ปลาสะนากยักษ์คืออะไร?
สำหรับในประเทศไทยจะมีปลาสะนากอยู่ 2 ชนิด ชนิดแรกคือ ปลาสะนาก ที่อยู่ในสกุลปลาน้ำหมึกยักษ์ หรือ Raiamas (ไรอามาส) เป็นปลาที่พบได้ทั่วไปในแหล่งน้ำไหลของภาคกลางจนถึงภาคเหนือและอีสาน แต่ดูเหมือนสะนากชนิดนี้จะมีเยอะตามคลองแถวๆ ราชบุรี ผมตกได้ประจำ บางทริปตกปล่อยตกปล่อยได้เป็นร้อยตัว นี่แสดงให้เห็นว่าปลาชนิดนี้ยังมีพอประมาณ …ซึ่งผมจะขอพูดถึงปลาสะนากชนิดนี้ที่ท้ายเรื่อง
ส่วนอีกชนิดคือ ปลาสะนากยักษ์ หรือ แซลมอนยักษ์แห่งลุ่มน้ำโขง (Mekong giant salmon carp) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Aaptosyax grypus (แอปโทไซแอ็กซ์ กริปัส) เป็นปลาเพียงชนิดเดียวที่อยู่ในสกุล Aaptosyax (แอปโทไซแอ็กซ์) ในวงศ์ปลาตะเพียน และวงศ์ย่อยปลาซิว
ปลาสะนากยักษ์ถือเป็นปลานักล่าขนาดใหญ่ มีความยาวประมาณ 130 เซนติเมตร และหนักได้ถึง 30 กิโลกรัม ลักษณะโดยรวมของปลาสะนากยักษ์คือ คล้ายกับปลาแซลมอน รูปร่างเรียวยาวทรงกระบอก ปากกว้าง ขากรรไกรโค้งคล้ายตะขอที่จะสบเข้ากับช่องที่อยู่ปากด้านบน มีเกล็ดเล็กมาก ลำตัวสีเงินวาวเหลือบเหลืองทอง ครีบสีส้มเรือๆ
ปลาสะนากยักษ์มักจะหากินอยู่ในระดับกลางน้ำจนถึงผิวน้ำ เหยื่อของมันจึงเป็นปลาขนาดเล็กที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น เป็นปลาที่อาศัยอยู่เฉพาะในแม่น้ำโขงตอนกลาง แถบประเทศกัมพูชา ลาวและไทย
มีรายงานว่าลูกปลาสะนากยักษ์จะอพยพเข้าไปหากินในแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง เคยมีรายงานการพบในเขตจังหวัดอุบลราชธานี บริเวณปากมูล ปัจจุบันจัดเป็นปลาที่หาได้ยากมากจนถึงขั้นอาจสูญพันธุ์ไปแล้ว ..ยังไม่มีความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ในที่เลี้ยง
สำหรับการหายไปของปลาสะนากยักษ์ เชื่อว่ามาจากผลกระทบของโครงการพัฒนาต่างๆ ที่เกิดขึ้นมากมายในลุ่มแม่น้ำโขง โดยเฉพาะจากเขื่อนที่กั้นแม่น้ำสายหลัก นอกจากนี้ชาวบ้านยังเชื่อว่าเป็นปลาที่ตายง่าย หากติดเครื่องมือประมงปลาจะตายอย่างรวดเร็ว จึงยากมากที่จะจับปลาชนิดนี้ได้แบบเป็นๆ
การพบปลาสะนากยักษ์ครั้งล่าสุดเป็นเช่นไร?
สำหรับรายงานการพบปลาสะนากยักษ์ครั้งล่าสุด เกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคมปี พ.ศ. 2565 การพบครั้งนี้ได้สร้างความตกตะลึงให้กับนักวิจัย เนื่องจากพวกเขาไม่ได้รับรายงานเกี่ยวกับปลาชนิดนี้มานานกว่า 20 ปีแล้ว และยังเชื่อว่าสูญพันธุ์ไปจากโลกแล้ว โดยปลาสะนากยักษ์ตัวที่ว่านี้ ถูกจับโดยชาวประมงบริเวณใกล้เขื่อนเซซานสอง ในจังหวัดสตึงแตรง ประเทศกัมพูชา
จากที่นักวิจัยให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า ตัวอย่างล่าสุดของปลาสะนากยักษ์ (Aaptosyax grypus) ซึ่งไม่เคยพบเห็นมาเป็นเวลานานกว่าสองทศวรรษ จนคาดกันว่าปลาสายพันธุ์นี้คงสูญพันธุ์ไปแล้วจริงๆ แต่การพบเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมได้สร้างความประหลาดใจให้กับทีมงานเป็นอย่างมาก …นักวิจัยกล่าวต่อว่า พวกเขาพบปลาสะนากยักษ์ครั้งสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ. 2542 และไม่เคยคาดหวังว่าจะพบปลาสายพันธุ์นี้อีกครั้งหนึ่ง
สำหรับปลาสะนากยักษ์ตัวนี้ มีน้ำหนัก 6 กิโลกรัม แต่น่าเสียดายที่มันตายไปแล้ว อย่างไรก็ตามซากของปลาก็ยังถือเป็นทรัพยากรที่มีค่าสำหรับการวิจัย นักวิจัยจะตรวจสอบอย่างละเอียด เพื่อหาเบาะแสเกี่ยวกับรูปแบบชีวิตของปลาหายากชนิดนี้ …และถึงแม้ปลาตัวนี้จะตาย แต่การพบครั้งล่าสุดได้เพิ่มความหวังใหม่ให้กับนักวิจัยและนักอนุรักษ์อย่างมาก
นอกจากนี้ยังมีบทสัมภาษณ์สั้นๆ จากชาวประมงในจังหวัดสตึงแตรง ..ปลาสะนากยักษ์นั้นหายากมาก ชาวประมงในชุมชนของเขาไม่มีใครเคยจับได้สักตัวในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา
เขาเล่าว่า “เมื่อ 20 ที่แล้วเราเคยจับได้เป็นระยะๆ แต่ก็จับได้ไม่บ่อยนัก เท่าที่จำได้ผมคิดว่าเป็นปลาสากน้ำจืด แต่พ่อแม่ของผมรู้จักมันดี และบอกว่ามันคือปลาสะนากยักษ์ และราคาของมันก็ใกล้เคียงกับปลาสะอี (Mekongina erythrospila) ซึ่งเป็นปลาที่พบได้บ่อยในบริเวณนี้”
ปลาสะนากคืออะไร?
ก็อย่างที่บอกไว้ที่ต้นเรื่อง ว่าจะพูดถึงปลาสะนากอีกชนิด ซึ่งก็คือ ปลาสะนาก (Raiamas guttatus) ที่อยู่ในสกุลปลาน้ำหมึกยักษ์ หรือ Raiamas (ไรอามาส) โดยปลาในสกุลนี้มีอยู่ประมาณ 17 ชนิด เกือบทั้งหมดพบได้ในทวีปแอฟริกา จะมีเพียง 2 ชนิดเท่านั้นที่พบในทวีปเอเชีย และหนึ่งในนั้นก็พบได้ในไทย
โดยปลาสะนากชนิดนี้ มีความยาวประมาณ 30 เซนติเมตร มีลักษณะคล้ายกับปลาแซลมอน จนบางทีในวงการตกปลาก็เรียกมันว่า “แซลมอนเมืองไทย” มีลำตัวยาวทรงกระบอก หัวและปากแหลม ปากกว้างมาก จะงอยปากล่างงุ้มคล้ายตะขอ ไม่มีหนวด เกล็ดเล็ก ลำตัวสีเงินวาว ข้างลำตัวมีประสีน้ำเงินคล้ำ ตัวผู้จะมีตุ่มข้างแก้มแตกต่างจากตัวเมียโดยเฉพาะในฤดูผสมพันธุ์
ปลาชนิดนี้มีหลายชื่อมาก เช่น ปลาน้ำหมึกยักษ์ ปลาอ้ายอ้าว ปลามะห้าว ปลานางอ้าว และอื่นๆ จัดเป็นปลาที่มีความสวยงามมากชนิดหนึ่ง แต่ก็ไม่ค่อยเหมาะที่จะเอาไปเลี้ยงในตู้ เนื่องจากปลาชนิดนี้เป็นปลานักล่าที่ว่องไวมาก และยังอาศัยอยู่แหล่งน้ำไหลค่อนข้างดีจนถึงแรง มันจึงเป็นปลาที่เคลื่อนไหวตลอดเวลา มีนิสัยก้าวร้าว จึงยากที่จะเลี้ยงร่วมกับปลาชนิดอื่นได้ แถมยังกระโดดเก่งมากด้วยจึงต้องระวังเรื่องนี้ให้ดี
สำหรับปลาสะนากชนิดนี้ ไม่ค่อยมีชื่อเสียงในฐานะปลาเนื้อเท่าไร แต่ถือว่ามีชื่อเสียงเป็นพิเศษในฐานะปลาเกมที่นักตกปลาชาวไทยอยากจะตก โดยเฉพาะการตกปลาที่เรียกว่าสตรีมฟิชชิ่ง หรือ การตกปลาน้ำไหล ซึ่งเป็นการตกปลาที่จะเดินไปตามลำธารหรือคลองน้ำไหล จึงพบปลาชนิดนี้ได้มากตามคลอง-ลำธารที่มีน้ำไหลแรงและสะอาดบางแห่ง
และคำถามยอดฮิตคือ กินได้หรือไม่? อันนี้ผมบอกเลยว่าไม่เคยกิน มันดูผอมๆ เหมือนไม่ค่อยมีเนื้อ แต่ก็มีคนบอกว่าอร่อย ก็ลองดูกันเองละกัน