เรื่องราวของ ‘ค้างคาวสีส้ม’ ค้างคาวข้อมูลน้อยและพบได้ยากในไทย

สารภาพความตรงว่า เกิดมาก็เพิ่งรู้ว่ามีค้างคาวแบบนี้อยู่ในไทยด้วย ถ้าไม่ใช่เพราะมีผู้ชมในช่องทักมา ผมก็คงไม่รู้จักมันต่อไป มันเป็นค้างคาวที่ดูโดดเด่น ตัวเล็กและมีสีส้มสดใส มันค่อนข้างต่างจากค้างคาวที่พวกเรารู้จักอยู่เล็กน้อย และแม้ค้างคาวชนิดนี้จะมีถิ่นอาศัยอยู่ในประเทศไทย แต่ก็พบได้ยากมากซะจนเมื่อมันถูกพบก็มักจะกลายเป็นข่าวไป ...และนี่ก็คือเรื่องราวของค้างคาวแปลกๆ ชนิดนี้ ถ้าดูแล้วชอบก็อย่าลืมกดติดตาม กดกระดิ่งกันนะครับ

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ ค้างคาวยอดกล้วยผีเสื้อ

Advertisements

ค้างคาวยอดกล้วยผีเสื้อ หรือ ค้างคาวสี (painted bat) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า เคริโวลา พิคตา (Kerivoula picta) อยู่ในวงศ์ของค้างคาวกินแมลง (Vespertilionidae) เป็นค้างคาวที่พบได้ทั่วประเทศไทย ในต่างประเทศพบใน อินเดีย, ศรีลังกา, พม่า, ตอนใต้ของประเทศจีน, เวียดนาม, มาเลเชีย และ อินโดนีเซีย

ค้างคาวยอดกล้วยผีเสื้อ เป็นค้างคาวขนาดเล็ก มีรูปร่างที่เปราะบาง หูทรงกรวยขนาดใหญ่ มีน้ำหนัก 5 – 10 กรัม ลำตัวและหางมีความยาวเท่ากัน ความยาวลำตัว 3 – 5.5 เซนติเมตร ปีกกว้าง 15 – 30 เซนติเมตร โดยค้างคาวชนิดนี้จะมีสีส้มสดใสจนถึงแดงเข้มหรือส้มแกมน้ำตาล บางส่วนของท้องจะเป็นสีขาว ปีกมีสีดำมีสีส้มตามนิ้วหรือโครงปีก มีขนที่ยาวและค่อนข้างหยิก …ค้างคาวเพศผู้จะมีสีสันสดสวยมากกว่าเพศหญิง

ตามรายงานค้างคาวชนิดนี้ถูกพบในบังคลาเทศ เมื่อปี พ.ศ.2431 แล้วก็ไม่เจออีกเลยนับร้อยปี จนเชื่อว่าได้สูญพันธุ์ไปจากประเทศแล้ว จนในปี พ.ศ.2564 ก็มีรายงานการพบค้างคาวชนิดนี้อีกครั้งในอุทยานแห่งชาติมาธุปูร์ ประเทศบังคลาเทศ แล้วก็ไม่มีรายงานอีกเลย สำหรับในประเทศไทยมีข่าวการพบค้างคาวชนิดนี้เป็นระยะๆ แต่ก็ไม่บ่อย ครั้งล่าสุดเท่าที่รู้น่าจะเป็นเมื่อปี พ.ศ.2564 เป็นค้างคาวที่พบในจังหวัดราชบุรี

ค้างคาวยอดกล้วยผีเสื้อ มีพฤติกรรมเหมือนกับค้างคาวทั่วไป ที่จะออกหากินในเวลากลางคืน โดยจะออกล่าคืนละ 1 – 2 ชั่วโมง ในช่วงกลางวันมักจะไปเกาะอยู่ตามที่แปลกๆ นั้นเพราะมันจะเกาะอาศัยอยู่ ยอดใบกล้วยที่ม้วนเป็นหลอดหรือท่อ และจะย้ายไปเรื่อยๆ เมื่อยอดกล้วยแก่ขยายออกไม่ม้วนเป็นหลอด ด้วยเหตุนี้ มันจึงถูกเรียกว่าค้างคาวยอดกล้วยผีเสื้อ

นอกจากนี้ยังพบได้ตาม ใบไม้แห้ง, ยอดหญ้า, ยอดอ้อย และยังมีรายงานว่าเข้าไปอาศัยในรังของนกกระจาบซึ่งเป็นรังแบบแขวน โดยค้างคาวชนิดนี้ค่อนข้างเฉื่อยชา แม้จะถูกรบกวนมันก็หนีไปไหนไม่ค่อยจะได้

Advertisements

มีเรื่องที่น่าสนใจอยู่อย่างเกี่ยวกับค้างคาวยอดกล้วยผีเสื้อ เพราะแม้พวกมันจะมีสีสันสดใส แต่เพราะความสว่างของสีที่ต่างกันบนตัวของพวกมัน เลยทำให้เป็นการอำพรางที่ดี พวกมันจะกลมกลืนไปกับใบไม้และดอกไม้แห้งที่พวกมันเกาะอยู่ได้อย่างง่ายดาย นี้อาจเป็นเหตุให้มนุษย์อย่างพวกเรา ไม่ค่อยจะได้เจอพวกมัน

เกือบจะไม่มีใครรู้เรื่องการสืบพันธุ์และอายุขัยของพวกมัน แต่คาดว่าจะมีการจับคู่ผสมพันธุ์ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม จากนั้นค้างคาวเพศเมียจะให้กำเนิดลูกเพียงตัวเดียว และพวกมันก็จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองของประเทศไทย ส่วนสถานะยังไม่แน่จัด

ค้างคาวตัวเล็กที่สุดในโลกและพบในไทย คืออะไร?

ค้างคาวคุณกิตติ (Kitti’s hog-nosed bat) คือ ค้างคาวตัวเล็กที่สุดในโลก และยังเบาที่สุดอีกด้วย โดยค้างคาวคุณกิตติ มีน้ำหนักระหว่าง 1.2 – 2 กรัม ลำตัวยาวประมาณ 2.5 – 3.5 เซนติเมตร มันมีขนาดเล็กและเบาจนบางทีก็ถูกเรียกว่า “bumblebee bat มีสีน้ำตาลปนแดงเรื่อๆ หรือสีเทา มีจมูกคล้ายจมูกหมู พบได้ทางตะวันตกของประเทศไทย และทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศพม่า อาศัยอยู่ตามถ้ำหินปูนริมแม่น้ำ

ค้างคาวคุณกิตติ ชอบอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เฉลี่ยแล้วกลุ่มละ 100 ตัวต่อถ้ำ ออกหากินเป็นช่วงสั้นๆในตอนเย็นและเช้ามืด หากินไม่ไกลจากถ้ำที่พักอาศัย กินแมลงเป็นอาหาร ตกลูกปีละหนึ่งตัว จำนวนประชากรหรือความเป็นอยู่ของค้างคาวชนิดนี้ในประเทศพม่าไม่เป็นที่แน่ชัด แต่ที่พบในไทยมีจำนวนน้อยมาก จากการสำรวจพบได้เฉพาะในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีเท่านั้น จึงเป็นสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

ตามข้อมูลระบุว่า ค้าวคาวกิตติค้นพบครั้งแรกในปี พ.ศ. 2516 โดย “กิตติ ทองลงยา” บริเวณถ้ำไทรโยค อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี …ปัจจุบันค้างคาวคุณกิตติ อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements