ความรู้พื้นฐานของปลาตีน
คงต้องความรู้จักกับปลาตีนกันเล็กน้อย โดยเจ้า “ปลาตีน” (mudskipper) มันคือปลาสะเทินน้ำสะเทินบก ที่ยึดเอาหาดเลน และป่าชายเลนเป็นที่อาศัย มันเป็นสมาชิกของวงศ์ปลาบู่ที่มีอยู่ 25 ชนิด และปลาตีนถือเป็นปลาชนิดเดียวที่สร้างกิจกรรมหลักบนบกหลายอย่างขึ้นมารวมถึงการกิน การเกี้ยวพาราสี และการป้องกันพื้นที่หากิน
สำหรับ.. ปลาตีน (Mudskipper , Amphibious fish) จัดอยู่ในสกุล Periophthalmodon ในวงศ์ปลาบู่ (Gobiidae) โดยปลาตีนขนาดเล็กเรียกว่าปลาจุมพรวด มีความยาวเฉลี่ยประมาณ 10 เซนติเมตร ส่วนปลาตีนขนาดใหญ่ เรียกว่าปลากระจัง มีความยาวเฉลี่ย 25 เซนติเมตร ปลาตีนเพศผู้จะมีขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย
ในประเทศไทยปลาตีนจะพบได้ตามป่าชายเลน มีกระจายริมฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยตั้งแต่จังหวัดชลบุรี มีอาณาเขตป่าชายเลนตั้งแต่ปากแม่น้ำบางปะกงเลียบชายฝั่งจนถึงตำบลเสม็ด อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี จังหวัดตราด เรื่อยลงไปถึงจังหวัดปัตตานี ส่วนทางฝั่งทะเลอันดามันพบตั้งแต่จังหวัดระนองลงไปสุด ชายแดนไทยที่จังหวัดสตูล
อาหารที่ปลาตีนกิน จะเป็นสิ่งมีชีวิตเล็กๆ เช่น ลูกกุ้ง ลูกปู ตัวอ่อนของสัตว์น้ำขนาดเล็ก รวมทั้งสาหร่าย แบคทีเรีย และ ซากสิ่งมีชีวิตที่อยู่บนผิวเลน ปกติปลาตีนจะอาศัยอยู่รวมกันหลายตัวไม่มีการออกนอกเขตของตัวเอง
เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ ปลาตีนตัวผู้จะมีสีเข้มขึ้น และมีการแบ่งอาณาเขตในช่วงการสืบพันธุ์ โดยจะมีการสร้างหลุมซึ่งจะใช้ปากขุดโคลนมากองบนปากหลุม เราเรียกว่า “หลุมปลาตีน” ปลาตีนตัวผู้มีพฤติกรรมหวงเขตแดน เมื่อมีปลาตีนตัวผู้อื่นล้ำแดนเข้ามาจะกางครีบหลังขู่ และ เคลื่อนที่เข้าหาผู้รุกล้ำทันที ปลาตีนตัวผู้ และตัวเมียจะผสมพันธุ์ในหลุมที่ตัวผู้ขุดไว้
“ในประเทศไทย ปลาตีนมักจะถูกเลี้ยงไว้เพื่อความสวยงาม มากกว่าการนำมารับประทานเป็นอาหาร”
ปลาตีน เป็นสัตว์เศรษฐกิจได้ยังไง.?
ข้อมูลนี่มาจาก “ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง” ได้พูดถึงปลาตีนสัตว์เศรษฐกิจสำคัญที่มาแรงในฝูอัน (มณฑลฝูเจี้ยน)
โดยปลาตีนในช่วงฤดูหนาวของทุกปี จะเป็นช่วงที่เหมาะสมที่สุดในการจับปลาตีน เนื่องจากเป็นช่วงที่ปลาตีนมีเนื้อเยอะ เนื้อแน่น และมีความคาวน้อย
“ปลาตีน” (Mudskipper) และมีชื่อเรียกในภาษาไทยต่างกันออกไปมากมาย เช่น จุมพรวด, ตุมพรวด, กำพุด, กระจัง หรือ ไอ้จัง เป็นต้น พวกมันเป็นปลาขนาดเล็กที่มักพบอาศัยอยู่บริเวณดินโคลนในแถบป่าชายเลน ชื่อเรียกของปลาตีนในภาษาจีน แปลตามตัวว่า “ปลากระโดด” ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษของปลาตีนที่ไม่เหมือนปลาชนิดอื่นๆ คือสามารถใช้ครีบข้างลำตัวที่แข็งแรงดีดตัวหรือกระโดดได้
ปลาตีนถือเป็นปลาเศรษฐกิจประเภทรองของมณฑลฝูเจี้ยน เนื่องจากคุณภาพของเนื้อปลามีความละเอียดนุ่มและอร่อย ทั้งยังอุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ ได้แก่ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต แคลเซียม ฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก ไนอาซินวิตามิน B1 และ B2
โดยเฉพาะปลาตีนในแถบพื้นที่ชายฝั่งทะเลตำบลฝูอัน ถือเป็นปลาตีนที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุด ให้คุณภาพเนื้อนุ่ม รสชาติอร่อย และยิ่งถ้าจับในฤดูหนาว จะเป็นช่วงที่เนื้อปลามีความคาวน้อยและไขมันต่ำ จนชาวบ้านขนานนามกันว่าเป็น “ยาบำรุงชั้นดี” ชนิดหนึ่ง
“ปลาตีนถือเป็นสัตว์ที่มีคุณค่าทางการแพทย์เป็นอย่างมาก มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงเลือดและสร้างสเปิร์ม บำรุงไต บรรเทาอาการปวดและถอนพิษ ด้วยเหตุนี้ ตำรับยาตะวันตกจึงขนานนามปลาชนิดนี้ว่าเป็น โสมทะเล หรือ ไวอากร้าทะเล”
และต้องบอกว่าปลาตีนในตลาดจีน มีราคาค่อนข้างแพง มันเคยมีราคาอยู่ราวๆ 160 หยวนต่อกิโล หรือ ประมาณ 800 บาท นั้นเอง แพงไม่แพงก็คิดดูว่าปลากะพงขาวบ้านเรากิโลละร้อยบาทอะ และนี่คือเรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ ของปลาตีน
แนวทางเลี้ยงปลาตีนในตู้
เอาจริงๆ ปลาตีนมันน่ามองนะสำหรับผม มันดูกวนๆ ดี และมันก็เป็นหนึ่งในปลาที่คนไทยเอามาเลี้ยงในตู้เหมือนกัน โดยการจัดตู้เลี้ยง ก็คล้ายๆ เลี้ยงปลาทั่วไป แต่! “ต้องจัดแบบมีบกมากกว่าน้ำ” นั้นเพราะปลาตีน จะใช้ชีวิตส่วนมากอยู่บนบกที่ชื้นๆ มากกว่าในน้ำ
เรื่องน้ำจืดหรือเค็ม? จริงๆ แล้วปลาตีนสามารถเลี้ยงในน้ำจืดได้ หรือ ถ้าจะผสมเกลือ หรือ น้ำทะเลนิดหน่อย พอให้น้ำกร่อยก็จะดีกว่า แต่หากเป็นปลาตีนที่ปรับสภาพแล้ว พวกที่ซื้อจากร้านขายปลา จะสามารถเลี้ยงในน้ำจืดได้สบายๆ เพราะยังไงซะปกติในธรรมชาติ ปลาตีนมักจะอาศัยอยู่บริเวณพื้นทีน้ำจืดไหลลงสู่ทะเลเป็นหลัก