รอดจากการสูญพันธุ์ โครงการเพาะพันธุ์นกแก้วหายากที่สุดในโลก

ในเขตชานเมืองของโฮบาร์ต รัฐแทสเมเนีย ประเทศออสเตรเลีย มีอาคารเหล็กสีเทาจำนวนมาก ล้อมรอบด้วยรั้วเหล็กที่เชื่อมโยงไฟฟ้าแรงสูง มันเกือบจะดูเหมือนคุกขนาดเล็ก แต่คุณจะไม่พบอาชญากรหลังกำแพงเหล่านี้ ที่แห่งนี้มีหนึ่งในนกสายพันธุ์หายากที่สุดของโลก มันคือนกแก้วท้องส้ม ที่กำลังถูกนำกลับมาจากการสูญพันธุ์ ...และนี่คือข้อมูลบางส่วนของโครงการที่เพิ่งถูกเปิดเผยให้คนภายนอกได้รู้เมื่อไม่นานนี้

นกแก้วท้องส้มคืออะไร?

Advertisements

นกแก้วท้องส้ม หรือ Orange-bellied parrot ได้รับการอธิบายครั้งแรกในปี พ.ศ. 2333 โดยนักปักษีวิทยา จอห์น ลาแทม โดยตัวอย่างแรกถูกเก็บได้ที่อ่าวแอดเวนเจอร์ในรัฐแทสเมเนีย เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2316 ซึ่งในตอนแรกมันมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ซิสตาคัส ไครโซกาสเตอร์ (Psittacus chrysogaster)

ต่อมาในปี พ.ศ. 2434 นักปักษีวิทยาชาวอิตาลี ทอมมาโซ ซัลวาดอร์ (Tommaso Salvadori) ได้สร้างสกุลใหม่ที่ชื่อว่า นีโอฟีมา (Neophema) แล้วจับเอานกแก้วท้องส้มให้มาอยู่ในสกุลใหม่นี้ ด้วยเหตุนี้นกแก้วชนิดนี้จึงมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า นีโอฟีมา ไครโซกาสเตอร์ (Neophema chrysogaster)

นกแก้วท้องส้มเป็นนกแก้วขนาดเล็ก มีความยาวประมาณ 20 เซนติเมตร หนัก 45 กรัม มีอายุขัยประมาณ 10 ปี ตัวผู้ที่โตเต็มวัยจะมีหัว คอ และส่วนบนเป็นสีเขียวสดใส ส่วนอก หน้าท้องและสีข้างสีเหลืองเขียว ขนแก้ม คอ และส่วนล่างมีสีเขียวเหลือง ขนบนกระหม่อมมีสีเขียวสดใสโดยที่ปลายขนจะมีสีเขียวเข้มกว่า ส่วนท้องจะมีปื้นรูปไข่สีส้มเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร ขนด้านล่างมีสีเหลืองถึงเหลืองซีด ในขณะที่ตัวเมียสีส้มที่ท้องจะเล็กกว่าประมาณ 30% และความสดของสีโดยรวมจะหม่นกว่าตัวผู้

ทั้งนี้นกแก้วท้องส้มถือเป็นสัตว์ประจำถิ่นที่จะผสมพันธุ์เฉพาะในรัฐแทสเมเนีย ประเทศออสเตรเลีย มันเป็นนกอพยพ ซึ่งจะผสมพันธุ์เฉพาะบริเวณชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของรัฐแทสเมเนีย หลังจากผสมพันธุ์แล้ว นกแก้วท้องส้มจะบินข้ามช่องแคบบาสส์ไปยังแผ่นดินใหญ่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของออสเตรเลีย โดยตลอดช่วงฤดูหนาวพวกมันจะอาศัยอยู่ตามชายฝั่งวิกตอเรียและเซาท์ออสเตรเลีย

โครงการอนุรักษ์นกแก้วท้องส้ม

มีนกแก้วท้องส้มมากกว่า 300 ตัว อาศัยอยู่ในอาคารที่สร้างขึ้นโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนกแก้วท้องส้มแทสเมเนีย ..ขณะเดียวกันประชากรของนกชนิดนี้ในธรรมชาติมีความผันผวนอยู่ระหว่าง 50 – 150 ตัวในโลก ซึ่งขึ้นอยู่กับฤดูกาล

Advertisements

ในปี พ.ศ. 2559 นกแก้งชนิดนี้เกือบสูญหายไปตลอดกาล เมื่อมีนกเหลือเพียง 17 ตัว ที่กลับมาจากการอพยพ ซึ่งเป็นสถานที่ห่างไกลในถิ่นทุรกันดารทางตะวันตกเฉียงใต้ของรัฐแทสเมเนีย

ไมเคิล ดอมโรส (Michael Domrose) กล่าวว่า ” เมื่อเริ่มต้นฤดูกาล ปี พ.ศ. 2559 – 2560 นกแก้วท้องสีส้มเพียง 17 ตัวเท่านั้นที่กลับมาจากเมลาลูกา และมีเพียง 4 ตัวเท่านั้นที่เป็นตัวเมีย อีกเพียงนิดเดียวพวกมันใกล้จะถูกประกาศว่าสูญพันธุ์” .. ด้วยเหตุนี้ไมเคิลจึงต้องเริ่มโครงการนี้อย่างจริงจัง เขาและทีมงานเริ่มทำงานกับนกแก้วท้องส้มเพียงชนิดเดียว

ทีมเจ้าหน้าที่สัตว์ป่า สัตวแพทย์ และอาสาสมัครที่ผ่านการฝึกอบรมมาอย่างดี ทุกคนทำงานอย่างใกล้ชิดกับนก คอยติดตามสุขภาพและพัฒนาการของนกอย่างต่อเนื่องในทุกขั้นตอน ..”งานนี้เริ่มต้นด้วยการคัดเลือกนกที่จะจับคู่เพื่อผสมพันธุ์”

ไมเคิลอธิบายว่า “พวกเรามีโปรแกรมที่มีข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับความหลากหลายทางพันธุกรรม และระดับเครือญาติ สิ่งนี้จะให้คำแนะนำเกี่ยวกับนกที่จะจับคู่ตามมูลค่าของพวกมันสำหรับประชากรโดยรวม”

แต่การคำนวณทางวิทยาศาสตร์เหล่านี้ ยังไม่สามารถรับประกันว่านกจะวางไข่ได้สำเร็จ บางครั้งพวกมันก็ไม่มีพันธะคู่หรือความผูกพันกัน ดังนั้นจึงเป็นความรับผิดชอบของเรา ที่จะต้องตรวจสอบและแยกคู่เหล่านั้นออก แล้วแทนที่ด้วยตัวอื่น และแม้ว่าจะมีคู่ที่ประสบความสำเร็จ แต่ก็ไม่มีการรับประกันว่าไข่ของพวกมันจะออกมาดี ..มันเป็นสิ่งที่ยากจริงๆ

Advertisements

แต่หลังจากลูกนกฟักออกมาได้สำเร็จ จุดสนใจจะเปลี่ยนไป …เพื่อให้แน่ใจว่านกรุ่นต่อไปจะอยู่รอดในช่วงแรกของชีวิต “พวกเราไม่คิดว่าจะมีปัญหามากมายหากเป็นนกในธรรมชาติ แต่จากมุมมองของนกเชลย มันจะเป็นเรื่องยากแม้แต่กับพ่อแม่นก”

พ่อแม่นกอาจทำได้ไม่ดี เมื่อต้องดูแลลูกนกรุ่นใหม่ และมักเกิดปัญหาหลายประการ ..ประการแรกคือการจัดหาอาหารอาจไม่เพียงพอ ซึ่งมักพบในพ่อแม่พันธุ์ขนาดใหญ่เมื่อมีลูกนกจำนวนมากให้เลี้ยงดู

ประการที่สอง พ่อแม่นกอาจกลายเป็นผู้ให้อาหารที่แย่ได้ มันอาจทำให้จมูกของลูกนกถูกปกคลุมด้วยอาหาร ซึ่งจะแห้งและเป็นอุปสรรคในการหายใจ ประการสุดท้าย จะมีการถอนขน ซึ่งเป็นความผิดปกติทางพฤติกรรม ที่จะกัดหรือถอนขนด้วยจะงอยปากของพวกมันเอง

อย่างไรก็ตาม นกเป็นสัตว์ที่มีชื่อเสียงในการปกปิดสัญญาณของความทุกข์ หรือข้อบ่งชี้ของปัญหาสุขภาพหรือการบาดเจ็บของพวกมัน ด้วยเหตุนี้ การตรวจสุขภาพและติดตามนกอย่างสม่ำเสมอ จึงเป็นสิ่งสำคัญในทุกขั้นตอนของชีวิตนกเหล่านี้

นอกจากความจำเป็นในการตรวจสอบพวกมันแล้ว เราพยายามที่จะให้พวกมันยุ่งเกี่ยวกับมนุษย์ให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งนี้ก็เพื่อไม่ให้พวกมันเชื่องกับมนุษย์

สุดท้ายในแต่ละปี ในฤดูใบไม้ผลิจะมีการปล่อยนกตัวเต็มวัย เพื่อเสริมจำนวนนกที่หายไป และในปี พ.ศ. 2564 มีนก 50 ตัว ที่ถูกเลี้ยงในกรงขังและย้ายไปที่เมลาลูกา และจากสถิติในช่วงหลายปี ดูเหมือนอัตราการรอดชีวิตจะสูงขึ้น แม้จะไม่มาก ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดี

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements