จริงๆ ต้องบอกว่ากุ้งแคระอื่นก็สามารถเลี้ยงในตู้แบบนี้ได้นะครับ โดยเจ้า Red bee หรือ Crystal Red Shrimp ถือเป็นราชาของกุ้งแคระเลยก็ว่าได้ ที่ว่าราชาไม่ใช่แค่สวย หรือแพงเท่านั้น มันยังเรื่องเยอะเลี้ยงยากอีกด้วย โดยปัจจัยหลักๆ ที่จะทำให้เลี้ยงได้ผมว่ามี 3 สิ่งคือ
- ใจรัก
- น้ำได้
- อุณหภูมิได้
ใจรัก .. ต้องมาก่อนเลย ถ้าไม่รัก เลี้ยงไม่รอดแน่นอนเพราะของใช้เลี้ยงเรดบีราคาค่อนข้างแพง และถึงแม้จะใช้ของดีที่สุด ก็ยังต้องคอยดูแลมันอย่างดีเช่นกัน แต่ในไทยจะมีของราคาไม่แพงอยู่เหมือนกัน ก็คงต้องลองหากัน
น้ำได้ .. คือน้ำสะอาด มีค่าต่างๆ ของน้ำที่ใกล้เคียงความเหมาะสมที่เรดบีจะอยู่ เช่น เรดบี เหมาะกับน้ำ PH 5.5 – 6.5 บวกลบนิดหน่อย ตามสูตรของคนเลี้ยง อีกค่าที่สำคัญคือ GH ที่ใกล้เคียงความเหมาะสมที่เรดบีจะอยู่ที่ GH 4 – 5 และ TDS ประมาณ 150 แต่คนเลี้ยงบางท่านไปถึง 300 ก็ยังอยู่กันสบายนะ แต่ไม่เป็นไรเรายึดตามตำรา ส่วนของเสียอย่าง ไนเตรตและไนไตรท์ พวกนี้ถ้าดีมากจะต้องอยู่ที่ 0 แต่บอกตรงๆ ผมไม่เคยวัด เครื่องมือมันแพงอะนะ
อุณหภูมิได้ ..ถ้าเป็นกุ้งแคระอื่นคงไม่ต้องแคร์มาก แต่ถ้าเรดบีจะอยู่น้ำเย็น ที่ 22 – 25 องศา ถามว่า 27 – 30 ตายหรือเปล่า..? ไม่ตายง่ายๆ ครับ อยู่ได้นะ แต่จะได้ลูกยาก และถึงจะท้องได้ ลูกรอดยาก ความเย็นที่เหมาะสมในการผสมพันธ์คือ 24 องศา และควรคุมไม่ให้แกว่งด้วย ..ถามว่าถ้าแกว่งจะได้แค่ไหน..? ตามตำราบอกไว้ว่า 1 องศาครับ นั้นคือต้องทำให้อยู่ที่ 24 – 25 ตลอด 24 ชั่วโมง
เอาละ.. ถ้าใจรักแล้ว จะทำให้น้ำได้ กับอุณหภูมิได้ยังไง..?
จะไม่บอกว่าต้องมี แต่ควรมีเพื่อให้สามารถเลี้ยงเรดบีได้นาน มีลูกมีเต้าเต็มตู้ ไม่ตายจนหมดตู้ซะก่อนนะครับ โดยสิ่งที่ต้องมีเพื่อหล่อเลี้ยงน้ำให้ดีอยู่เสมอคือ
- ตู้ปลา ขนาด 24 นิ้วขึ้นไป
- ดินสำหรับเลี้ยงเรดบี 5 – 9 กิโล สำหรับตู้ 24 นิ้ว
- วัสดุปูพื้น เช่น หินพัมมิส (จะมีหรือไม่มีก็ได้ แต่มีจะดีกว่า)
- กรองนอก (จะมีหรือไม่มีก็ได้ และจำเป็นหากใช้ชิลเลอร์)
- กรองใต้กรวด (จะมีหรือไม่มีก็ได้ แต่มีจะดีกว่า)
- กรองฟองน้ำ ถ้ามีกรองนอกดีๆ ไม่ต้องมีก็ได้
- ไฟ LED หรืออะไรก็ว่าไป เอาไว้เลี้ยงไม้น้ำ เปิดดูกุ้ง
- เครื่องทำความเย็น ชิลเลอร์ หรืออะไรก็แล้วแต่ตามสะดวก (ถ้าไม่แคร์ลูกไม่มี ลูกน้อย ก็ไม่ต้องมี)
ดินอะไรดี สำหรับเลี้ยงเรดบี..?
ก็ไหนๆ จะตั้งตู้ขอพูดถึงดินตรงนี้เลยละกัน เพราะดินถือเป็นส่วนสำคัญในการเลี้ยงกุ้งอย่างเรดบีมาก ซึ่งผมจะขอพูดถึงเฉพาะดินที่เคยใช้มาเท่านั้นนะ เอาแบบคร่าวๆ พอนะ
ดินของ “Tentora” 5 กิโล ราคาประมาณ 650 บาท
เป็นดินที่กด PH ให้ต่ำอยู่ประมาณ PH6 นะครับ เม็ดดินค่อนข้างกลม สีดำ ดินค่อนข้างนุ่ม เป็นดินที่สามารถลงกุ้งได้ทันที (ลองแล้ว) แต่ไม่แนะนำ เพราะถึงกุ้งจะไม่ตาย แต่ลูกกุ้งไม่รอด เนื่องจากการลงกุ้งทันที ตู้จะไม่เซ็ตตัวดี หรือง่ายๆ คือค่าต่างๆ ของตู้ยังไม่นิ่งดี และดินชนิดนี้หากไม่ใช้พวกน้ำยาทำให้น้ำใส น้ำใสจะช้ามากอาจใช้เวลาเป็นเดือนถึงจะใส ตามข้อมูลจากผู้ผลิตเห็นว่าเป็นเพราะมีแร่ธาตุมาก
ดินของ “GEX ถุงแดง” 2 กิโล ราคาประมาณ 350 บาท
เป็นดินที่ค่อนข้างนิยมใช้กันเลยทีเดียว ราคาไม่แพงมาก และน้ำใสเร็วมาก ดินมีคุณสมบัติใกล้ๆ กับ Tentora แต่เม็ดดินเล็กและกลมกว่า ดินตัวนี้ขึ้นชื่อเรื่องน้ำใสเร็วมาก ที่ผมใช้ใสในเวลาไม่กี่ชั่วโมง และเป็นดินที่ลงกุ้งได้เร็วเหมือนกัน แต่ถ้าไม่รันน้ำ ก็จะมีผลกับกุ้งในระยะแรกๆ เช่นกัน ถ้าโชคไม่ดีอาจมีกุ้งตายเช่นกัน
ดินของ Benbachi Black soil plus Fulvic 5 กิโล ราคาประมาณ 980 บาท
ถือเป็นแบนด์ชื่อดังในวงการเรดบีก็ว่าได้ ดินของ Benbachi ตัวนี้เม็ดใหญ่กว่าของ Tentora และ GEX และยังเม็ดไม่กลมอีกดีกด้วย เป็นดินที่ควบคุม PH ให้อยู่ประมาณ 6 เช่นกัน ถ้าเรื่องความแข็งของดิน ของ Benbachi จะแข็งกว่าทั้ง 2 แบนด์ที่กล่าวไปก่อนหน้า Benbachi เป็นดินที่ลงกุ้งได้เร็ว น้ำใสช้ากว่า GEX นิดหน่อย แต่ถ้าเลี้ยงเรดบียังไงก็แนะนำให้รันน้ำอย่างน้อย 1 อาทิตย์
ส่วนดิน ADA ไม่เคยใช้ > < แต่เขาว่าดี ทน เพียงแต่ต้องรันน้ำนานมากกว่า 1 เดือนหรือมากกว่านั้น หากจะเอาไปเลี้ยงเรดบี ไว้มีโอกาสได้มาใช้จะมาบอกอีกที
มาเริ่มตั้งตู้เลยละกัน
การตั้งตู้ของผมเป็นการตั้งตู้แบบเลี้ยงนานๆ 1 ปี หรือถ้าโชคดีได้นานกว่านั้น โดยไม่ต้องล้มตู้ลงไปซะก่อน จากตัวอย่างเป็นตู้ขนาด 24x12x12 ภาพอาจจะเละไปหน่อย 555+
จากภาพบนถ้าใครไม่รู้จักกรองใต้กรวดก็หน้าตาประมาณนี้ครับ อย่างธรรมดาก็ร้อยกว่าบาท อย่างดีก็ 600 กว่าบาท วางบนพื้นตู้ก่อนเลย หากถามว่าถูก แพงต่างกันไง ผมว่าแพงแข็งแรงกว่าแน่ๆ
ต่อไปเป็นการปูพื้นก่อนลงดินจริง ภาพดูเถือนๆ หน่อยนะ 555+ มีวัสดุมากมายให้เลือกใช้ ตัวผมใช้หินพัมมิสเบอร์เล็ก ตรงนี้จะไม่ปูก็ได้ แต่การปูก็เพื่อเพิ่มที่อยู่ของแบคทีเรียในชั้นดิน
เมื่อปูพื้นด้วยหินก็โรยด้วยแบคทีเรียผงมีให้เลือกมากมายหลายยี้ห้อ ที่นิยมกันมากๆ ดูจะเป็นของ ADA ส่วนผมใช้ Benbachi เพราะได้มือสองมาอะนะ แน่นอนว่าจะใส่หรือไม่ก็ตามใจครับ แต่การใส่จะเป็นการเร่งให้เกิดแบคทีเรียทั้งในชั้นดินในน้ำรวมทั้งกรอง บางคนใช้แบคทีเรียน้ำอย่างเดียวก็ได้ อย่างแบคทีเรียสังเคราะห์แสง PSB ที่ราคาไม่แพงก็ใช้ได้เช่นกัน (แบททีเรียน้ำต้องใช้หลังเติมน้ำ)
ในกรณีที่มีแบททีเรียผง เมื่อโรยที่พัมมิสแล้ว ก็กลบดินประมาณ 1cm แล้วโรยเพิ่มอีกครั้ง แบ่งเอาตามปริมาณแนะนำของแต่ละยี้ห้อ
ดินที่ใช้กับตู้นี้เป็น Benbachi Black soil plus Fulvic โรยให้ทั่ว ถึงช่วงนี้จะจัดตู้ยังไงก็ตามชอบใจเลย จะวางไม้ ก้อนหิน ปลูกหญ้าก่อนเติมน้ำหรือหลังจากเติมน้ำก็ได้ มีกรองอะไรก็ติดตั้งให้เรียบร้อยเลยก็ได้ครับ
ต่อเป็นเป็นการเติมน้ำลงไป บางคนก็บอกว่าต้องใช้น้ำ RO บางคนก็บอกว่าน้ำประปาก็ได้ ส่วนผมใช้ทั้งสองอย่าง ถ้ามีน้ำประปาพักไว้ก็เอาน้ำประปามาเติม ไม่มีก็ใช้ RO ในช่วงแรกเมื่อเติมน้ำ น้ำจะขุ่นมาก โดยเฉพาะหากเป็นดินของ Tentora แต่หากรันน้ำไปเรื่อยๆ จะใสขึ้นมาเองครับ ก็เป็นอันเสร็จขั้นตอนการตั้งตู้แล้วนะครับ ก่อนลงกุ้งถ้าไม่อยากให้มันดับก่อนวัยอันควร ก็ควรวัดค่าน้ำต่างๆ ก่อน อย่างน้อย PH และ GH ก็ยังดีนะ …เดี๋ยวมาพูดเกี่ยวกับระบบกรองในตู้เรดบีกันต่อในตอนต่อไป
อ่านเรื่องอื่น ข้อควรรู้เกี่ยวกับการเลือกซื้อเรดบีจากร้าน