ยักษ์ใหญ่ในหมู่กบ
กบโกไลแอท (Goliath frog) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า คอนราอัว โกไลแอท (Conraua goliath) ในสกุลคอนราอัว ซึ่งมีทั้งหมด 6 ชนิด แน่นอนว่ากบโกไลแอทตัวใหญ่ที่สุดและยังอายุยืนมากด้วย ในธรรมชาติอยู่ได้นานถึง 15 ปี แต่หากเลี้ยงดีๆ โดยมนุษย์จะอยู่ได้เกิน 20 ปี และความจริง กบโกไลแอท เป็นกบที่ไม่ค่อยสมประกอบ เพราะมันไม่มีถุงเสียง จึงไม่สามารถส่งเสียงเหมือนกบทั่วไปได้ แถมยังไม่มีแผ่นรับรสชาติอีกด้วย แต่มันก็มีการได้ยินที่ยอดเยี่ยมมาก
กบชนิดนี้สามารถเติบโตได้ยาวถึง 34 เซนติเมตร และหนัก 3.3 กิโลกรัม มันไม่ใช่แค่ตัวใหญ่ แต่ยังเป็นกบที่ทรงพลังมาก เพราะกบโกไลแอทสามารถกระโดดได้สูงถึง 3 เมตร และยังดันหินเพื่อใช้สร้างเขื่อนขนาดเล็กสำหรับทำรังได้อีกด้วย
ในทางกลับกันขนาดที่ใหญ่ทำให้พวกมันเป็นอาหารที่น่าดึงดูดสำหรับมนุษย์และผู้ล่าอื่น … และเนื่องจากการล่าที่มากเกินไป กบขนาดใหญ่ที่สุดในโลกตัวนี้ จึงถูกจัดอยู่ในประเภทสัตว์ใกล้สูญพันธุ์
กบโกไลแอทพบกระจายพันธุ์อยู่ตามแม่น้ำที่มีสภาพพื้นเป็นทราย ในป่าดิบทึบหรือภูเขาในแถบแอฟริกากลาง ประเทศแคเมอรูนและอิเควทอเรียลกินี เป็นกบที่ชอบอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่สะอาดและมีปริมาณออกซิเจนที่สูง กินอาหารได้หลากหลายทั้ง แมลงชนิดต่าง ๆ เช่น ตั๊กแตน, แมลงปอ รวมถึงกบด้วยกัน, ปู หรือแม้กระทั่งเต่าหรืองูขนาดเล็ก และมีรายงานว่าพบค้างคาวในท้องด้วย
และแม้ว่ากบชนิดนี้จะตัวใหญ่มาก แต่มันก็ยังต้องเริ่มมาจากการเป็นลูกอ๊อดที่ตัวไม่ใหญ่ไปกว่ากบทั่วไปเลย อย่างไรก็ตามหลังจากระยะลูกอ๊อดซึ่งใช้เวลาประมาณ 85 – 95 วัน มันจะกลายเป็นกบร่างสุดท้าย
แต่พวกมันยังไม่ได้รับลักษณะของกบยักษ์แต่อย่างใด หรือก็คือมันมีขนาดแค่ 3.5 เซนติเมตรเท่านั้น พวกมันต้องเติบโตต่อไปอีก 12 เดือน และเมื่อถึงตอนนั้นพวกมันจะหาคู่ และทำสิ่งที่น่าอัศจรรย์เพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ของมันต่อไป
การสร้างรังที่แปลกประหลาดของกบยักษ์
ยังมีเรื่องอีกมาก ที่เราไม่รู้เกี่ยวกับกบโกไลแอท พวกมันอาศัยอยู่ในเขตที่ค่อนข้างเล็ก ซึ่งทอดยาวจากแคเมอรูนทางตะวันตกเฉียงใต้สู่อิเควทอเรียลกินี ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยที่มนุษย์ไม่สามารถเข้าถึงได้ง่าย สิ่งที่ทำให้พวกมันเข้าใจได้ยากยิ่งขึ้นไปอีกก็คือพฤติกรรมของพวกมัน
กบพวกนี้หากสัมผัสได้ถึงมนุษย์ มันจะรีบกระโดดลงไปในแม่น้ำเพื่อซ่อนตัว และพวกมันก็หูดีมากด้วย ดังนั้นนักล่าที่เชี่ยวชาญจึงต้องใช้กำลังและเวลาในการไล่ตามและจับกบโกไลแอทอย่างมาก ยิ่งอยากจับมาแบบเป็นๆ ก็ยิ่งจับยาก
นี่เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้เรื่องที่เกี่ยวกับกบโกไลแอทยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับนิสัยการผสมพันธุ์และการทำรังของพวกมัน
จนกระทั่งเมื่อหลายปีก่อน เมื่อนักวิจัยมองหากบตามแม่น้ำเอ็มปูลา ที่ทอดยาวไปทางตะวันตกของแคเมอรูน ในช่วงสั้นๆ ของแม่น้ำซึ่งยาวประมาณ 400 เมตร พวกเขาสะดุดเข้ากับทิวทัศน์ที่แปลกประหลาด มันโขดหินริมฝั่งมีแอ่งน้ำแปลกๆ ซึ่งเป็นที่ๆ ใบไม้ กรวดและเศษซากอื่นๆ มาสุ่มรวมกัน หลังจากนั้นไม่นาน นักวิจัยก็พบกับแอ่งน้ำสะอาดอื่นๆ อีกหลายแอ่งที่อยู่เหนือตลิ่ง …แอ่งน้ำเหล่านี้บางแห่งว่างเปล่า แต่มีบางแอ่งเต็มไปด้วยลูกอ๊อด เมื่อเห็นแบบนี้ นักวิจัยก็รู้ว่าได้เจอของดีเข้าแล้ว
ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม ปี พ.ศ. 2561 (2018) ทีมวิจัยได้ตรวจสอบแหล่งเพาะพันธุ์ 22 แห่ง โดย 14 แห่งมีไข่กบมากกว่า 3,000 ฟอง ..อย่างไรก็ตาม พวกเขาประหลาดใจที่พบรังที่ต่างกันมากถึง 3 ประเภท
- รังประเภทที่หนึ่ง : เป็นรังที่เรียบง่ายและพบได้บ่อยที่สุด ซึ่งทำมาจากใบไม้ ตะกอนและเศษขยะอื่นๆ ที่นำมาจากแอ่งหินในก้นแม่น้ำ โดยใช้ประโยชน์จากโครงสร้างที่มีอยู่แล้วเพื่อผสมพันธุ์
- รังประเภทที่สอง : เกี่ยวข้องกับการขยายแอ่งตื้นที่มีอยู่เดิม กบโกไลแอทจะผลักกรวดและขยะอื่นๆ ออกไปให้พ้นทาง โดยพื้นฐานแล้วพวกมันจะสร้างเขื่อนขนาดเล็กขึ้นมา
- รังประเภทที่สาม : เป็นรังน่าประทับใจที่สุด กบจะใช้ขาของพวกมันขุดร่องลึกบริเวณริมฝั่งแม่น้ำ ซึ่งล้อมรอบไปด้วยหินก้อนใหญ่ โดยหินบางก้อนที่กบใช้เพื่อสร้างแอ่งน้ำของมันอาจหนักได้ถึง 2 กิโลกรัม มันเป็นน้ำหนักมากกว่าครึ่งหนึ่งของน้ำหนักตัวของมัน
เมื่อกบสร้างรังเสร็จแล้ว ตัวผู้เรียกร้องให้ตัวเมียเข้ามาหา หลังจากผสมพันธุ์แล้ว ตัวเมียจะวางไข่ซึ่งตัวเมียจะคอยปกป้องจนกว่าลูกอ๊อดจะโต นี่ถือเป็นพฤติกรรมที่แปลกประหลาดในหมู่กบ เพราะมีกบน้อยชนิดมากที่เลี้ยงลูก พวกมันส่วนใหญ่ไข่แล้วก็จากไปทันที
ผู้เขียนงานวิจัยได้กล่าวถึงงานของพวกเขาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Natural History ว่าการเลี้ยงลูกนั้นหายากมากในหมู่กบเพราะมีน้อยชนิดมากที่อยู่เลี้ยงลูก ..กบส่วนใหญ่ไข่แล้วก็จากไปทันที และการสร้างรังแบบนี้ค่อนข้างท้าทายร่างกายของพวกมัน แต่ก็ทำให้อธิบายได้บางส่วนว่าทำไมกบโกไลแอทจึงพัฒนาให้มีขนาดใหญ่มาก
ปัจจุบันกบโกไลแอทถูกล่าโดยมนุษย์ ทั้งเพื่อเป็นอาหารและส่งออกเพื่อเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง และยังไม่มีกฏหมายคุ้มครองพวกมันอย่างจริงจัง มีเพียงแค่ห้ามส่งออกพวกมันเพียงไม่กี่ร้อยตัวต่อปี ซึ่งก็ไม่ได้ช่วยอะไรมากเพราะยังมีการแอบลักลอบจับพวกมันอยู่ตลอดเวลา