นักวิจัยจีนค้นพบฟอสซิลจิ้งจก ‘หางยาวกว่าเดิม’ สัตว์เลื้อยคลานในทะเลสายพันธุ์ใหม่

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2022 สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า นักวิจัยจีนค้นพบฟอสซิลสัตว์เลื้อยคลาน ที่มีลักษณะพิเศษตรงที่ "หางยาวมาก" คาดว่าเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่มีอายุราว 244 ล้านปี โดยรู้จักกันในชื่อ พาคีพลูโรซอร์ (Pachypleurosaur)

พาคีพลูโรซอร์ หงเหอซอรัส

พาคีพลูโรซอร์ เป็นกลุ่มของสัตว์เลื้อยคลานในทะเล มันมีลักษณะคล้ายจิ้งจกขนาดเล็ก มีชีวิตอยู่ในช่วงไทรแอสซิก (Triassic) ตนต้นจนถึงกลาง โดยสายพันธุ์ที่เพิ่งค้นพบใหม่นี้ ถูกตั้งชื่อว่า “หงเหอซอรัส” เนื่องจากถูกพบในแคว้นปกครองตนเองหงเหอ ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน

หงเหอซอรัส มีความยาวจากหัวถึงปลายหางประมาณ 47.1 เซนติเมตร ทว่าเฉพาะส่วนหางก็ยาวถึง 24.4 เซนติเมตร โดยนักวิจัยพบว่า มันมีกระดูกสันหลังรวม 121 ชิ้น ประกอบด้วยกระดูกสันหลังส่วนหาง 69 ชิ้น ซึ่งทำลายสถิติก่อนหน้านี้ของ พาคีพลูโรซอร์ตัวอื่นๆ ที่มีกระดูกสันหลังส่วนหางเพียง 58 ชิ้น

สวีกวงฮุย หัวหน้านักวิจัย กล่าวว่าฟอสซิลดังกล่าวมีรูปร่างเหมือนจิ้งจกน้ำที่มีลำตัวยาว และหางก็ยาวเป็นพิเศษ โดยปกติแล้วพวกพาคีพลูโรซอร์ ไม่ว่าจะตัวเล็กหรือตัวใหญ่จะยาวไม่เกิน 50 เซนติเมตร ขณะที่ส่วนหางที่ยาวเป็นพิเศษจะช่วยเพิ่มความคล่องแคล่วในการว่ายน้ำ

Advertisements
นอกจากข้อมูลเชิงลึกใหม่ๆ เกี่ยวกับการปรับตัวทางนิเวศวิทยาของสัตว์เลื้อยคลานกลุ่มนี้แล้ว การค้นพบนี้ยังเป็นหลักฐานของพาคีพลูโรซอร์ที่เก่าแก่ที่สุดในจีน โดยสัตว์เลื้อยคลานในทะเลตัวแรกที่ค้นพบในจีนและถูกตั้งชื่อ ในปี 1957 คือ กุ้ยโจวซอรัส (Keichousaurus) ซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกับพาคีพลูโรซอร์ (Pachypleurosaur)

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements
Advertisements
แหล่งที่มาxinhuathai