ปูเจ้าพ่อหลวง ปูหิน หรือปูน้ำตก (Indochinamon bhumibol) เป็นปูน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลก เป็นชนิดพันธุ์เฉพาะถิ่นของไทย (endemic species) พบเฉพาะที่จังหวัดเลยและบริเวณรอยต่อระหว่างจังหวัดเพชรบูรณ์และชัยภูมิ
พบเป็นครั้งแรกที่ภูหลวง จังหวัดเลย เมื่อปี 2519 โดยในสมัยนั้น (วันที่ 5 มกราคม 2543) ได้รับพระบรมราชานุญาตอัญเชิญพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นนามปูน้ำจืดชนิดใหม่ของโลก
ลักษณะเด่นของปูเจ้าพ่อหลวงมี 3 สี คือ สีน้ำตาลเข้ม สีม่วง และสีส้ม โดยกระดองจะเป็นสีน้ำตาลเข้ม ขาเดิน 4 คู่ และขาก้ามทั้งสองข้างเป็นสีน้ำตาลเข้ม ยกเว้นด้านในของก้ามหนีบอันล่างเป็นสีม่วง และปลายก้ามหนีบทั้งสองข้างเป็นสีส้ม และจากการสังเกตุของเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนพบว่า รอยบริเวณหลังกระดองปูเจ้าพ่อหลวง ลักษณะคล้ายรูป “ครุฑ”
ปูเจ้าพ่อหลวง อาศัยอยู่ตามลำธารที่ค่อนข้างสะอาดในป่า ตามใต้ก้อนหิน หรือขุดรูอยู่ตามรากไม้ในลำธารสาขา มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ (Endangered Species) เนื่องจากถูกนำมาบริโภคมากเกินไป ปัญหามลพิษทางน้ำจากการใช้สารเคมีทางการเกษตร และมีการท่องเที่ยวที่ส่งเสริมการบริโภคปูในช่วงที่ปูมีการสะสมไขมัน
และเนื่องจากปูชนิดนี้ จำเป็นต้องอาศัยก้อนหินในแหล่งน้ำเป็นที่หลบภัยและที่อยู่อาศัย การสร้างฝายที่ทำให้ลำธารตื้นเขิน เกิดการสะสมของตะกอน ยังเป็นการทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยของปูและสัตว์น้ำอื่นๆอย่างคาดไม่ถึง ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีแนวทางในการคุ้มครองปูเจ้าพ่อหลวง รวมถึงถิ่นที่อยู่อาศัยอย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ การพบปูเจ้าพ่อหลวงในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าวังโป่ง – ชนแดน ในครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 2 นับจากเดือนกันยายน ปี 2564 โดยนายธนิต นุ่นลอย อดีตหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าวังโป่ง-ชนแดน ในสมัยนั้น ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับปัจจุบัน
สันนิษฐานได้ว่าในช่วงเดือนกันยายน เป็นช่วงฤดูผสมพันธุ์ของปูเจ้าพ่อหลวง เป็นช่วงมีความชุกชุมมากที่สุด เป็นการยืนยันรายงานการพบปูเจ้าพ่อหลวงในถิ่นอาศัยแห่งใหม่ในประเทศไทย และเป็นการบ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าวังโป่ง – ชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์อีกด้วย