และแม้นักวิจัยจะมีความหวังในการฟื้นฟูประชากรปลาเหล่านี้ เพราะตราบใดที่แม่น้ำโขงทางตอนใต้ ยังไม่ได้รับความเสียหายจากเขื่อนมากนัก การฟื้นฟูจึงยังพอมีหวัง แต่! ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความหวังดูจะริบหรี่ลงไปอีก นั้นเพราะที่ประเทศลาวเองก็มีการวางแผนสร้างเขื่อนขนาดใหญ่อย่างน้อย 10 แห่ง ซึ่งทั้งหมดถูกสร้างบริเวณต้นน้ำสำคัญของแม่น้ำโขง …และโครงการแรกๆ ที่ถูกสร้างไปแล้วก็คือ เขื่อนน้ำงึม (Nam Ngum Dam) ซึ่งถูกสร้างขึ้นบริเวณต้นน้ำของหลวงพระบาง และเป็นเขื่อนที่ได้ชื่อว่า หม้อไฟฟ้ายักษ์ แห่งเอเชียใต้
เขื่อนในเอเชีย!
นานมากแล้วที่ประเทศลาว ต้องการจะเป็นแบตเตอรี่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พวกเขาพยายามสร้างเขื่อนหลายแห่ง ไม่เพียงแค่ใช้ในประเทศ แต่ยังส่งขายให้กลับประเทศเพื่อนบ้าน ดังเช่น เขื่อนน้ำงึม 1 ที่เป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าแห่งแรกที่ลาวสร้างขึ้นเพื่อผลิตไฟฟ้าขายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2514 ซึ่งเขื่อนแห่งนื้ทำให้เกิดอ่างเก็บน้ำขนาด 370 ตารางกิโลเมตร ในขณะที่เขื่อนขนาดใหญ่กว่าอีกแห่งที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2570
หากโครงการเขื่อนหลายสิบแห่งของประเทศลาวยังเดินหน้าต่อไป แม่น้ำโขงตอนล่างที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นแหล่งอาศัยสำคัญและพื้นที่วางไขของปลาขนาดยักษ์หลายสายพันธุ์ จะต้องถูกตัดแบ่งออกเป็นชิ้นเล็กลงเรื่อยๆ และเมื่อแม่น้ำโขงไม่ได้เป็นแม่น้ำที่ไหลอย่างอิสระอีกต่อไป ไม่ช้าก็เร็วปลาที่ต้องการแม่น้ำที่ไหลอย่างอิสระ เพื่อให้มีชีวิตรอด ก็จะพบกับความตาย
งานวิจัยที่เปิดเผยเมื่อปี พ.ศ. 2562 ในหัวข้อ “การลดลงของสัตว์น้ำจืดขนาดใหญ่ทั่วโลก” ระบุว่า ปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ในแม่น้ำโขง ประกอบไปด้วยปลาหลากหลายสายพันธุ์ พวกมันมีน้ำหนักโดย เฉลี่ยมากกว่า 40 กิโลกรัม ทั้งหมดเป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์มากที่สุดในโลก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 ประชากรปลาเหล่านี้ก็ลดลงไปถึง 90% มากเป็นสองเท่าของการสูญเสียประชากรในสัตว์มีกระสันหลังบนบกหรือในมหาสมุทร
ปลาขนาดใหญ่อย่าง ปลาสเตอร์เจียน ปลาแซลมอน ปลาบึก และปลาดุกยักษ์ชนิดอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปลาที่อาศัยในซีกโลกเหนือ มีจำนวนลดลงจนน่ากลัว เนื่องจากมีการประมงที่มากเกินไป มลพิษและจากเขื่อนที่เพิ่มขึ้น
แม่น้ำโขงที่ไหลผ่าน 6 ประเทศ ในอดีตแม่น้ำแห่งนี้ เป็นบ้านของปลาขนาดใหญ่ที่สุด ซึ่งมากกว่าแม่น้ำสายไหนๆ ในโลก น่าเสียดายที่ทั้งหมดใกล้สูญพันธุ์ …มันเป็นเรื่องยากมากๆ ที่จะได้เจอปลาขนาดใหญ่เหมือนในอดีต โดยเฉพาะปลาบึกขนาดยักษ์ ส่วนใหญ่ก็กลายเป็นปลาที่ผสมเทียมในหลายประเทศและปล่อยลงมา แต่ก็มีอีกหลายชนิดเช่นปลากระเบนน้ำจืดยักษ์ที่ยังไม่สามารถทำแบบนั้นได้
การอพยพที่ถูกขัดจังหวะ
จริงๆ แล้วในตอนนี้ มีตัวอย่างมากมายที่แสดงให้เห็นว่าเขื่อนสามารถทำร้ายปลาขนาดใหญ่ได้ แต่ที่ใกล้ตัวและเด่นชัดที่สุดก็คือ ในประเทศจีน ที่ในปี พ.ศ. 2562 นักวิจัยได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า ปลาฉลามปากเป็ดจีน ซึ่งยาวได้ถึง 7 เมตร และเป็นหนึ่งในปลาสายพันธุ์โบราณที่สุด ได้สูญพันธุ์ไปโดยสมบรูณ์ …ไม่เหลือแม้แต่ในแหล่งเพาะเลี้ยง
แม้ว่าการจับปลาที่มากจนเกินไปจะเป็นปัญหา แต่นักวิจัยก็สรุปว่า ต้นต่อจริงๆ เกิดขึ้นจากเขื่อนและเขื่อน เกโจว (Gezhouba Dam) ก็เป็นต้นต่อแรกๆ ที่สำคัญ เขื่อนแห่งนี้เริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2513 บนจุดสำคัญของแม่น้ำแยงซีเกียง และท้ายที่สุดก็ตัดปลาขนาดใหญ่ออกจากแหล่งวางไข่เพียงแห่งเดียวที่อยู่บริเวณต้นน้ำ จนนำไปสู่การสูญพันธุ์อย่างรวดเร็ว … แน่นอนว่าไม่ใช่แค่ปลาฉลามปากเป็ดจีน แต่ยังมีปลาอีกหลายชนิดที่หายไปโดยที่ยังไม่ทันได้สังเกตเห็นด้วยซ้ำ
นอกจากเขื่อนจะปิดกั้นการอพยพของปลาแล้ว เขื่อนยังเปลี่ยนแปลงสภาพทางอุทกวิทยาที่ปลาใช้เป็นสัญญาในการหาอาหารและวางไข่ ซึ่งโดยปกติแล้ว แม่น้ำโขงจะถูกควบคุมโดยคลื่นน้ำท่วมขนาดยักษ์ ซึ่งในฤดูฝนสามารถยกระดับแม่น้ำได้สูงถึง 12 เมตร อย่างไรก็ตาม วงจรน้ำท่วมนี้ได้ถูกรบกวนจากภัยแล้งที่ทวีความรุนแรงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และจากการที่จีนปิดกั้นน้ำจากเขื่อนที่ตั้งอยู่บริเวณลุ่มน้ำตอนบน …จนนำไปสู่ระดับน้ำที่น้อยในลุ่มน้ำตอนล่าง …ปลาที่วิวัฒนาการเพื่ออพยพเมื่อพบสัญญาณน้ำท่วมจึงได้รับผลกระทบมากที่สุด
ไม่เพียงแค่ในแม่น้ำโขง ตอนนี้ในแม่น้ำกว่า 600 สาย มีเขื่อนอยู่หลายพันแห่ง แม่น้ำทั่วโลกจึงไม่สามารถพิจารณาว่ามีการไหลอย่างอิสระอีกต่อไป โลมาอิรวดีและฉลามคงคา ที่เป็นฉลามแม่น้ำแท้เองก็ใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤติ
ในลุ่มแม่น้ำแอมะซอน ซึ่งเป็นพื้นที่ๆ อุดมไปด้วยสายพันธุ์ต่างๆ มากที่สุดในโลก ก็มีการวางแผนที่จะสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำมากกว่า 400 แห่ง ซึ่งจะกระจายไปตามแม่น้ำสาขาต่างๆ สิ่งนี้จะกระทบกับสัตว์น้ำขนาดใหญ่เช่น โลมาทูคูซีและโลมาสีชมพูอย่างแน่นอน รวมถึงสัตว์และมนุษย์ที่จำเป็นต้องอาศัยแม่น้ำขนาดใหญ่แห่งนี้
และแม้ปลาขนาดใหญ่หลายชนิดไม่ใช่เป็นปลาอพยพ แต่พวกมันเองก็อาศัยปลาอพยพเป็นอาหารอยู่ดี หากการสร้างเขื่อนในลุ่มแม่น้ำแอมะซอนเป็นไปตามแผน “เราอาจกำลังเฝ้าดูชะตากรรมเดียวกับที่พบในเอเชีย”