รายงานการสำรวจล่าสุด
เมื่อวันที่ 27 มีนาคม ปี พ.ศ. 2567 เพจพลับพลึงธาร FC ซึ่งเป็นเพจอนุรักษ์ต้นพลับพลึงธาร ซึ่งเป็นพืชถิ่นเดียวในจังหวัดระนองและพังงา และ IUCN ก็ประกาศให้พลับพลึงธารอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธ์ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554
ทั้งนี้จากรายงานการสำรวจต้นพลับพลึงธารในปี พ.ศ. 2567 ซึ่งเป็นการสำรวจตั้งแต่ เดือนพฤศจิกายน ปี 2566 – มีนาคม ปี พ.ศ. 2567 คลอบคลุม 35 คลอง นับรวมพลับพลึงธารได้จำนวน 208,854 กอ ซึ่งเปรียบเทียบการสำรวจในช่วงปี พ.ศ. 2561 ครอบคลุม 20 คลอง พบพลับพลึงธารจำนวน 23,828 กอ
จากรายงานนี้ แสดงให้เห็นว่า จำนวนของพลับพลึงธารเพิ่มขึ้น 185,026 กอ และพื้นที่กระจายพันธุ์ของพลับพลึงธารคือ 17,234 ตารางเมตร หรือ 10.8 ไร่ ความหนาแน่นเฉลี่ย 8.7 กอต่อตารางเมตร
สำหรับเหตุที่ทำให้พลับพลึงธารเพิ่มขึ้นมาก มาจากปัจจัยหลายๆ ด้าน เช่น การฟื้นฟูอย่างเป็นระบบ การสร้างเครือข่ายและชุมชนที่ให้ความสำคัญในการอนุรักษ์
สำหรับพื้นที่ๆ พบพลับพลึงธารจำนวนมากและสมบูรณ์ที่สุด อยู่ที่บริเวณคลองบางปง สวนตาเกษม, สวนน้าโย อ.คุระบุรี จ.พังงา และยังพบพลับพลึงธารแหล่งใหม่บริเวณสวนประชารักษ์ ต.ปากจั่น อ.กระบุรี จ.ระนอง ซึ่งอยู่ห่างไกลจากแหล่งที่มีการแพร่กระจาย เป็นระยะทางเกือบ 200 กิโลเมตร ..แต่! ก็มีบางคลองที่จำนวน พลับพลึงธารลดลงอย่างมาก เหตุจากน้ำกัดเซาะเนื่องจากการขุดลอกคลองบริเวณใกล้เคียง เช่น คลองตาผุด
ลักษณะของพลับพลึงธาร..?
พลับพลึงธาร (Onion plant, Thai onion plant,Water onion) เป็นพืชอวบน้ำ ดอกมีสีขาว มี 6 กลีบ ในก้านชูดอกหนึ่งๆ จะมีหลายก้านดอก จะทะยอยบานติดต่อกันไป ดอกหนึ่งๆ จะมีก้านเกสร 6 อัน มีเกสรสีเหลืองที่ปลายก้านเกสร ตรงกลางดอกจะมีก้านเกสรตัวเมียโผล่มาจากแกนกลางของดอก
หลังจากผสมเกสร กะเปาะเมล็ดจะเจริญเติบโตที่โคนก้านดอก กะเปาะหนึ่งจะมีจำนวนเมล็ดที่ไม่เท่ากัน มีลักษณะบูดเบี้ยวเป็นทรงที่ไม่แน่นอน พอเมล็ดแก่จะหลุดออกจากกะเปาะ พัฒนาสายรกออกด้านใดด้านหนึ่งของเมล็ด ตรงปลายสายรกจะพัฒนาเป็นต้นใหม่และมีรากยึดติดกับพื้นคลอง
ในระหว่างที่รากยังไม่สามารถเกาะยึดพื้นคลองได้ เมล็ดจะเป็นแหล่งอาหารให้กับต้นอ่อนได้นาน 3–4 เดือน หัวมีลักษณะคล้ายหัวหอม จึงมีชื่อเรียกว่า “หอมน้ำ” หัวจะโผล่ขึ้นเหนือผิวดินประมาณ 1 ใน 3 เพื่อป้องกันการเน่า ใบจะเป็นสีเขียวเรียวยาวเหมือนริบบิ้น ความยาวขึ้นอยู่กับระดับน้ำ บางพื้นที่ที่น้ำลึกใบอาจจะยาวได้ถึง 4 เมตร
พลับพลึงธาร ถือว่าเป็นดรรชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของน้ำและลำคลองได้ มันจะออกดอกและบานสะพรั่งในช่วงหน้าแล้งของพื้นที่อันดามันตอนบน ประมาณปลายเดือนกันยายนถึงเดือนธันวาคม ดอกมีความสวยงามประกอบกับความหายาก จึงทำให้ได้รับฉายาว่า “ราชินีแห่งสายน้ำ”
สุดท้าย! เหตุที่ทำให้พลับพลึงธารลดจำนวนลงอย่างมาก จากหลายๆ ปัจจัย เช่น การเก็บหัวไปขายเพื่อปลูกเป็นไม้ประดับ ส่งออกไปขายต่างประเทศ การขุดลอกคลอง การสร้างฝาย หรือการเปลี่ยนทางน้ำธรรมชาติ เป็นต้น