ค้างคาวคุณกิตติ หนักเพียง 1.2 – 2 กรัม
ค้างคาวคุณกิตติ, ค้างคาวกิตติ หรือ ค้างคาวหน้าหมู (Kitti’s hog-nosed bat) ลำตัวยาวประมาณ 29-33 มม. หนักประมาณ 2 กรัม มันมีขนาดเล็กและเบาจนบางทีก็ถูกเรียกว่า “bumblebee bat (ค้างคาวผึ้ง)” มีสีน้ำตาลปนแดงเรื่อๆ หรือสีเทา มีจมูกคล้ายจมูกหมู พบได้ทางตะวันตกของประเทศไทย และทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศพม่า อาศัยอยู่ตามถ้ำหินปูนริมแม่น้ำ
ค้างคาวคุณกิตติมีอุปนิสัยชอบอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เฉลี่ยแล้วกลุ่มละ 100 ตัวต่อถ้ำ ออกหากินเป็นช่วงสั้นๆในตอนเย็นและเช้ามืด หากินไม่ไกลจากถ้ำที่พักอาศัย กินแมลงเป็นอาหาร ตกลูกปีละหนึ่งตัว จำนวนประชากรหรือความเป็นอยู่ของค้างคาวชนิดนี้ในประเทศพม่าไม่เป็นที่แน่ชัด แต่ที่พบในไทยมีจำนวนน้อยมาก จากการสำรวจพบได้เฉพาะในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีเท่านั้น จึงเป็นสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
ประวัติการพบ ค้างคาวคุณกิตติ
ค้าวคาวกิตติค้นพบครั้งแรกในปี พ.ศ. 2516 โดย “กิตติ ทองลงยา” นักสัตววิทยาของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย บริเวณถ้ำไทรโยค อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ระหว่างทำการเก็บตัวอย่างค้างคาวในโครงการการสำรวจสัตว์ย้ายแหล่งทางพยาธิวิทยา
กิตติ ทองลงยา พบค้างคาวที่มีขนาดเล็กมากซึ่งไม่เคยเห็นมาก่อน จึงได้ส่งตัวอย่างค้างคาวให้กับจอห์น เอ็ดวาร์ด ฮิลล์ (John Edward Hill) แห่งพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ ประเทศอังกฤษ เพื่อตรวจพิสูจน์ จึงพบว่าค้างคาวชนิดนี้มีลักษณะหลายอย่างเป็นแบบฉบับของตนเอง สามารถที่จะตั้งเป็นสกุลและวงศ์ใหม่ได้
หลังจากกิตติเสียชีวิตในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2517 ฮิลล์ได้จำแนกและตีพิมพ์ถึงค้างคาวชนิดนี้ และตั้งชื่อว่า Craseonycteris thonglongyai เพื่อเป็นเกียรติแก่กิตติ ทองลงยา ผู้ค้นพบค้างคาวชนิดนี้เป็นคนแรก
จนในปี พ.ศ. 2517 มีการพบค้างคาวคุณกิตติในประเทศพม่า ใน 9 แห่ง ในแถบเทือกเขาหินปูนบริเวณแม่น้ำสาละวิน แม่น้ำอัตทะรัน (Ataran), และแม่น้ำคเยง (Gyaing) ของรัฐกะเหรี่ยงและรัฐมอญ
ค้างคาวที่พบในไทยและพม่ามีลักษณะภายนอกเหมือนกัน แต่มีความแตกต่างกันในเรื่องของการใช้คลื่นเสียงในการนำทาง ซึ่งจนถึงตอนนี้ยังไม่ทราบสาเหตุว่าทำไมประชากรของค้างคาวทั้งสองประเทศจึงมีการวิวัฒนาการต่างกันไป
Advertisements
การอนุรักษ์
ในปี พ.ศ. 2551 ค้างคาวคุณกิตติจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ โดยสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) จากการลดลงของพวกมันในประเทศไทย ค้างคาวคุณกิตติจึงจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535
ปัจจุบันจากฐานข้อมูลชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามในประเทศไทยค้างคาวคุณกิตติอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง และในปี พ.ศ. 2550 ค้างคาวคุณกิตติเป็นหนึ่งในสิบโครงการของสปีชีส์ที่ถูกคุกคามอย่างรุนแรง โดยโครงการสัตว์ที่มีวิวัฒนาการโดดเด่นและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ทั่วโลก (EDGE)