เรื่องที่อาจไม่รู้เกี่ยวกับ ‘ปลาจีด (เม็ง)’ ที่เกือบสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติไทย

ปลาจีดถือเป็นหนึ่งในปลาเนื้อดีที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย ในอดีตเป็นปลาที่เคยมีอยู่มากมายในลุ่มส่วนใหญ่ในไทย พบมากในแม่น้ำแถบภาคกลาง ภาคอีสาน และภาคใต้ แต่ในตอนนี้น่าจะเหลือเฉพาะที่ภาคใต้ และนี่คือเรื่องราวที่คุณอาจไม่รู้เกี่ยวปลาจีด!

ปลาจีดคืออะไร?

Advertisements

ปลาจีด เป็นปลาที่มีรูปร่างหน้าตาคล้ายกับปลาดุก แต่ไม่ใช่ปลาในวงศ์ปลาดุก แต่ถึงอย่างงั้นก็จัดเป็นปลาน้ำจืดในอันดับปลาหนัง และใช้ชื่อวงศ์ว่า Heteropneustidae (/เฮท-แอร์-โอ-นิวส์-ทิ-ดี้/) ในสกุลว่า Heteropneustes (/เฮท-แอร์-โอ-นิวส์-ทิส/)

หากถามว่าปลาจีดมีชนิดเดียวหรือไม่? คำตอบคือ ไม่! และหากถามว่าปลาจีดในไทยคือชนิดไหน.? บอกตรงๆ ว่าระบุชัดได้ยาก เพราะแหล่งข้อมูลบอกมาไม่เหมือนกัน อย่างเช่น ในหนังสือปลาน้ำจืดไทย ของ ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ ได้ระบุปลาจีดที่พบในไทยไว้เพียงชนิดเดียว ซึ่งก็คือ เฮทแอร์โอนิวส์ทิส เคมราเตนซิส (Heteropneustes kemratensis) หากเรียกชื่อตามที่ Wiki เขียนเอาไว้ก็คือ ปลาจีดเขมราฐ

ในขณะที่มีงานวิจัยเกี่ยวกับปลาจีดที่อยู่ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งทำไว้เมื่อเกือบ 20 ปีก่อน ได้ระบุเอาไว้ว่าปลาจีดที่จับได้ในภาคกลาง ภาคอีสาน หรือ แม้แต่ภาคใต้ มีชนิด เฮทแอร์โอนิวส์ทิส ฟอสซิลิส (Heteropneustes fossilis) ซึ่งเป็นชนิดต้นแบบของปลาจีด รวมอยู่เป็นจำนวนมาก!

โดยตามรายงานฉบับนั้น นักวิจัยได้เก็บตัวอย่างปลาจีดมาจาก 3 ลุ่มน้ำของไทย ซึ่งก็คือ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำภาคตะวันออก และลุ่มน้ำตาปีที่อยู่ทางภาคใต้ ซึ่งทีมวิจัยได้เก็บตัวอย่างมาได้หลายร้อยตัว เฉพาะในเจ้าพระยาก็ร้อยกว่าตัว นี่แสดงให้เห็นว่าในธรรมชาติ “ปลาจีด” มีมากมายขนาดไหน และดูเหมือนพวกมันจะเริ่มหายไปในช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่ปลาดุกแอฟริกา หรือ ปลาดุกรัสเซีย เริ่มหลุดลงในแหล่งน้ำธรรมชาติของไทย

แล้วปลาจีดสองชนิดต่างกันหรือไม่?

สำหรับเรื่องนี้ หากไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญคงยากที่จะแยกปลาทั้งสองชนิดนี้ได้ เพราะจริงๆ เกือบจะไม่สามารถแยกด้วยการมองแวบเดียว ด้วยเหตุนี้ในอดีต ปลาจีด (เคมราเตนซิส) จึงถูกจัดให้เป็นชื่อพ้องของ ปลาจีด (ฟอสซิลิส) หรือก็คือ เคยคิดว่ามันก็คือชนิดเดียวกันนั้นละ แต่ก่อนจะมารู้จักความแตกต่าง ผมจะอธิบายลักษณะโดยรวมของปลาจีดก่อน!

ปลาจีดถูกอธิบายเอาไว้ว่า มีลักษณะคล้ายปลาดุกและปลาเนื้ออ่อน ด้วยเหตุนี้ในช่วงแรกมันจึงจัดอยู่ในสกุล Silurus (/ไซ-เลอร์-อัส/) ในวงศ์ของปลาเนื้ออ่อน แต่มันก็ต่างจากปลาดุกและปลาเนื้ออ่อน ตรงที่มีลำตัวยาวและแบนข้างมาก ส่วนหัวก็เล็กและแบนลาดลง ปากเล็ก ตาเล็ก มีหนวดยาวอยู่ 4 คู่รอบปาก มีสีลำตัวออกดำ และสิ่งสำคัญที่ทำให้ปลาจีดไม่ใช่ปลาดุกก็คือ มันมีอวัยวะช่วยหายใจที่แตกต่างไป คือ มีกระเพาะลมเป็นถุงยาว 2 ถุง อยู่บริเวณช่องเหงือก ฝังอยู่ในกล้ามเนื้อตอนบนของลำตัว และทอดยาวไปตลอดความยาวของลำตัวสองข้าง ขนานไปกับกระดูกสันหลัง

Advertisements

สำหรับลักษณะสำคัญที่ถูกระบุไว้ในงานวิจัยเมือหลายปีก่อน ในปลาจีด (เคมราเตนซิส) สามารถแยกออกจากปลาจีดชนิดอื่นค่อนข้างต้องลงลึกจน จนไม่ค่อยอยากอธิบายเพราะมันอาจจะน่าเบื่อ แต่ก็ขอพูดย่อๆ คือ มีครีบหางกลม ก้านครีบก้นมีจำนวน 75 – 84 ก้าน ในขณะที่ ปลาจีด (ฟอสซิลิส) จะมี 60 – 70 ก้าน

นอกจากลักษณะที่ระบุแล้ว ลักษณะอื่นๆ ก็เหมือนกัน ไม่ว่าจะเรื่องตัวแบน หัวแบนราบ ลำตัวไม่มีเกล็ด ถุงลมก็เหมือนกัน ในเรื่องขนาดดูเหมือน ปลาจีด (เคมราเตนซิส) จะตัวใหญ่กว่า ปลาจีด (ฟอสซิลิส) อย่างเห็นได้ชัด

ในเรื่องสีลวดลายลำตัวที่น่าจะช่วยให้แยกได้ง่าย แต่ก็ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะทั้งคู่ดันคล้ายกันอีก เพราะบริเวณลำตัวก็มีแถบสีเหลือง หรือนำตาลไปจนถึงขาวจางๆ อยู่ 2 – 3 แถบ ซึ่งจะพาดไปตามแนวยาวของลำตัว แน่นอนว่าบางตัวก็มองแทบไม่เห็น ส่วนโทนสีของปลาจะออกไปทางสีดำ บางตัวก็อาจจะจางลง …เพราะแบบนี้การแยกปลาทั้งสองชนิดนี้จึงทำได้ค่อนข้างยาก

แล้วสรุปปลาจีดที่เหลืออยู่ในไทยตอนนี้คือชนิดไหน?

คำถามนี้ผมเองไม่กล้าฟันธง แต่หากอ้างอิงจากเอกสารล่าสุด และจากการที่กรมประมงออกมาเผยแพร่ ก็สรุปตรงกันว่า มันคือ ปลาจีด (เคมราเตนซิส) ซึ่งอาจยาวได้ถึง 30 เซนติเมตร โดยที่ผ่านมา ทางกรมประมงได้พยายามเพาะพันธุ์ปลาจีดชนิดนี้ และปล่อยลงในแหล่งน้ำธรรมชาติอยู่เสมอ!

แต่ถึงอย่างงั้น ปลาจีดที่เคยพบในแหล่งน้ำจืดส่วนใหญ่ในไทย ก็คงเหลือเฉพาะที่ภาคใต้ จากเหตุความเสื่อมโทรมของแหล่งน้ำ และไม่สามารถแข่งขันกลับปลาที่คล้ายกันได้ นอกจากนี้กรมประมงยังมีการส่งเสริมให้เลี้ยงเป็นปลาเศรษฐกิจที่มีราคาแพง ซึ่งในตอนนี้เป็นที่นิยมเลี้ยงที่ภาคใต้โดยเฉพาะในจังหวัดสุราษฎร์ธานีจะนิยมเป็นพิเศษ

Advertisements

ส่วนในเรื่องที่ปลาชนิดนี้จะสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติของไทยหรือไม่..? คงจะขึ้นอยู่กับเวลา เพราะถึงแม้ตอนนี้กรมประมงจะเพาะพันธุ์ได้แล้ว แต่เมื่อปล่อยปลาจีดลงในแหล่งน้ำภาคกลาง หรือ ภาคอีสาน มันก็ยากที่จะอยู่รอด เหตุผลง่ายๆ คือ ไม่มีอะไรให้มันกิน! นี่ยังไม่นับน้ำเสีย และการจับปลาที่มากเกินไป

สรุปคือ คงยากที่จะฟื้นฟูประชากรปลาจีดในแหล่งน้ำธรรมชาติส่วนใหญ่ของไทย แต่ก็คงไม่สูญพันธุ์ไปจากโลก เพราะมันก็มีสภาพคล้ายปลาบึก ปลายี่สกไทย ที่ต้องคอยรักษาประชากรปลาในธรรมชาติด้วยการปล่อยประชากรกลุ่มใหม่ลงไปทุกปี

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements
Advertisements