แม้ปลาจะเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมไทยมาช้านาน แต่ด้วยความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามาจากทุกทิศทาง ทำให้ระยะห่างความสัมพันธ์ระหว่างปลา กับคนเริ่มเปลี่ยนไป จนบางครั้งเราอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าแต่ละจังหวัดนั้นมีปลาประจำจังหวัดเป็นของตัวเอง และแม้แต่กรุงเทพมหานครเองก็มีด้วยเช่นกัน นั่นคือ “ปลากะโห้”
ปลากระโห้ พี่ใหญ่สายพันธ์ปลาเกล็ดน้ำจืด
ปลากระโห้ (Siamese giant carp) ซึ่งเป็นปลาเพียงชนิดเดียวที่อยู่ในสกุล Catlocarpio เป็นปลาน้ำจืดที่มีขนาดเกล็ดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นปลาในวงศ์ปลาตะเพียนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดอีกด้วย โดยเฉลี่ยมักมีขนาดประมาณ 1.5 เมตร แต่พบใหญ่สุดได้ถึง 3 เมตร หนักได้ถึง 150 กิโลกรัม
จัดเป็นปลาน้ำจืดไทยขนาดใหญ่ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมประมงเพาะพันธุ์ปลาที่อยู่ในลำน้ำดั้งเดิมเพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟู จนผสมเทียมได้สำเร็จบริเวณเขื่อนชัยนาท แต่ก็ยังขาดแคลนพ่อแม่พันธุ์ จึงทรงมีพระบรมราชานุญาต ให้กรมประมงทดลองใช้ปลากระโห้ในสระพระตำหนักจิตรลดารโหฐานมาเพาะพันธุ์ และประสบความสำเร็จใน
ในอดีต ปลากะโห้พบเฉพาะในแม่น้ำสายใหญ่ ตั้งแต่แม่น้ำแม่กลองถึงแม่น้ำโขง โดยเฉพาะในแม่น้ำเจ้าพระยาในแถบที่ราบลุ่มภาคกลางของประเทศไทยในหลายจังหวัด และยังพบได้บ้างที่แม่น้ำป่าสัก ในต่างประเทศพบได้ที่ลาว, กัมพูชา และเวียดนาม แต่ปัจจุบันลดจำนวนลงไปมากเรื่องจากปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมและการถูกจับเป็นจำนวนมาก จัดอยู่ในสถานภาพเป็นปลาใกล้สูญพันธุ์ชนิดหนึ่ง
การแพร่กระจาย และแหล่งอาศัย
ปลากระโห้พบมากในแม่น้ำหรือแหล่งน้ำต่างๆของภาคกลาง ทั้งแม่น้ำสายหลัก บ่อน้ำธรรมชาติ และคูคลองส่งน้ำ โดยปัจจุบัน พบปลากระโห้มากในแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่จังหวัดอยุธยา ขึ้นไปถึงจังหวัดอ่างทอง สิงห์บุรี และเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ส่วนบริเวณที่พบปลากระโห้ขนาดใหญ่ และชุกชุมจะเรียกว่า วัง มักเป็นบริเวณน้ำลึก และมีโขดหินหรือตอไม้ใต้ท้องน้ำ ได้แก่
- บริเวณ ต.บ้านแป้ง อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี
- บริเวณ ต.บ้านไร่ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี
- บริเวณ ต.วัดเสือข้าม อ.อินทบุรี จ.สิงห์บุรี
- บริเวณ ต.บ้านตลุก อ.สรรพยา จ.ชัยนาท
ปลากระโห้วัยอ่อนหรือลูกปลากระโห้ขนาดเล็กจะชอบอาศัยตามบริเวณน้ำตื้น เช่น พื้นที่ลุ่มน้ำท่วมถึง นาข้าว ริมตลิ่ง ริมขอบบ่อ เป็นต้น โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนจะพบลูกปลากระโห้มากที่สุด หลังจากเข้าหน้าหนาวหรือหน้าแล้งที่น้ำลด ลูกปลาหรือปลารุ่นจะลงตามน้ำเข้าอาศัยในแม่น้ำหรือหนองน้ำลึก ส่วนปลากระโห้ตัวเต็มวัยหรือขนาดใหญ่ส่วนมากจะพบอาศัยเฉพาะในแหล่งน้ำลึกตามแม่น้ำหรือบ่อน้ำลึกต่างๆ
การผสมพันธุ์ และวางไข่
ในช่วงระหว่างเดือนมิถุนายน-กันยายน ปริมาณน้ำในแม่น้ำจะสูงมากขึ้น ปลากระโห้พ่อแม่พันธุ์จะว่ายอออกจากวังทวนน้ำขึ้นไปใกล้กับต้นน้ำบริเวณใกล้เขื่อนเจ้าพระยาเพื่อจับคู่ และวางไข่ ซึ่งช่วงนี้มักพบชาวประมงเข้าจับปลาจำนวนมาก และมักจับได้ปลากระโห้ขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นพ่อแม่พันธุ์ปลา
ปลากระโห้ในฤดูวางไข่จะสังเกตได้ ดังนี้
- ขนาดลำตัว ปลาตัวผู้จะเล็กกว่าตัวเมีย
- รูปร่างลำตัว ปลาตัวผู้จะเรียวยาวกว่าปลาตัวเมีย โดยปลาตัวเมียจะป้อม สั้น
- ด้านหลัง หากมองด้านบนหลังปลา ปลาตัวผู้จะไม่เป่งข้าง ส่วนปลาตัวเมียจะท้องอูม เป่งออกข้าง
- ด้านข้าง เมื่อมองด้านข้าง ปลาตัวผู้จะมองเห็นสันหลังเป็นสัน ปลาตัวเมียจะมีสันหลังแบน
- เมื่อสัมผัสบริเวณท้อง ท้องปลาตัวเมียจะนุ่มกว่าตัวผู้
- ช่องเพศ ปลาตัวเมียจะมีช่องเพศเป็นรูปไข่ บวม และนูน รูเปิดกว้าง และมีสีแดงอมชมพู ส่วนช่องเพศปลาตัวผู้จะกลม และเล็ก
- ปลาตัวผู้จะมีสีคล้ำมากกว่า
ไข่ปลากระโห้ เป็นไข่ประเภทครึ่งจมครึ่งลอยคล้ายกับไข่ปลาตะเพียน
แต่มีขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย ขณะยังไม่สัมผัสน้ำประมาณ 1.4-1.5 มิลลิเมตร หลังจากสัมผัสน้ำแล้ว เปลือกไข่จะขยายตัว มีขนาดเพิ่มเป็นประมาณ 3-4 เท่า โดยมีระยะการพัฒนาไข่ ดังนี้
- ไข่มีลักษณะเบี้ยว ไม่กลม สีของเม็ดไข่ทึบ ผิวไข่ไม่เป็นมัน มีสีขาวออกเหลือง จัดเป็นไข่อ่อน ลักษณะเบี้ยวเกิดจากการอัดตัวของไข่ในเต้าไข่
- ไข่มีลักษณะค่อนข้างกลม ไม่มีเยื่อติดหรือมีน้อย ผิวไข่โปร่งใส ไม่เป็นมัน มีสีเหลืองเข้ม จัดเป็นไข่เริ่มแก่ สามารถฉีดฮอร์โมนเร่งเพิ่มผสมน้ำเชื้อได้
- ไข่มีลักษณะกลม ไม่มีเยื่อติด ผิวไข่โปร่งใส ผิวไข่เป็นมัน มีสีเหลืองเข้ม จัดเป็นไข่แก่ พร้อมฉีดฮอร์โมน สมารถผสมกับน้ำเชื้อได้ดี เปอร์เซ็นต์การฟักตัวสูง
- ไข่มีลักษณะกลม แต่ไม่สม่ำเสมอ ผิวไข่โปร่งใส ผิวไข่เป็นมัน เปลือกไข่เริ่มแตก มีสีน้ำตาลอมเขียว จัดเป็นไข่แก่จัด ไม่เหมาะสมกับการผสมน้ำเชื้อ หากผสมกับน้ำเชื้อ ไข่จะไม่ฟัก หรือหากฟักจะฟักน้อย และอัตราการรอดต่ำ
ซึ่งปลากระโห้ที่พบได้ทุกวันนี้ส่วนใหญ่เป็นปลาที่เกิดจากการเพาะพันธุ์ และผสมเทียมในที่เลี้ยงของกรมประมง ก่อนจะนำไปปล่อยในแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งในแต่ละปีละมีปลากว่า 200,000-1,000,000 ตัวถูกปล่อยลงในแหล่งน้ำต่างๆ แต่ทว่าโอกาสที่ลูกปลาเหล่านี้จะเติบโตจนเต็มวัยในธรรมชาติก็มีโอกาสน้อยมาก