เมื่อไม่นานนี้ มีรายงานการพบแมวพัลลัส (Pallas’s cat) บนยอดเขาเอเวอเรสต์ ทางตะวันออกของเนปาล ซึ่งถือเป็นการพบครั้งแรกของการบันทึกทางวิทยาศาสตร์ หลังจากที่นักวิจัยตรวจสอบสารพันธุกรรม จากตัวอย่างอุจจาระแมว พวกเขาก็ว่ามันกินอะไรเข้าไปบ้าง ดูเหมือนพังพอนภูเขาที่โชคร้ายเพิ่งจะโดนแมวตัวนี้จัดการไป
โดยนักวิจัยได้เก็บตัวอย่างอุจจาระของแมวพัลลัส ได้จากพื้นที่สองแห่ง ซึ่งอยู่ห่างกัน 6 กิโลเมตร มันเหมือนไม่ไกล แค่คุณอย่าลืมว่านี่คือยอดเขาเอเวอเรสต์ ซึ่งสูงเกิน 5,000 เมตร และจากการวิเคราะห์ DNA นักวิจัยพบว่าเป็นแมวพัลลัส 2 ตัว …น่าเสียดายที่พวกเขาไม่สามารถติดตามตำแหน่งของพวกมันได้
แมวพัลลัส (Pallas’s cat) เป็นแมวขนปุยที่มีขนาดใกล้เคียงกับแมวบ้าน ปกติมันจะสูงประมาณ 50 เซนติเมตร และมีหางยาวประมาณ 30 เซนติเมตร มันเป็นแมวที่ได้ชื่อว่าขนหนาแน่นที่สุดในโลก และเพราะขนพิเศษของมัน จึงทำให้แมวตัวผอมๆ กลายเป็นแมวอ้วนกลมเป็นลูกชิ้นได้เลย
และแม้ว่าแมวพัลลัสจะเป็นแมวป่า แต่มันไม่ได้เป็นนักวิ่งที่ดีเลย วิธีล่าของมันไม่ใช่การวิ่งตาม แต่เป็นวิธีหลบซ่อนตามจุดอับต่างๆ และบางทีมันรอเหยื่อที่ปากทางเข้าออก รอให้เหยื่อวิ่งเข้ามาใกล้ ค่อยจับ ถ้าเข้าปากเองเลยยิ่งดี ส่วนอาหารของมันก็เป็นพวกสัตว์ฟันแทะขนาดเล็ก นก ถ้าไม่มีอะไรกินมันก็กินแมลงได้
ในตอนนี้แมวพัลลัส “เกือบอยู่ในข่ายเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ” เพราะการกระจายพันธุ์เป็นวงกว้างของมัน ประกอบกับฤดูผสมพันธุ์ที่สั้นมาก โดยตัวเมียจะติดสัดเพียง 26 – 42 ชั่วโมงเท่านั้น และยังยากที่จะเลี้ยงในสภาพกักขัง จึงยากที่จะดูแลอย่างใกล้ชิดเช่นกัน …สุดท้ายก็หวังว่าพวกมันจะเพิ่มจำนวนได้ในเร็ววัน