ตุ๊กแกบ้าน-งูเขียว และตำนานตุ๊กแกเรียกงูเขียวมากินตับ

หลายคนอาจเคยได้ยินเรื่องที่ว่า "งูเขียวจะเข้าไปกินเฉพาะตับของตุ๊กแก" ซึ่งเป็นความเชื่อโบราณที่ยังสืบทอดมาจนถึงคนรุ่นใหม่ แล้วคนเก่าคนแก่ก็ชอบมีคำแปลกๆ มาใช้หลอกเด็กดื้อที่เกี่ยวกับตุ๊กแก เช่น ถ้าดื้อมากระวังตุ๊กแกจะมากินตับ! ซึ่งเป็นคำขู่ให้เด็กกลัว ว่าแต่ตุ๊กแกมันโดนงูเขียวกินตับ มันก็เลยต้องออกหากินตับเด็กมาชดเชยหรือไง? เอาเป็นว่าช่างหัวตุ๊กแกกินตับเด็กดื้อไปก่อน เดี๋ยวมาดูเรื่อง "งูเขียวกินตับตุ๊กแก" มันเป็นยังไงกันแน่ดีกว่า

คนเก่าแก่มักจะบอกว่า เมื่อตุ๊กแกร้องว่า “ตั๊บแก” หมายความว่า ตับของตุ๊กแกมันแก่แล้ว ..แล้วทำไมมันร้องแบบนั้นละ! ก็เพราะว่ามันร้องเรียกให้งูเขียวให้มาช่วยกินตับที่แก่ของมัน! ส่วนสาเหตุที่ต้องให้มากินตับแก่ เพราะตุ๊กแกต้องการยืดอายุไขของมัน …เรื่องเล่าก็มีประมาณนี้ …แต่ในความเป็นจริงถ้าไม่มีตับมันก็ควรจะตายไปเลยมิใช่เหรอ? …แต่! บอกเลยว่าเป็นเรื่องจริงที่ตุ๊กแกบ้านและงูเขียวเป็นคู่กัดฟ้าประทานเลยก็ว่าได้

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักคู่กรณีกันก่อน

Advertisements

ในเรื่องนี้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลักๆ มีอยู่ 2 ตัวคือ งูเขียว กับ ตุ๊กแก และต้องบอกว่าตุ๊กแกบ้านในสมัยก่อนมีเยอะมากๆ มีแทบทุกบ้าน แม้แต่บ้านผมในกรุงเทพตอนนี้ก็ยังมีแน่ๆ 1 ตัว แอบอยู่ในห้องครัว ขาวจุดส้มตัวอ้วนๆ ส่วนงูเขียวตัวเด่นๆ ผมว่าต้องยกให้กับ งูเขียวพระอินทร์ หรือ งูเขียวดอกหมาก เพราะเจ้านี่ก็เป็นงูสามัญประจำบ้านชนิดหนึ่งเช่นกัน

ตุ๊กแกบ้าน คืออะไร?

ตุ๊กแกบ้าน (Gekko gecko) ซึ่งอยู่ในสกุลตุ๊กแก หรือสกุล Gekko (เก็กโค) หากนับเฉพาะสกุลนี้มีตุ๊กแกมากกว่า 50 ชนิด ส่วนในไทยน่าจะมีตุ๊กแกในธรรมชาติอยู่ 3 ชนิด หรืออาจมากกว่า แต่ผมไม่รู้จัก

  1. ตุ๊กแกบ้าน (Gekko gecko) ที่มักอาศัยอยู่ตามบ้าน และใกล้ชิดกับมนุษย์ที่สุด ตัวยาวประมาณ 30 เซนติเมตร
  2. ตุ๊กแกตาเขียว หรือ ตุ๊กแกป่าไทย (Gekko siamensis) ซึ่งจัดเป็นชนิดที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ มีจุดเด่น คือ มีดวงตาโตสีเขียว จะพบได้เฉพาะในถ้ำหินปูนในแถบจังหวัดสระบุรี และไม่กี่จังหวัดในพื้นที่ภาคกลาง ในประเทศไทยเท่านั้น
  3. ตุ๊กแกบ้านสีเทา (Gekko smithii) ตัวนี้ก็ถือว่าเป็นตุ๊กแกบ้าน แต่จะพบได้ที่ภาคใต้ของประเทศไทย เช่น จังหวัดกระบี่, พังงา, สตูล, ปัตตานี, ยะลา, นราธิวาส มีความยาวประมาณ 25 เซนติเมตร
ตุ๊กแกบ้าน (Gekko gecko)
ตุ๊กแกตาเขียว หรือ ตุ๊กแกป่าไทย (Gekko siamensis)
ตุ๊กแกบ้านสีเทา (Gekko smithii)
Advertisements

ตุ๊กแกบ้าน แม้จะไม่ค่อยมาวุ่นวายกับมนุษย์ แต่พวกมันก็เป็นสัตว์ที่มีนิสัยดุร้าย ชอบกัดกันเองและมีพฤติกรรมกินพวกเดียวกันด้วย ถือเป็นตุ๊กแกชนิดที่พบได้ทั่วไปในประเทศไทย ชอบอาศัยอยู่ในบริเวณป่าและในบริเวณบ้านเรือนของมนุษย์ ชอบหลบอยู่ตามมุมมืดปราศจากการรบกวน

ออกลูกเป็นไข่และมีนิสัยชอบร้องเสียง “ตุ๊กแก..ตุ๊กแก” ติดต่อกัน และเสียงก็ดังมากด้วย …มีคำแนะนำเล็กๆ เกี่ยวกับตุ๊กแกคือ อย่าเอานิ้วหรืออะไรที่คล้ายๆ กัน ไปใกล้ปากตุ๊กแก เพราะหากมันกัด มันจะไม่ยอมปล่อยง่ายๆ

งูเขียวพระอินทร์ คืออะไร?

งูเขียวพระอินทร์ หรือ งูเขียวดอกหมาก (Chrysopelea ornata) ซึ่งงูพวกนี้จะมีพิษอ่อนจนไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ งูเขียวพระอินทร์เป็นงูบก มีลำตัวเรียวยาว เกล็ดสีเขียวแกมเหลืองลายดำ

สามารถเลื้อยไต่ไปบนกิ่งไม้ได้อย่างคล่องแคล่ว เป็นงูที่พบได้บ่อยครั้งตามบ้านเรือน จึงได้รับสมญานามว่า “งูสามัญประจำบ้าน” …และด้วยเหตุนี้ งูเขียวและตุ๊กแกจึงมักจะปะหน้ากันเป็นประจำ

การต่อสู้ระหว่างตุ๊กแกกับงูเขียว

Advertisements

ตุ๊กแกบ้าน จุดเด่นคือ อึด ถึกมาก ด้วยความที่ทั้งสองฝ่ายเป็นสัตว์นักล่า และกินเนื้อที่มีขนาดใกล้กัน แถมยังอยู่ในระบบนิเวศเดียวกัน จึงทำให้มีการปะทะกันจนเป็นเรื่องปกติ

งูเขียวพระอินทร์ก็ล่าตุ๊กแกกินได้ ตุ๊กแกก็จับงูกินได้เช่นกัน อยู่ที่โอกาสใครดีกว่า แต่ส่วนใหญ่จะเป็นงูที่เป็นฝ่ายกิน แน่นอนว่ามีหลายครั้งที่พวกมันตายทั้งคู่ หรือดีหน่อยก็แยกย้ายกลับไปนอน

และต้องบอกว่า ตุ๊กแกอาจดุร้ายกว่างูเขียวพระอินทร์ซะอีก ถ้าว่างๆ ลองเอานิ้วไปที่ปากตุ๊กแก ผมว่ามีโอกาสสูงที่มันจะงับนิ้วแถมจะไม่ปล่อยง่ายๆ ด้วย แต่ถ้าเป็นงูเขียวพระอินทร์ จะมีโอกาสน้อยกว่า ส่วนใหญ่มันจะหนีออกอย่างว่องไว และถึงกัดมันก็ปล่อยง่าย

ทั้งนี้ตุ๊กแกเป็นสัตว์ที่อึดมากๆ เมื่อมันโดนงูเขียวโจมตี มันก็ต้องสู้ขาดใจ ซึ่งส่วนใหญ่มันก็พยายามงับหัวงูหรือคองู ส่วนวิธีสู้ของงูเขียวส่วนใหญ่คือการรัดจนกว่าตุ๊กแกจะหมดแรงข้าวต้ม ซึ่งปกติจะรัดนานมากๆ บางทีงูจะหมดแรงก่อนด้วยซ้ำ และเมื่อตุ๊กแกหมดแรง ก็ถึงขั้นตอนการกิน! ซึ่งทำให้เกิดเรื่องเล่าที่เป็นตำนาน

เพราะเมื่อตุ๊กแกหมดแรง งูเขียวตัวผอมๆ ต้องเริ่ม “กินตุ๊กแกจากส่วนหัว” เพราะหากกินที่หางจะกินยากมาก พองูเขียวขยับหัวมาใกล้หัวตุ๊กแก เพื่อจะเริ่มงาบหัวตุ๊กแก บางทีมันก็ไม่ง่ายขนาดนั้น เพราะหากตุ๊กแกดันไม่หมดแรง สิ่งที่ตุ๊กแกจะทำคือการงับหัวงูเขียว จนบางทีดูเหมือนมันอมหัวงูเข้าไปเลย

มาถึงตรงนี้ คงนึกภาพกันออกมันจะเหมือนงูเขียวพยายามเข้าไปกินตับตุ๊กแกนั้นเอง …แต่ความจริงมันไม่ได้เป็นอย่างที่เห็น ผมว่าถ้างูเขียวมันร้องได้ มันคงร้องว่า ช่วยกุด้วย กุจะตายอยู่แล้ววว หลายคนน่าจะรู้ว่า ตุ๊กแกเป็นสัตว์ที่กัดแล้วไม่ยอมปล่อยง่ายๆ มันกัดแน่นจนถึงขนาดมีคำโบราณที่ว่า “หากถูกตุ๊กแกกัด มันจะไม่ปล่อยจนกว่าจะเกิดฟ้าร้องฟ้าผ่า” นี่เป็นการบอกว่าถ้ามันกัดแล้วปล่อยยากแค่ไหน

พอตุ๊กแกงับงูเขียวที่หัวเท่านั้นล่ะ มันก็จะติดคาอยู่อย่างงั้น แล้วก็ถึงช่วงประลองกำลัง ใครมีมากกว่า การประลองนี้อาจใช้เวลาเป็นชั่วโมง จนคนเดินเจอ แล้วก็อุทานว่า “เฮย! ตุ๊กแก เรียกงูให้เข้าไปกินตับ” และนี่ก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องเล่าในตำนาน

และด้วยบทสรุปนี้เอง ทำให้เรื่องที่บอกว่าตุ๊กแกเรียกงูเขียวมากินตับ ไม่ใช่เรื่องจริงแน่ เพราะแท้จริงแล้ว ต่างฝ่ายต่างเป็นสัตว์นักล่าที่ฉวยโอกาส ด้วยกันทั้งคู่ หากใครเผลอก็เสร็จอีกฝ่าย แต่ผมว่าตุ๊กแกเองก็ไม่อยากเจองูเขียวตัวโตๆ เท่าไร เพราะดูมันจะเสียเปรียบในเรื่องขนาด แถมกินงูยาวๆ ยากด้วย ยังไงมันก็ชอบกินแมลงและสัตว์ตัวเล็กๆ มากกว่า

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements