ก่อนจะเห็นป่าพรุโต๊ะแดง
ดินในป่าพรุโต๊ะแดงนั้นยังมีความพิเศษมากขึ้นไปอีกเนื่องจาก ในอดีตพื้นที่ดังกล่าวเกิดน้ำทะเลหนุนสูงจนท่วมทะลักเข้าสู่พื้นที่ จนทำให้พืชและสัตว์น้ำหลายชนิดที่ไม่สามารถทนต่อความเค็มของน้ำทะเลต้องตายลง จากนั้นซากพืชซากสัตว์ก็ทับถมรวมกัน จนบริเวณดังกล่าวแปลงสภาพกลายเป็นป่าชายเลน
ครั้นเมื่อเวลาผ่านไปน้ำทะเลลดปริมาณลง รวมถึงปริมาณน้ำฝนในปริมาณมากก็แปรสภาพของพื้นที่ดังกล่างให้กลายมาเป็นป่าพรุอีกครั้งหนึ่ง ทำให้ดินในป่าผืนนี้มีทั้งดินพีทและดินตะกอนทะเลสลับกันไปมาอยู่สองสามชั้นในแต่ละจุด ว่ากันว่าดินพีทชั้นล่างสุดนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่ 6,000-7,000 ปีก่อน
ในขณะที่ดินชั้นบนสุดมีอายุเพียง 700-1,000 ปีเท่านั้น ด้วยลักษณะทางธรรมชาติดังกล่าวทำให้มีความหลากหลายทางชีวภาพและลักษณะเฉพาะตัวที่ทำให้ป่าผืนนี้ไม่เหมือนป่าพรุทั่วไป
ป่าพรุโต๊ะแดงในตอนนี้
อันที่จริงป่าพรุโต๊ะแดงกินพื้นที่ใหญ่โตมโหฬารถึง 120,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่สามอำเภอในจังหวัดนราธิวาส ได้แก่ อำเภอตากใบ สุไหงโกลก สุไหงปาดี แต่ว่าในปัจจุบันสัดส่วนของพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์นั้นเหลืออยู่เพียง 50,000 ไร่เท่านั้น
ความสมบูรณ์ของพรรณไม้ และความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นสัตว์บก สัตว์ปีก สัตว์น้ำ สัตว์เลื้อยคลาน เรียกได้ว่าสูงมากแบบมหัศจรรย์สวรรค์บนดิน พันธุ์ไม้หายากหลายชนิดสามารถพบได้ที่นี่ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบางชนิดที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ก็พบได้ที่นี่ หรือใครที่ชอบส่องนกถ้ามีโอกาสก็ควรแวะมาที่นี่สักครั้ง และแน่นอนในฐานะคนชอบปลาและสัตว์น้ำจืด ตัวแอดมินเองก็อยากจะมีโอกาสได้ไปดูไปเห็นปลาในป่าพรุโต๊ะแดงที่ว่านี่เช่นกัน
ปลาเข็มงวงแห่งป่าพรุโต๊ะแดง
ปลาน้ำจืดในพื้นที่ดังกล่าวนั้นมีหลากหลายมาก มีทั้งชนิดที่หายากหน่อยแต่ยังพอรู้จักอยู่คือ ปลาดุกลำพัน ปลากะแมะ (ปลาคางคก) ปลากริมใต้ ปลาเสือหกแถบ เป็นต้น
อันที่จริงก็ยังมีปลาอีกหลายชนิดที่แอดมินไม่รู้จักในพื้นที่ดังกล่าว แต่วันนี้เราจะเล่ากันถึงเรื่องของปลาที่ชื่อว่า “ปลาเข็มงวง” หรือ “ปลาเข็มช้าง”
ปลาเข็มงวงเป็นปลาที่จัดอยู่ในตระกูลปลาเข็ม ลักษณะของปลาตระกูลนี้คืออาศัยอยู่ได้ทั้งน้ำจืดและน้ำกร่อย และบางชนิดก็อาศัยอยู่น้ำเค็ม ถ้าเราเปรียบเทียบกับปลาเข็มดำ (ปลาเข็มธรรมดา) ที่เราพบตามลำคลองทั่วไป ปลาเข็มงวงมีขนาดใหญ่กว่ามาก ขนาดโตเต็มวัยมีความยาวถึง 10 ซม.
ปลาในตระกูลนี้ทุกชนิดไม่สามารถขยับปากบนได้ เวลามันอ้าปากจะมีแค่ปากล่างเท่านั้นที่ถ่างออก ที่ปลายปากล่างของเข็มงวงจะมีติ่งหนังยาวออกมาคล้ายงวงช้างห้อยลงมาด้านล่าง ใต้จงอยปาก (คาง) มีริ้วหนังเป็นสี ปลาเพศผู้จะมีขนาดลำตัว และสัดส่วนของครีบใหญ่กว่าเพศเมีย
ลำตัวและหัวมีสีเขียวอมเหลือง ขอบตาทาอายส์ชาโดว์สีฟ้าสะท้อนแสง แก้มสองข้างปัดด้วยบรัชออนสีแดงเรื่อ ครีบหลังสีเหลืองอ่อน ปลายปากล่างมีสีแดงดำ ส่วนริ้วหนังใต้จงอยปากมีสีฟ้าเหลืองตรงขอบเป็นสีแดงดำ
ในแหล่งน้ำธรรมชาติปลาเข็มงวงไม่ถึงกับหาพบได้ยากนักในป่าพรุโต๊ะแดง เพียงแต่เราจะไม่พบปลาในที่อื่นอีกเลย ปลาเข็มงวงจะว่ายอยู่ตามผิวน้ำเป็นกลุ่มเล็กราว 10-30 ตัว กินแพลงก์ตอนพืชและสัตว์ ตัวอ่อนแมลง แมลงที่หล่นลงบนผิวน้ำ ลูกปลาลูกกุ้งขนาดเล็ก
เลี้ยงปลาเข็มงวงได้หรือไม่?
ปลาเข็มงวง โดยภาพรวมจัดเป็นปลาที่ไม่ดุร้าย สามารถเลี้ยงรวมกับปลาเล็กชนิดอื่นได้ไม่ยาก แต่จะมีปัญหาขัดใจกับปลาชนิดเดียวกันเองเป็นประจำ คอยงับคอยแว้งกันอยู่เนืองๆ
จะว่าไปปลาเข็มงวงนั้นมีอยู่หลายชนิด แต่ในประเทศไทยนั้นมีเพียงชนิดเดียว ก็คือ Hemirhamphodon pogonognathus ชื่อสามัญเรียกว่า Forest Halfbeak (อ่านว่า ฟอ เรสต์ ฮาฟ บีค) ส่วนปลาเข็มธรรมดาก็เรียกแค่ Halfbeak ส่วนปลาเข็มเงินที่เห็นกันในตลาดปลาสวยงามเรียกว่า Silver Halfbeak
ลักษณะของค่าน้ำในป่าพรุโดยทั่วไปมักจะเป็นน้ำอ่อนหรือที่เรียกว่ากันว่าค่า Ph ค่อนไปทางต่ำ นั่นทำให้ปลาที่มาจากป่าพรุนั้นมักประสบปัญหาในการปรับสภาพน้ำ คือมันปรับได้ยาก(มาก) ประสบการณ์ตรงของแอดมินกับปลาเข็มงวงนั้นเป็นอะไรที่ไม่น่าจดจำเอาเสียเลย เรียกว่าแทบจะไม่เคยรอดกันเลยดีกว่า ถอดใจไปเป็นสิบปีแล้ว
ปลามันก็ตัวเล็กเรียว บอบบาง มาถึงลงตู้เตรียมน้ำหมักใบหูกวางไว้ก่อนก็แล้ว ทำนั่นก็แล้ว ทำนี่ก็แล้ว แทบจะไม่เคยจะได้ส่งไปขายเลย กลายร่างเป็นปลาเทวดาเสียก่อนเป็นประจำ คือพอเป็นยังนี้ไอ้เราก็ไม่อยากสั่งปลามาขายเพราะสั่งมาแล้วก็เสียหายในมือ ทางเกษตรกรผู้จับปลาก็ไม่รู้ว่าจะจับปลาชนิดนี้ไปขายใคร ก็เลยกลายเป็นปลาขายไม่ดี
แต่ในความขายไม่ดีก็เป็นเคราะห์ดีของปลาชนิดนี้ เพราะช่วงหนึ่งในอดีตปลาชนิดนี้ก็มีจำนวนลดลงจนเข้าสู่จุดที่เรียกว่าเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์จริงๆ เรียกว่าหาไม่เจอหาไม่ได้อยู่หลายปีจนนึกว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว ทีนี้พอไม่มีใครไปยุ่งกับมัน มันก็กลับมาขยายพันธุ์ตามปกติจนมีจำนวนมากขึ้นและไม่ได้อยู่ในภาวะดังกล่าวแล้ว (แต่ก็ไม่ได้เยอะแยะเหมือนปลาเข็มดำตามคลองนะครับ)
เข้าสู่ช่วงสุดท้ายของบทความแล้ว แอดมินอยากเชิญชวนให้คนไทยทั้งหลายมีโอกาสได้ไปเยี่ยมชม “ศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธร” เป็นส่วนหนึ่งของป่าพรุโต๊ะแดงนี่แหละ
ตัวแอดมินเองไม่เคยไปมาก่อน แต่พอได้ลองหาข้อมูลปลาแล้วก็พบว่าน่าสนใจจัง มีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติเป็นสะพานไม้ยาวประมาณหนึ่งกิโลเมตร ก็จะได้ไปเดินดูสัตว์น้ำจืดที่อาศัยอยู่ในป่าพรุ ไปดูซิว่าในธรรมชาติมันอยู่กันแบบไหน
ฤดูที่เหมาะกับการไปเที่ยวคือ กุมภาพันธ์ ถึง เมษายน ยังไม่ได้ลองหาข้อมูลว่านอกฤดูแล้วเที่ยวได้หรือเปล่า เปิดทุกวัน เวลาแปดโมงเช้าถึงสี่โมงเย็น เอาไว้ถ้าได้ไปจะมาเล่าให้ฟังเพิ่มเติมต่อไป ส่วนใครเคยไปแล้วช่วยกันมาเล่าให้ฟันกันหน่อยนะ
อ้างอิงงานเขียนจาก เพจ Thai Fish Shop