การตกปลาประเภทนี้มีเทคนิคที่สลับซับซ้อนกว่าการตกปลากินพืชที่เราใช้เหยื่อผสมหรือเหยื่อสูตรต่างๆ เล็กน้อย เพราะเหยื่อที่ใช้ตกปลาล่าเหยื่อที่ได้ผลดีที่สุดคือ “เหยื่อปลาเป็น” ที่ยังมีชีวิต เหยื่อสดหรือเหยื่อที่ตายแล้ว และเหยื่อปลอมที่มนุษย์คิดค้นขึ้นมา เพื่อหลอกล่อปลาเหล่านี้
การเตรียมอุปกรณ์
อุปกรณ์ที่ใช้ตกปลาล่าเหยื่อตามแหล่งธรรมชาติต่างๆ ต้องมีระดับใหญ่กว่าอุปกรณ์ที่ใช้งานตามฟิชชิ่งปาร์คทั่วๆ ไป โดยเฉพาะคันเบ็ดต้องมีความแข็งแรง หรืออย่างน้อยต้องมีแอ็คชั่นปานกลางถึงปานกลางค่อนข้างแข็ง เพราะไม่เพียงแต่เราจะต้องอัดปลาที่ดิ้นรน ด้วยกำลังที่รุนแรงให้อยู่หมัดโดยเร็วเท่านั้น
เราจำเป็นต้องใช้คันเบ็ดที่มีแอ็คชั่นแข็งพอที่จะรับกำลังแรงที่ใช้ในการตีเหยื่อขนาดใหญ่ออกไปยังหมายระยะไกลได้อีกด้วย แต่เพื่อนนักตกปลาอาจจะใช้อุปกรณ์ขนาดเล้กลงมาหรือันเบ็ดแอ็คชั่น ML ก็ได้ ถ้าใช้เหยื่อขนาดเล็กและหมายหรือระยะที่ต้องการตีเหยื่อออกไปอยู่ห่างจากชายตลิ่งไม่มากนัก
เกี่ยวกับสายตกปลา
ขนาดของสายเบ็ดที่ใช้อย่างน้อยที่สุดควรมีความทนแรงดึงไม่ต่ำกว่า 12 ปอนด์ และถ้าแหล่งน้ำนั้นเต็มไปด้วยตอไม้ใต้น้ำหรือสิ่งกีดขวางอย่างอื่นด้วยแล้ว สายก็ต้องมีขนาดใหญ่ขึ้นไปตามความเหมาะสมกับสภาพพื้นใต้น้ำ
ในยุคนี้เท่าที่เห็นส่วนมากนักตกปลาในบ้านเรา มักเลือกใช้สาย PE เป็นสายหลัก และจะใช้สายลีดเดอร์สายเอ็น หรือสายฟูลโร แต่ก็มีนักตกปลาจำนวนมากเช่นกันที่เลือกใช้สายเอ็นเป็นสายเมนท์ และเลือกใช้สายลีดเดอร์เป็นลวด
ซึ่งที่จริงแล้วหากเป็นการตกปลาน้ำจืด จะมีก็เพียงแต่ปลาชะโดเท่านั้น ที่เหมาะกับการเลือกใช้ลีดเดอร์ลวดทุกครั้งในการตก ส่วนปลาเกมชนิดอื่นไม่จำเป็นต้องใช้โดยใช้สายช็อคขนาดปอนด์สูงๆ แทนได้ เพราะถ้าใช้ลีดเดอร์ที่มีความกระด้างหรือแข็งเกินไป จะทำให้ตัวเหยื่อที่เกี่ยวติดอยู่กับเบ็ด มีลักษณะผิดปกติไม่เป็นธรรมชาติ
ทำให้เกมที่คุณต้องการเกิดระแวงรีบคาบเหยื่อออกจากปาก หรือไม่เข้ามาเหลียวแลเหยื่อของคุณเลยก็ได้ แต่ถ้าคุณต้องการใช้ลีดเดอร์ลวดเพื่อความปลอดภัยไว้ก่อน ก็ควรเลือกใช้สายที่มีความอ่อนตัวแต่แข็งแรงอย่างเช่นลีดเดอร์ลวดหุ้มไนล่อน สายลีดเดอร์นี้ควรมีควมยาวไม่เกินครึ่งเมตรหรือประมาณฟุตครึ่ง
เกี่ยวกับ ตัวเบ็ด
“ตัวเบ็ด” ที่ใช้เกี่ยวเหยื่อนั้นก็ขึ้นอยู่กับขนาดและรูปร่างของปลาเหยื่อที่เราใช้ ถ้าปลาเหยื่อมีขนาดเล็กและลำตัวค่อนข้างป้อมก็ใช้ตัวเบ็ดเพียงตัวเดียว ถ้ามีขนาดใหญ่หรือลำตัวยาวรีก็ใช้ตัวเบ็ด 2 ตัว และตัวเบ็ดที่ใช้นี้จะเป็นแบบเงี่ยงเดียวตัวใหญ่หรือแบบสามเงี่ยงตัวเล็กก็ได้
เพราะเป็นการตกปลาในแหล่งธรรมชาติ และเหตุผลสำคัญประการหนึ่งก็คือบางครั้งปลาเกม เช่นชะโดอาจจะเข้าคว้างับเหยื่อช่วงกลางลำตัว ก่อนที่จะขยอกกลืนกินส่วนหัวเข้าไป ซึ่งถ้าเราใช้ตัวเบ็ดแบบสามเงี่ยงจะทำให้โอกาสที่ตัวเบ็ดฮุคติดปากปลาได้ง่าย และแน่นหนายิ่งขึ้นขณะที่มันคาบเหยื่อ แต่ถ้าปลาเหยื่อมีขนาดเล็ก เช่นปลาซิว เหยื่ออาจจะถูกกลืนเข้าไปในทันที
การใช้ตัวเบ็ดเงี่ยงเดียวขนาดใหญ่ (ตั้งแต่เบอร์ 1 ขึ้นไป) หรือเบ็ดสามเงี่ยงตัวเล็กเพียงตัวเดียว ก็เพียงพอที่จะทำให้เบ็ดฮุคติดปากปลาได้
เหยื่อสดหรือเหยื่อตาย
ตามปกติแล้วปลาเล็กปลาน้อยเกือบทุกชนิด เราสามารถนำมาใช้เป็นเปลาเหยื่อได้ทั้งนั้น แต่ก็มีปลาเหยื่อชนิดใดชนิดหนึ่งที่เป็นของโปรดปรานเป็นพิเศษเช่นกัน อย่างเช่นปลากรายชอบกินปลาซิว เป็นต้น เหยื่อตายที่นำมาใช้ไม่ควรเป็นเหยื่อที่สดอยู่ด้วยการแช่แข็ง ควรเป็นเหยื่อที่สดจริงๆ หรือเพิ่งตายได้ไม่นาน เพราะเนื้อหนังของเหยื่อแช่แข็งจะนุ่มและเละเกินไปเมื่อความเย็นละลายออกหมด เป็นเหตุให้ด้วยเหยื่อหลุดออกจากตัวเบ็ดได้ง่าย
และที่ควรคำนึงถึงก็คือถ้าเป็นการตกแบบหน้าดินที่ให้เหยื่ออยู่นิ่งกับที่ ไม่ควรใช้ปลาเหยื่อที่มีเกล็ดหรือลำตัวออกสีเขียว เพราะจะไม่เป็นสิ่งสะดุดสายตาของปลาล่าเหยื่อ ซึ่งตรงกันข้ามกับกรณีของสายเบ็ดสีเขียวที่นิยมใช้กัน ซึ่งก็เป็นเพราะปลามองเห็นไม่ค่อยชัดนั่นเอง
ขนาดของปลาเหยื่อขึ้นอยู่กับขนาดของปลาที่ปลาเป้าหมาย หรือที่คิดว่ามีตัวอยู่ในหมายนั้นๆ นักตกปลาบางคนก็คิดว่าถ้าใช้เหยื่อขนาดใหญ่มากเท่าไร ปลาที่เข้ามากินก็จะมีขนาดใหญ่มากเป็นสัดส่วนตามขึ้นไปด้วย แต่ถ้าจะว่ากันอย่างเป็นกลางๆ แล้ว เราควรใช้เหยื่อขนาดใหญ่ในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ พื้นที่กว้างขวาง เช่น ตามอ่างเก็บน้ำ และใช้เหยื่อขนาดเล็กในการตกตามแม่น้ำลำคลองหรือในสภาพพื้นใต้น้ำที่เต็มไปด้วยโขดหินและกอพืช
การตกปลาด้วยเหยื่อตายแบบ “จมแล้วดึง”
เทคนิคนี้เป็นวิธีการที่ง่ายที่สุดและได้ผลดีที่สุดในการตกปลาล่าเหยื่อด้วยเหยื่อสดหรือเหยื่อตาย ซึ่งนักตกปลาบางคน อาจจะเคยคิดแต่เพียงว่าการตกปลาด้วยเหยื่อแบบนี้ เป็นการตกแบบเหยื่ออยู่กับที่หรือไม่มีแอ็คชั่นเท่านั้น แต่ด้วยเทคนิควิธีนี้เราสามารถทำให้เหยื่อตายเกิดแอ็คชั่นดึงดูดความสนใจต่อฝูงปลาล่าเหยื่อขึ้นมาได้
ปลาเหยื่อที่ใช้ควรมีขนาดหรือขนาดปานกลางประมาณ 2-3 นิ้ว เนื่องจากเทคนิควิธีนี้ต้องมีการตีเหยื่อออกไปหลายๆ ครั้งเช่นเดียวกับการตีเหยื่อปลอม ถ้าเราใช้เหยื่อขนาดใหญ่ จะทำให้อุปกรณ์ถูกใช้งานมากจนเกิดแรงเครียด
และแรงกระแทกของเหยื่อที่ตกลงสู่ผิวน้ำหลายๆ ครั้งจะทำให้พื้นน้ำบริเวณนั้นปั่นป่วนผิดปกติมากเกินไป จนฝูงปลาแตกกระจายว่ายหนีไปหมด เรื่องสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือปลาเหยื่อที่จะนำมาใช้กับวิธีนี้ ภายในกระเพาะหรือท้องของมันจะต้องไม่มีอากาศหรือลมอยู่เลย เพราะไม่เช่นนั้นจะทำให้เหยื่อลอยอยู่ใต้ผิวน้ำไม่จมถึงพื้นหน้าดิน ซึ่งเราจะป้องกันปัญหานี้ได้โดยใช้เข็มเจาะถี่ๆ ไปตามแนวลำตัวเหยื่อ
ตามภาพประกอบนั้นเป็นการใช้เบ็ดเดียวเกี่ยวเหยื่อ ตัวแรกเกี่ยวบริเวณใกล้ปาก และตัวที่สองเกี่ยวใกล้กับครีบหลังซึ่งประโยชน์อีกอย่างหนึ่งของการใช้เบ็ดสองตัวก็คือจะไม่ทำให้เหยื่อหลุดได้ง่าย เพราะเทคนิควิธีนี้เหยื่อจะถูกตีออกไปและลากต้านน้ำกลับมาหลายๆ ครั้ง
เทคนิคแบบ “จมแล้วดึง” นี้ เรา “ไม่ใช้” ตะกั่วถ่วงหรือทุ่นลอยเป็นอุปกรณ์ประกอบเมื่อตีเหยื่อตกลงยังหมาย เหยื่อจะค่อยๆ ส่ายตัวลงไปมาจมลงสู่พื้นหน้าดิน ซึ่งบางครั้งก็อาจจะดึงดูดให้ปลาล่าเหยื่อปรี่เข้ามาคว้าเหยื่อในช่วงนี้
แต่ถ้าไม่มีการกินเกิดขึ้นก็ปล่อยให้เหยื่อนอนอยู่บนพื้นหน้าดินสัก 1-2 นาที แล้วจึงยกปลายคันเบ็ดขึ้นและกรอสายเข้ามาประมาณ 5-6 รอบ เพื่อดึงเหยื่อให้ลอยขึ้นมา แล้วปล่อยให้เหยื่อจมลงสู่พื้นหน้าดินอีกครั้งหนึ่ง ถ้าไม่มีปลาเข้าคว้าเหยื่ออีก
ก็ให้ทำตามวิธีการเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าเราจะลากเหยื่อมาจนถึงชายตลิ่ง จึงค่อยเก็บเหยื่อขึ้นมาตีออกไปใหม่ ลักษณะการส่ายตัวลอยขึ้นและจมลงของเหยื่อนี้ เป็นการเลียนแบบอาการของปลาเจ็บลักษณะหนึ่ง ซึ่งถ้ามีปลาเกมว่ายอยู่ใกล้เคียงกับหมายนั้น มันก็คงอดใจที่จะปรี่เข้ามาคว้าเหยื่อกินไม่ไหว หรืออย่างน้อยก็คงออกมาปรากฏตัวให้เห็นบ้าง
ปลาล่าเหยื่อจะเข้าโจมตีเหยื่อได้หลายลักษณะ บางครั้งมันอาจพุ่งรี่เข้ากินเหยื่อแล้วว่ายหนีไปอย่างรวดเร็ว บางครั้งก็จะว่ายเข้ามาใกล้ๆ เหยื่อที่นอนอยู่บนพื้นหน้าดินและฉวยเหยื่อในทันทีที่คุณยกคันเบ็ดขึ้นเพื่อให้เหยื่อเคลื่อนไหว หรือบางครั้งมันอาจจะคาบเหยื่อคาปากอยู่เฉยๆ โดยที่เราไม่รู้สึกถึงความผิดปกติ จนเมื่อยกคันและกรอสายแล้วนั่นแหละ จึงจะรู้สึกถึงแรงต้านที่ปลายสาย
ดังนั้นการตกปลาด้วยเทคนิควิธีนี้ ถ้าใช้เหยื่อเล็กควรวัดเบ็ดในทันทีโดยไม่มีการลังเลใจ และเพื่อให้ตัวเบ็ดฮุคติดปากปลาอย่างแน่นหนา ก็ไม่ควรให้สายหย่อนเมื่อวัดเบ็ด ตวัดคันมาด้านหลังในจังหวะที่นิ่มนวลแต่รุนแรงจงจำไว้อย่างหนึ่งว่าการถือคันรอพร้อมที่จะวัดเบ็ดในจังหวะที่ถูกต้อง มีโอกาสที่ตัวเบ็ดจะฮุคติดปากปลาได้แน่นอนกว่าการถลาเข้าคว้าคันยกขึ้นวัดอย่างรีบร้อนฉุกละหุก
ก็คงพอจะมองเห็นและเข้าใจเทคนิคแบบ “จมแล้วดึง” นี้ เหยื่อจะครอบคลุมพื้นที่หมายตกปลาได้กว้างขึ้นเช่นเดียวกับการใช้เหยื่อเป็น ซึ่งโอกาสแห่งความสำเร็จก็คงจะมีพอๆ กัน และถ้าคุณตีเหยื่อออกยังหมายเดิมประมาณ 5-6 ครั้งแล้วยังไม่มีปลาเข้าสไตร๊ค์ ก็ควรจะย้ายทำเลเปลี่ยนหมายหรือจุดตีเหยื่อใหม่แล้วลองใช้วิธีการเดิม
การตกปลาด้วยเหยื่อตายแบบหน้าดิน
เทคนิควิธีนี้ก็เหมือนกับการตกปลาแบบหน้าดินตามธรรมดาคือตีเหยื่อออกไปและปล่อยให้จมนอนอยู่บนพื้นหน้าดิน แล้เราก็นั่งปล่อยอารมณ์รอฟังเสียงรอกร้องเท่านั้น การเกี่ยวเหยื่อก็เหมือนกับเทคนิควิธีแรก แต่ถ้าหมายอยู่ในระยะไกลมากซึ่งต้องใช้กำลังแรงในการตีเหยื่อออกไป เพื่อป้องกันไม่ให้เหยื่อหลุดขณะลอยอยู่ในอากาศ ก็ควรใช้เส้นด้ายมัดลีดเดอร์แนบกับลำตัวเหยื่อตรงบริเวณโคนหางเพื่อความหนาแน่นยิ่งขึ้น
เมื่อตีสายออกไปและกรอสายให้ตึงแล้ว คุณก็วางคันเบ็ดลงบนเรสท์สองอันเช่นเดียวกับวิธีการในฉบับก่อนๆ ถ้าอยู่ในสภาพที่มีลมแรงมากก็ควรวางปลายคันเบ็ดให้จุ่มลงไปอยู่ใต้ผิวน้ำ เพื่อไม่ให้สายเบ็ดแกว่งไปมาเมื่อโดนลมพัด เปิดแขนกว้านสายทิ้งไว้เพื่อให้ปลาคาบเหยื่อพาว่ายไปโดยไม่รู้สึกถึงสิ่งผิดปกติ
โดยเราอาจจะใช้แผ่นกระดาษวางทับสายบนพื้นก็ได้ เพื่อจะได้เห็นสัญญาณการกินเหยื่อของปลาได้อย่างชัดเจน เมื่อคุณสังเกตเห็นปลาลากสายออกไป ก็รีบเปิดแขนกว้านสายแล้วรอจนกว่าสายตึง จึงตวัดขึ้นมาทางด้านหลังในจังหวะที่นิ่มนวลและรุ่นแรง ถ้าหมายหรือเหยื่อที่ตีออกไปนั้นจมอยู่ในระยะไกล ก่อนตวัดวัดคันเบ็ดจะต้องยื่นหรือส่งปลายคันออกไปเข้าหาตัวปลา เพื่อเป็นการชดเชยพลังที่เราออกแรงวัดซึ่งจะสูญเสียลงไปเล็กน้อย อันเนื่องมาจากการยึดของสายเอ็นที่ใช้อยู่
การตกปลาด้วยเหยื่อตายแบบใช้ทุ่นลอย
ทุ่นลอยที่จะนำมาใช้กับวีธีการนี้ควรมีรูปร่างที่เพรียวลม แต่มีแรงพยุงน้ำหนักเหยื่อให้ลอยอยู่ใต้ผิวน้ำได้ และใหญ่พอที่จะมองเห็นได้ชัดในระยะไกล ในแหล่งน้ำที่กว้างใหญ่ ทุ่นที่ลอยไปบนผิวน้ำตามความแรงของกระแสลม จะลากพาเหยื่อให้ลอยตามไปด้วย ทำให้รัศมีของเหยื่อกินพท้นที่กว้างออกไปอีก และอาการกระเพื่อมขึ้นๆ ลงๆ ของทุ่นบนผิวน้ำจะส่งผ่านมายังเหยื่อทำให้เกิดแอ็คชั่นเรียกร้องความสนใจต่อปลาเกมขึ้นมาเล็กน้อย
อีกเทคนิควีหนึ่งที่ใช้ได้ผลดี เป็นการนำเอาตะกั่วถ่วงเข้ามาเป็นอุปกรณ์ประกอบด้วย โดยการผูกตะกั่วกับลูกหมุนสามทาง แยกสายออกมาต่างหาก โดยตะกั่วจมลงถึงพื้นหน้าดินเป็นตัวถ่วงยึดเหยื่อให้ลอยอยู่กับที่ในระดับความลึกที่ต้องการ เทคนิควีนี้เหมาะสำหรับการตกปลาล่าเหยื่อในแหล่งน้ำที่มีพืชใต้น้ำขั้นอยู่หนาแน่น และเหยื่อตายที่นำมาใช้นี้ก็ไม่จำเป็นต้องเจาลมออกจากกระเพาะ เพื่อที่เหยื่อจะได้ลอยอยู่ใต้ผิวน้ำได้ดียิ่งขึ้น