ประมงเปิดตัว ‘ปลาการ์ตูนโกลด์ครอสธันเดอร์’ หลังซุ่มเพาะสายพันธุ์ใหม่สำเร็จ

กรมประมงพัฒนาสายพันธุ์ปลาการ์ตูน โดยใช้เทคนิคผสมข้ามระหว่างสายพันธุ์ จนสามารถเพาะพันธุ์ "ปลาการ์ตูนโกลด์ครอสธันเดอร์" ได้สำเร็จ โดยเล็งกระตุ้นตลาดปลาสวยงามไทย สร้างความหลากหลายด้วยลวดลายที่แปลกใหม่ให้เหล่านักเลงปลาตู้ได้กลับมาคึกคักอีกครั้ง

นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า “ปลาการ์ตูนโกลด์ครอสธันเดอร์” (Gold x thunder maroon) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Premnas biaculeatus เป็นปลาที่กรมประมงใช้วิธีการปรับปรุงพันธุ์ตามหลักพันธุศาสตร์ปลาสวยงาม ด้วยการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่าง ปลาการ์ตูนทองโกลด์นักเก็ตกับปลาการ์ตูนแดงธันเดอร์ ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ไม่พบในธรรมชาติ แต่เกิดขึ้นจากการปรับปรุงพันธุ์จากโรงเพาะฟัก

โดยลูกพันธุ์ปลาที่ได้มานั้น มีลักษณะลวดลายที่แปลกใหม่ แตกต่างไปจากพ่อและแม่พันธุ์จึงเรียกลักษณะนี้ว่า “โกลด์ครอสธันเดอร์” โดยปลาสายพันธุ์นี้เป็นปลาที่ถูกพัฒนาสายพันธุ์ เพื่อกระตุ้นศักยภาพการผลิตปลาสวยงามเท่านั้น กรมประมงไม่มีนโยบายปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติโดยเด็ดขาด

เบื้องต้นได้ศึกษาวิจัยการเพาะพันธุ์ปลาการ์ตูนโกลด์ครอสธันเดอร์ มาตั้งแต่ปี 2563 และในปีงบประมาณ 2565 โดยความท้าทายของการเพาะพันธุ์ปลาสายพันธุ์นี้ คือจำเป็นต้องศึกษาจนทราบรูปแบบการถ่ายทอดลักษณะโกลด์นักเก็ต และลักษณะแดงธันเดอร์ เพื่อให้ได้มาซึ่งปลาสายพันธุ์แท้

หรืออย่างน้อยก็ต้องทราบลักษณะทางพันธุกรรมของปลาแต่ละตัว หลังจากนั้นจึงนำปลาที่มีลักษณะทั้ง 2 มาผสมกันเพื่อให้ลักษณะทั้งสองปรากฏอยู่ด้วยกัน และถ่ายทอดให้มีการแสดงลักษณะใหม่ออกมา

ซึ่งจากการวิจัยพบว่าลักษณะโกลด์ครอสธันเดอร์ เกิดจากปฏิกิริยาร่วมแบบสะสมของยีนต่างตำแหน่ง ระหว่างยีนควบคุมลักษณะตัวสีทองจากปลาการ์ตูนทองโกลด์นักเก็ต กับยีนควบคุมลักษณะลายพื้นขาวจากปลาการ์ตูนแดงธันเดอร์ ซึ่งปลานี้ได้เกิดขึ้นจากการผสมข้ามระหว่างสายพันธุ์ ให้เกิดลักษณะแปลกใหม่ ไม่ได้เป็นการดัดแปลงพันธุกรรมแต่อย่างใด

สำหรับปลาการ์ตูนโกลด์ครอสธันเดอร์ ลักษณะเด่นจะอยู่ที่ลักษณะรูพรุน และความพลิ้วไหวของลายสีขาวบนพื้นลำตัวสีแดง ซึ่งแตกต่างไปจากปลาการ์ตูนทั่วไปที่เคยมี

โดยปลาสายพันธุ์นี้ มีชีววิทยาเหมือนปลาการ์ตูนแก้มหนามทั่วไป คือความยาวประมาณ 17 เซนติเมตร ปลาเพศผู้เจริญพันธุ์เมื่อมีอายุประมาณ 6 เดือน ในขณะที่เพศเมียเจริญพันธุ์เมื่อมีอายุประมาณ 18 เดือน โดยมีลักษณะเป็นปลากะเทย นั่นคือปลาเพศผู้สามารถเปลี่ยนเพศเป็นเพศเมียได้ แต่เพศเมียไม่สามารถเปลี่ยนเป็นเพศผู้ได้ และมีอายุขัยเฉลี่ยทั่วไปประมาณ 15 ปี

ปัจจุบันปลาดังกล่าว เริ่มได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการ และอยู่ระหว่างการวิเคราะห์ต้นทุนเพื่อขอเสนอจำหน่ายกับสำนักงานเงินทุนหมุมเวียนของกรมประมง และมีแผนถ่ายทอดเทคนิควิธีการเพาะเลี้ยงไปยังเกษตรกร เพื่อให้สามารถเพาะเลี้ยง และจำหน่ายสู่ตลาดปลาทะเลสวยงามของไทยต่อไปในอนาคต

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งกระบี่ 141 ม.6 ต.ไสไทย อ.เมือง จ.กระบี่ เบอร์โทรศัพท์ 075-662059-60

กดเพื่อดู 4 สายพันธุ์ปลาแรดแท้

Advertisements

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements
แหล่งที่มากรมประมง