อิคิดนา คือตัวอะไร?
อิคิดนา (Echidna) หรือที่รู้จักกันในชื่อ ตัวกินมดหนาม (Spiky Anteater) หรือ อาจบางทีก็ถูกเรียกว่าตัวตุ่น พวกมันมีขนาดประมาณ 35 – 75 เซนติเมตร ลำตัวปกคลุมไปด้วยหนามและขน เป็นสัตว์ที่ไม่ก้าวร้าว เมื่อถูกคุกคามจะขดตัวเป็นลูกบอลเพื่อป้องกันตัว อิคิดนาไม่มีพิษ ซึ่งต่างจากตุ่นปาก และนอกจากตุ่นปากเป็ดแล้ว ก็มีเพียงอิคิดนาเท่านั้นที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ออกลูกเป็นไข่
อิคิดนา มีอยู่ 2 สกุล หนึ่งคือสกุล ซากลอสซัส (Zaglossus) ซึ่งเป็นอิคิดนาจะงอยปากยาว (long-beaked echidna) มีอยู่ 4 ชนิด สูญพันธุ์ไปแล้ว 2 ชนิด ทั้งหมดมีถิ่นกำเนิดในนิวกินี
กับอีกสกุลก็คือ ทาไคกลอสซิ (Tachyglossus) ซึ่งเป็นอิคิดนาจะงอยปากสั้น (short-beaked echidna) มีอยู่เพียงชนิดเดียว พบในบางส่วนของนิวกินีและทั่วทวีปออสเตรเลีย …โดยอิคิดนาจะงอยปากสั้นถือว่าเป็นชนิดที่มีประชากรมากที่สุดในอิคิดนาทุกชนิด นั้นเพราะพวกมันได้รับการดูแลอย่างดีในออสเตรเลีย
ส่วนอิคิดนาชนิดที่กำลังพูดถึงในเรื่องนี้ก็คือ อิคิดนาจะงอยปากยาวของแอตเทนโบโรห์ ซึ่งอยู่ในสถานะใกล้การสูญพันธุ์ขั้นวิกฤติ …และถือเป็นอิคิดนาในตำนานอีกด้วย
การค้นพบอิคิดนาในตำนาน
อิคิดนาจะงอยปากยาวของแอตเทนโบโรห์ (Attenborough’s long-beaked echidna) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ซากลอสซัส แอทเทนโบโรริ (Zaglossus attenboroughi) อยู่ในสกุลอิคิดนาจะงอยปากยาว (Zaglossus) มันเป็นอิคิดนาที่หนักได้ประมาณ 5 กิโลกรัม จัดว่ามีขนาดเล็กที่สุดในสกุลนี้เลยก็ว่าได้
เหตุที่มันเป็นอิคิดนาในตำนานก็เพราะว่า ตั้งแต่มีการค้นพบและอธิบายลักษณะเมื่อปี พ.ศ. 2504 ก็มีเพียงตัวเดียวที่ตายแล้ว ซึ่งเก็บมาได้จากเทือกเขาไซคล็อปส์ ในดัตช์นิวกินี หลังจากนั้นก็ไม่มีหลักฐานการพบเห็นอีกเลย จนในปี พ.ศ. 2560 มันได้กลายเป็น 1 ในสัตว์ที่อยู่ในโครงการ “ค้นหาสายพันธุ์ที่สูญหาย”
จนในปี พ.ศ. 2566 หลังจากการทำงานอย่างหนักของนักวิจัยที่นำโดย ดร. เจมส์ เคมป์ตัน พวกเขาต้องใช้เวลานานหลายปีเพื่อที่จะตามหาอิคิดนาชนิดนี้ ความจริงไม่ใช่อิคิดนาชนิดนี้หายากเท่านั้น แต่การเข้าไปให้ถึงพื้นที่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากชนพื้นเมืองอย่างมาก
หลังจากที่ใช้เวลาอยู่นานเพื่อทำความเข้าใจกับชนเมือง ทีมนักวิจัยจึงได้ติดตั้งกล้องดักถ่ายสัตว์จำนวน 80 ตัว ซึ่งพวกเขาต้องติดตั้งทั่วภูเขาที่สูงชันและยากที่จะเข้าถึง หลังจากนั้นต้องใช้เวลานานถึง 4 สัปดาห์ เพื่อรอคอยอยู่ในป่า แต่! กล้องก็ไม่ได้บันทึกร่องรอยของอิคิดนาเอาไว้เลย
จนในวันสุดท้าย ด้วยภาพสุดท้ายที่อยู่ในการ์ดหน่วยความจำสุดท้าย พวกเขาได้ถ่ายภาพสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่หายากและเข้าใจได้ยากชนิดนี้ได้สำเร็จ มันเป็นภาพถ่ายแรกของอิคิดนาจะงอยปากยาวของแอตเทนโบโรห์ตัวเป็นๆ แน่นอนว่านักวิจัยไม่สามารถติดตามร่องรอยของอิคิดน่าตัวนี้ได้ แต่อย่างน้อยก็ทำให้รู้ว่า พวกมันยังมีชีวิตอยู่ในป่าแห่งนี้จริงๆ สุดท้ายนักวิจัยหวังว่า การค้นพบนี้ จะช่วยให้ผู้คนหันมาสนใจที่จะอนุรักษ์สัตว์หายากเหล่านี้
มีเรื่องที่น่าสนใจอยู่อย่างหนึ่งคือ อิคิดนาชนิดนี้มีความสำคัญต่อวัฒนธรรมของชาวยังซู ซาปาริ (Yongsu Sapari) ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่บริเวณเนินเขาทางตอนเหนือของเทือกเขาไซคล็อปส์ เมื่อพวกเขามีความขัดแย่งในชุมชน แทนที่จะต้องทะเลาะกันอย่างรุนแรง พวกเข้าจะมีประเพณีว่า ฝ่ายหนึ่งจะต้องไปตามหาอิคิดนาบนภูเขา ส่วนอีกฝ่ายต้องไปหาปลามาร์ลินในมหาสมุทร และเพราะสิ่งมีชีวิตทั้งสองนั้นจับมาได้ยากมาก จนอาจต้องใช้เวลาหานานหลายทศวรรษเพื่อค้นหาพวกมัน และเมื่อพบ! สัตว์เหล่านี้จะกลายเป็นสัญลักษณ์ของการสิ้นสุดความขัดแย้ง และการกลับคืนสู่ความสัมพันธ์อันดีในหมู่บ้าน