักฐานคือ มีการพบปลายาวที่โตเต็มวัยว่ายเข้ามาที่น้ำตกคอนพะเพ็งในประเทศลาว ส่วนสาเหตุที่มีฤดูวางไข่ที่ยาวนานเช่นนี้ น่าจะเกิดจากการอพยพของปลาหลายกลุ่มในช่วงเวลาที่ต่างกัน … และนี่ก็คือเรื่องที่เราพอจะรู้ในตอนนี้

สำหรับปลายาว หรือ ปลาซวยหางเหลือง (Pangasius krempfi) ตามที่หนังสือปลาน้ำจืดไทย ได้เขียนเอาไว้ว่า มันเป็นปลาที่ยาวประมาณ 120 เซนติเมตร โดยตัวใหญ่ที่สุดที่เคยมีการบันทึกไว้ใน fishing-worldrecords คือยาว 120 เซนติเมตร และหนัก 21 กิโลกรัม ถูกตกได้ในเวียดนาม

มีลำตัวเพียวยาว หางเป็นแผ่นใหญ่เว้าคล้ายจันทร์เสี้ยวสีเหลืองอ่อนๆ ความจริงรูปร่างหน้าตาทางกายภาพของปลาชนิดนี้ค่อนข้างใกล้เคียงกับปลาสวายที่พบตามท่าน้ำวัด แต่มันจะมีวงจรชีวิตคล้ายกับปลาแซลมอน คืออาศัยในทะเลและกลับมาวางไข่ที่ต้นน้ำ

สรุปกันซะหน่อย สำหรับ ปลายาว หรือ ปลาซวยหางเหลือง ถือเป็นปลาที่แปลกและหายาก และในไทย ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าหายากจริงหรือไม่ เพราะเท่าที่ค้นๆ ดู ก็มีคลิปที่จับปลาชนิดนี้ได้ แต่! ผมเองก็ไม่แน่ใจว่ามันเป็นชนิดเดียวกันหรือไม่ เพราะก็มีหน้าตาคล้ายสวาย และบางทีมันก็เป็นชื่อท้องถิ่นอีก

ส่วนเรื่องปลายาวซึ่งเป็นปลาอพยพที่ต้องเดินทางไกล ดูทรงแล้วคงจะเดือดร้อนไม่แพ้ปลาบึกแน่ เพราะเส้นทางของมันส่วนใหญ่ก็ถูกปิดกั่นด้วยเขื่อน และแม้เขื่อนหลายแห่งจะมีบันไดปลาโจน แต่! ปลาตัวใหญ่ไม่สามารถใช้สิ่งนี้ได้ …ด้วยเหตุนี้สถานะของปลายาวในธรรมชาติ น่าจะต้องนับถอยหลังกันแล้ว และยิ่งมันเป็นปลาที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก โอกาสที่จะได้รับการอนุรักษ์ก็ยิ่งน้อยลง …ก็ได้แต่หวังว่ามันจะรอดปลอดภัยและมีประชากรเพิ่มขึ้นในอนาคต

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements