ปลาดอรี่ กับ ปลาสวายชนิดเดียวกัน?
ปลาดอรี่ในซุเปอร์มาร์เก็ตเป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง ภายหลังจากมีคดีความฟ้องร้องกันเรื่องของการตั้งชื่อสินค้า ทำให้มีความสับสนต่อความเข้าใจของผู้บริโภค ทำให้ต้องเรียกชื่อสินค้าเต็มยศเพื่อให้ความกระจ่างต่อผู้บริโภค โดยชื่อที่ปรากฎอยู่ตามบรรจุภันฑ์จะถูกเรียกว่า Pangasius Dory โดยในบทความนี้จะขอเรียกว่า “สวายเนื้อขาว”
คำว่า Pangasius (อ่านว่า แพน กา เซียส) เป็นคำที่ใช้เรียกกลุ่มปลาแคทฟิชชนิดหนึ่ง ในประเทศไทยกลุ่มปลาชนิดนี้ประกอบด้วย ปลาสวาย เทโพ เทพา ปลาบึก ปลาเผาะ สังขวาด และอีกหลายชนิด ซึ่งทั้งหมดจะมีรูปลักษณะคล้ายคลึงกันเป็นอย่างมาก แต่ทั้งหมดล้วนเป็นคนละสปีชีย์กัน
โดยปลาสวายเนื้อขาวนั้นมีชื่อวิทยาศาสตร์ของตัวเองว่า Pangasius hypopthalmus เป็นชื่อเดียวกับปลาสวายที่ว่ายน้ำอยู่ตามห้วยหนองคลองบึงในบ้านเรานั่นเอง แต่ถ้าถามว่ามันเป็นปลาชนิดเดียวกันหรือไม่ ? .. “คำตอบคือ “ไม่ใช่” มันเป็นปลาสปีชีย์เดียวกันแต่ต่างชนิดกัน”
สวายเนื้อขาว พัฒนาสายพันธุ์จากเวียดนาม
สวายเนื้อขาว เป็นปลาสวายที่ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์จากทางเวียดนาม โดยที่รูปร่างลักษณะภายนอกแทบไม่มีความแตกต่างแบบมีนัยยะสำคัญ แต่ว่าเนื้อปลาจะมีสีขาวอมชมพู ปราศจากกลิ่นคาว เนื้อแน่นกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับปลาสวายที่อาศัยอยู่ในบ้านเราทั้งในแหล่งน้ำธรรมชาติและฟาร์มที่เพาะพันธุ์
ทางเวียดนาม จะมีฟาร์มเลี้ยงปลาสวายเนื้อขาวอยู่ไม่ห่างจากทะเล ทำให้วัตถุดิบราคาถูกที่หามาทำอาหารปลาคือปลาป่น ทีนี้ปลาป่นไม่ได้ช่วยแค่ให้เนื้อไม่เหลือง แต่ว่ามันมีโปรตีนที่สูงกว่าด้วย จึงทำให้เนื้อปลานั้นแน่นกว่าสวายในบ้านเรา
ข่าวลวง
ตอนแอดมินหาข้อมูลเรื่องปลาดอรี่แล้วพบว่ามีข่าวลวงเรื่องหนึ่งที่ชวนตะลึง แถมยังมีการระบาดซ้ำอีกด้วยในอีกหลายปีถัดมา นั่นคือเรื่องที่เค้าเคลมว่าปลาเนื้อขาวนั้นได้จากการฟอกเนื้อปลากับผงซักฟอก !? อิหยังวะ ?
ที่อึ้งคือมีคนเชื่อและเอาไปแชร์กันใหญ่เลย ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเค้าก็ออกมาชี้แจงตั้งแต่ตอนรอบแรกแล้ว เค้ายังแซวอยู่เลยว่าถ้าฟอกขาวด้วยผงซักฟอกพวกเรากินเข้าไปคงมีคนที่ฟองออกปากบ้างแหละ
เครือซีพีไปลงทุนที่เวียดนาม
อันที่จริงเราต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า อุตสาหกรรมเลี้ยงปลาสวายเนื้อขาวนั้นมีขนาดใหญ่มากในประเทศเวียดนาม เทียบแล้วอาจจะใหญ่กว่าการเลี้ยงปลากะพงในบ้านเราเสียอีก ดังนั้นจึงมีการวิจัยพัฒนาสายพันธุ์และนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาเพื่อประยุกต์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
บ้านเราเครือซีพีก็ไปลงทุนทำธุรกิจสวายเนื้อขาวครบวงจรอยู่ที่นั่นเช่นกัน เริ่มตั้งแต่เพาะพันธุ์ไปยันแปรรูปส่งขายทั่วโลกและก็ใช่ครับส่งกลับมาที่บ้านเราด้วย
สวายเนื้อขาว พิเศษ ไม่ใช่แค่เพราะสายพันธุ์
ตามที่เกริ่นไว้ฟาร์มปลาสวายเนื้อขาวมักตั้งอยู่ใกล้กับทะเล เค้าตั้งกันอยู่ริมฝั่งน้ำโขงเพราะแถวนั้นมีมวลน้ำจืดมากมายมหาศาล และระดับน้ำขึ้นลงในแต่ละวันค่อนข้างเยอะ นั่นมีผลต่อการหมุนเวียนน้ำในบ่อเลี้ยงปลา มันคือการเปลี่ยนถ่ายน้ำใหม่ทุกวันนั่นเอง
พอน้ำเข้าออกทุกวันมันก็จะสะอาดอยู่เสมอมีค่าออกซิเจนละลายน้ำสูง นั่นส่งผลดีต่ออัตราการเจริญเติบโตของปลาและยังสามารถเลี้ยงปลาได้หนาแน่นขึ้นด้วยพื้นที่เท่ากัน
เมื่อปลาหนาแน่นขึ้น ก็ต้องระมัดระวังเรื่องการให้อาหารว่าไม่ใช่แค่เพียงพอแต่ต้องทั่วถึงด้วย ไม่งั้นปลาจะแตกไซส์และตัวที่ใหญ่กว่าก็จะแย่งกินไปเรื่อยๆ ตัวเล็กก็จะอดกินและไม่โต ที่นั่นเค้ามีเครื่องสาดอาหารอัตโนมัติเพื่อกระจายอาหารปลาให้ทั่วถึงทั้งบ่อลดปัญหาการแตกไซส์ของปลา และนั่นก็ลดอัตราการเสียหายของปลาไปด้วย
นั่นแปลว่า ไม่ใช่แค่เปลี่ยนอาหารเลี้ยงปลาสวายในบ้านเราแล้วจะได้เป็นสวายเนื้อขาวเลยทันที มันมีเรื่องสายพันธุ์ ชนิดอาหาร และระบบการเลี้ยงสอดคล้องกันอยู่
ทำไมสวายเนื้อขาวถึงเรียกว่า ดอรี่?
ทำไมสวายเนื้อขาวถึงถูกเอาไปเรียกว่า ดอรี่ ได้ล่ะ ? ก็เพราะเนื้อมันมีลักษณะและรสชาดใกล้เคียงกับ John Dory จริงๆ ครับ และสีของเนื้อก็ยังดูน่าทานกว่าด้วย ดูดีกว่า ถูกกว่า หาได้ง่ายกว่า ทำให้ปัจจุบันปลา John Dory นั้นได้รับความนิยมลดลงเรื่อยๆ และไม่ใช่แค่ในประเทศไทยเท่านั้น
ในเมื่อสวายเนื้อขาวมันดูมีศักยภาพขนาดนี้ บ้านเราก็เคยมีคนเล็งเห็นเหมือนกันครับ เมื่อเกือบยี่สิบปีก่อนถึงกับเอามาทำเป็นยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัดกันเลย หมายจะผลิตและส่งออกต่างชาติสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร แต่โครงการก็ขาดทุนล้มพับไปไม่เป็นท่า มีเพียงข้อมูลบันทึกไว้ว่าโครงการขาดทุนไม่ประสบผลสำเร็จ
เคยมีคนเลี้ยงปลาผิด สรุปขาดทุนยับ
โครงการที่ว่านี้เค้าเข้าใจว่าสวายเนื้อขาวคือ “ปลาเผาะ” เพราะมีรสชาดและสีเนื้อใกล้เคียงกันมาก ก็เลยเอามาปลาเผาะมาเพาะพันธุ์แล้วเลี้ยงขุนขึ้นมา ถึงตรงนี้แอดมินว่าหลายคนอาจจะอ๋อกันละว่าทำไมมันขาดทุน คือเค้าก็ไม่ได้ระบุเหตุผลไว้ชัดเจนว่าเพราะอะไร มีปัญหาที่การบริหารรึเปล่าก็ไม่รู้
ไอ้เจ้าปลาเผาะเนี่ยขนาดโตที่สุดของมันคือ 120 ซม. ในขณะที่ปลาสวายมันโตได้ 200 ซม. เอาแค่เบื้องต้นก็พอจะเดาได้แล้วว่าปลาเผาะจะโตช้ากว่าสวาย อัตราการเจริญเติบโตช้ากว่า ฯลฯ แต่ทั้งหมดทั้งมวลมันควรจะเริ่มต้นจากไปดูฟาร์มตัวอย่างก่อนมั๊ยว่ามันไม่ใช่ปลาเผาะแบบบ้านเราว้อย !! ไม่อยากจะเชื่อว่าโครงการถึงขั้นลงมือทำจนขาดทุนโดยที่มารู้ทีหลังว่าอ้าวเพาะปลาผิดชนิด มันคืออะไร!!?
สวายไทยเป็นยังไง?
ไหนๆ ก็เขียนเรื่องปลาสวายเนื้อขาวแล้ว ก็เล่าเรื่องสวายบ้านเราต่อหน่อยแล้วกัน สำหรับตลาดปลาสวยงามนั้นปลาสวายจัดอยู่ในกลุ่มสินค้าขายดี หลายคนฟังแล้วคงรู้สึกประหลาดใจ คือภาพจำของพวกเราส่วนใหญ่เวลาพูดถึงปลาสวายก็มักจะนึกถึงภาพที่ปลามันแย่งกันกินอาหารอยู่ตามลานวัด ก็เลยไม่เห็นว่ามันน่าดูตรงไหน
แต่อันที่จริงแล้วปลาสวายมันเท่ห์มากอยู่นะ ถ้ามีโอกาสได้เห็นมันจากภาพไซด์วิวคิดว่าหลายคนคงเริ่มเปลี่ยนความเห็นเป็นมันก็ดูดีเหมือนกันนี่หว่า รูปทรงเพรียวยาวมีความป้อมในช่วงครึ่งตัวหน้า ครีบหลังยาวโค้ง บริเวณหัวถึงครีบหลังลาดตรง ไม่มีเกล็ด ผิวปลาเหลือบสีน้ำเงินเข้ม
โดยปลาสวายมีชื่อสามัญภาษาอังกฤษว่า “iridescent shark” แปลว่า ฉลามที่มีสีเหลือบรุ้ง ..เงื่อนไขเดียวสำหรับการส่งออกปลาสวายคือ ลูกค้าแทบทุกคนต้องการปลาขนาดเล็ก ยิ่งเล็กยิ่งดี จะได้แพคไปในจำนวนที่เยอะขึ้นต่อหนึ่งกล่อง
เพราะปลาสวายโตเร็วมาก จากหนึ่งนิ้วครึ่งเป็นสองนิ้ว ถ้าให้อาหารเต็มที่ไม่เกินหนึ่งสัปดาห์ก็ได้ขนาดแล้ว ดังนั้นใครจะไปสั่งสองนิ้วล่ะ เค้าก็สั่งนิ้วครึ่งหรือเล็กกว่านั้นกันทั้งนั้นล่ะ
ซึ่งมันก็ไม่ง่ายนักที่จะหาสวายขนาดเล็กให้ได้ในทุกสัปดาห์ที่ส่งสินค้า และมันก็มีฤดูกาลที่เพาะไม่ได้ด้วยเช่นกัน หลายประเทศเค้าก็ซื้อลูกปลาไปลงบ่อแล้วก็ขุนทำไซส์ขึ้นมาขายเป็นปลาอาหารบ้าง ปลาสวยงามบ้าง เป็นปลาที่ได้รับความนิยมมาเนิ่นนานและก็คงได้รับความนิยมต่อไปอีกนาน
อ้างอิงงานเขียนจาก เพจ Thai Fish Shop
อ่านเรื่องอื่น
ปลากดอเมริกัน ตอนนี้เข้าสู่แหล่งน้ำธรรมชาติของไทยแล้ว
ปลาบึก ปลาที่ใกล้สูญพันธุ์ สู่ปลาประจำบ่อฟิชชิ่งปาร์คได้อย่างไง..?