นักวิจัยได้ค้นพบเบาะแสที่เชื่อว่าเป็นวิธีการผสมพันธุ์ของ “ไทรโลไบต์” ซึ่งมาจากฟอสซิลของ Olenoides serratus ซึ่งเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ไทรโลไบต์ที่มีชีวิตอยู่เมื่อประมาณ 508 ล้านปีก่อน
ซากดึกดำบรรพ์ที่เพิ่งพบนี้ ได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างดี มันได้เผยให้เห็นส่วนต่อสั้นคู่หนึ่งที่ด้านล่างของลำตัว ซึ่งน่าจะใช้เป็นตัวหนีบ นักวิจัยกล่าวว่า.. O.serratus ตัวเมียอาจรอคอยอยู่ที่พื้นทะเล จากนั้นตัวผู้จะขึ้นขี่เธอจากด้านบน โดยใช้ตัวหนีบจับตัวเธอเอาไว้ ซึ่งเป็นวิธีที่จะทำให้มันอยู่ในตำแหน่งผสมพันธุ์ที่ดีที่สุด
ซาราห์ ลอสโซ (Sarah Losso) หัวหน้านักวิจัย กล่าวว่า “ความสำคัญของการจับตัวเมียก็คือ ตัวผู้จะอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องเมื่อไข่ถูกปล่อยออกมา เพราะนั่นจะเพิ่มโอกาสที่สเปิร์มของมันจะผสมพันธุ์กับไข่ได้สำเร็จ นี่เป็นพฤติกรรมที่จะเพิ่มโอกาสในการผสมพันธุ์ที่ประสบความสำเร็จ”
ไทรโลไบต์เป็นซากดึกดำบรรพ์ที่เป็นที่รู้จักกันกว้างขวาง และอาจจะเป็นซากดึกดำบรรพ์ที่มีชื่อเสียงเป็นอันดับสองรองจากไดโนเสาร์ เมื่อไทรโลไบต์ได้ปรากฏขึ้นครั้งแรกในช่วงต้นของยุคแคมเบรียน ก็เกิดการแตกแขนงเผ่าพันธุ์อย่างรวดเร็ว และแผ่ขยายแพร่พันธุ์ไปกว้างขวาง
เนื่องด้วยความหลากหลายในสายพันธุ์และมีเปลือกกระดองที่ง่ายต่อการกลายเป็นซากดึกดำบรรพ์จึงได้พบเป็นซากดึกดำบรรพ์ได้มากกว่า 20,000 ชนิดในช่วงตลอดมหายุคพาลีโอโซอิก นอกจากนี้ไทรโลไบต์มีความสำคัญในการวิจัยทางด้านการลำดับชั้นหินทางชีวภาพ บรรพชีวินวิทยา และเเพลตเทคโทนิก
นักวิจัยรู้จักสายพันธุ์ O. Serratus มานานกว่าศตวรรษแล้ว หลังจากที่นักบรรพชีวินวิทยาพบซากดึกดำบรรพ์ของมันใน Burgess Shale แหล่งฟอสซิลของสัตว์ทะเลยุคแคมเบรียน ซึ่งปัจจุบันคือเทือกเขาร็อกกี้ของแคนาดา
นักวิจัยส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับ ตัวอย่าง O. Serratus ที่พบในต้นทศวรรษ 1900 ซึ่งหมายความว่าพวกเขาส่วนใหญ่ละเลยตัวอย่างเพิ่มเติมที่พบในช่วงเปลี่ยนศตวรรษที่ 21 .. ลอสโซกล่าว อย่างไรก็ตาม ขณะเริ่มโครงการใหญ่เพื่อตรวจสอบสัตว์ตัวนี้ ลอสโซพบฟอสซิลล้ำค่านี้ที่พิพิธภัณฑ์ Royal Ontario
โดยปกติซากดึกดำบรรพ์ไทรโลไบต์ จะไม่ค่อยรักษาขาของพวกมันเอาไว้ เมื่อผ่านเวลามาหลายร้อยล้านปี จะมีเพียงเปลือกนอกที่แข็งเท่านั้นที่กลายเป็นฟอสซิล ในความเป็นจริง มีเพียง 38 จาก 20,000 สายพันธุ์ที่รู้จักเท่านั้น ที่มีฟอสซิลพร้อมอวัยวะที่ถูกเก็บรักษาไว้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องน่าทึ่ง ที่ตัวอย่างชิ้นนี้ยังคงรักษาส่วนนี้ไว้ได้ “มันเป็นไทรโลไบต์ที่ดูดีอยู่แล้ว เพราะมันมีอวัยวะ”
ขาคู่ที่ไม่ธรรมดาคู่นี้ แคบและสั้นกว่าขาคู่ที่อยู่ข้างหน้าและข้างหลัง ยิ่งไปกว่านั้น อวัยวะสั้นๆ เหล่านี้ไม่มีหนาม ซึ่งเป็นเครื่องหมายที่ขาอีกข้างของไทรโลไบต์ ซึ่งน่าจะช่วยให้มันฉีกอาหารของมันได้
ในการศึกษา ลอสโซและผู้ร่วมวิจัย Javier Ortega-Hernández ได้เปรียบเทียบ อวัยวะของ O.serratus กับอวัยวะของสัตว์ขาปล้องที่มีชีวิต ซึ่งเป็นกลุ่มสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังสมัยใหม่จำนวนมาก รวมทั้งแมลง แมงมุมและปู
และจากการวิเคราะห์ก็พบว่า อวัยวะแปลกๆ ของ O.serratus น่าจะเป็นตัวหนีบ ที่ใช้ระหว่างช่วงผสมพันธุ์ ซึ่งมีแนวโน้มว่าตัวผู้จะขึ้นไปบนตัวเมีย โดยที่ศีรษะของมันอยู่ในแนวเดียวกับลำตัวของตัวเมีย “ดังนั้นมันจึงเอนไปทางด้านหลังมากกว่า แต่ก็อยู่ด้านบนของตัวเมีย”
นี่เป็น “กลยุทธ์การผสมพันธุ์แบบตัวล็อก” ซึ่งมีให้เห็นในปัจจุบันในแมงดาทะเล (Limulus polyphemus) ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับไทรโลไบต์อย่างมาก
“ในแมงดาทะเล พวกมันค่อนข้างรุนแรงในเรื่องแบบนี้ ตัวผู้จะผลักกัน คุณอาจได้เห็นตัวผู้หลายตัวจับตัวเมียตัวเดียว ตัวผู้จะลงเอยด้วยการทำร้ายกันและบางครั้งพวกมันก็ฉีกอวัยวะออก เพราะพวกมันทั้งหมดกำลังกระแทกตำแหน่งที่จะอยู่ในจุดที่ดีกับตัวเมีย”
นี่เป็นครั้งแรกที่เราเห็น ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่สำคัญจริงๆ ของอวัยวะของไทรโลไบต์” ลอสโซกล่าว “เป็นเรื่องที่น่าสนใจที่จะเห็นว่าพฤติกรรมการผสมพันธุ์ที่ซับซ้อนได้พัฒนาขึ้นในสัตว์ขาปล้องในช่วงกลางยุคแคมเบรียน