ความจริงของปลา ‘การ่ารูฟ่า’ กระแสฟิชสปาไทย กับเรื่องที่คุณอาจไม่เคยรู้เลย

ประมาณปี พ.ศ. 2552 บวกลบเล็กน้อย มีปลาชนิดหนึ่ง เป็นถูกกล่าวถึงในวงกว้าง ไม่ใช่แค่แวดวงปลาสวยงามแต่เป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์ไปทั่วโลกอยู่ช่วงหนึ่ง ปลาชนิดดังกล่าวก็คือ Garra rufa (อ่านว่า กา ร่า รู ฟ่า) หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า "ดอกเตอร์ฟิช" มันเป็นปลาที่มีชื่อเสียงจากการทำฟิชสปาซึ่งกำลังเป็นที่นิยมไปทั่วโลก

ดอกเตอร์ฟิช

ต้นกำเนิดของการ่ารูฟ่า มาจากทางตะวันออกกลางทางตอนใต้ของประเทศตุรกี ตอนเหนือของซีเรีย จอร์แดน อิรัก ในแหล่งน้ำธรรมชาติ สามารถพบปลาชนิดนี้ได้ตามห้วยหนองคลองบึง แม้แต่บ่อน้ำเล็กๆ ที่เชื่อมต่อกับแหล่งน้ำธรรมชาติบางแห่งก็ยังสามารถพบเห็นได้ เรียกได้ว่าเป็นปลาที่หาได้ง่ายมาก

ที่สำคัญเจ้านี่ตายยากมากๆ ลองคิดดูว่ามันอาศัยอยู่กลางแจ้งในบ่อน้ำเล็กๆ ที่ประเทศในแถบตะวันออกกลางช่วงความกว้างของอุณหภูมิมันจะสวิงขนาดไหน กลางวันร้อนจัดกลางคืนหนาวจัด ใช่ครับมันอยู่ได้ในอุณหภูมิ 16-35 องศาเซลเซียส ได้อย่างไม่มีปัญหา ..สุดยอดปลาจริงๆ

Doctor Fish

การ่ารูฟ่าเป็นปลาในวงศ์ตระกูงของตะเพียนขนาดเล็ก ลำตัวมีลักษณะเป็นท่อนยาว ขนาดโตเต็มไม่เกิน 10 ซม. หางมีสีแดง และเกล็ดบางส่วนของหัวก็มีสีแดงปะปนบ้างเล็กน้อย

คำว่า Garra นั้นหาหลักฐานอ้างอิงที่น่าเชื่อถือไม่ได้ว่ามาจากภาษาอะไร ข้อสันนิษฐานที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ เชื่อว่ามาจากภาษาโปรตุเกส แปลเป็นภาษาไทยว่า “กรงเล็บ” โดยข้อสันนิษฐานอธิบายว่าปลาการ่านั้นเป็นปลาประเภทอมบ้วนกรวดทราย จะคล้ายกับการใช้กรงเล็บตะกุยพื้นทรายในธรรมชาติ

ส่วนคำว่า rufa นั้นค่อนข้างชัดเจนว่ามาจากภาษาละตินที่ว่า rufus แปลว่าสีแดง เมื่อจับชื่อวิทยาศาสตร์ของการ่ารูฟ่ามาเรียงเป็นประโยคก็จะได้ความหมายว่าปลากรงเล็บแดง อันที่จริงชื่อสามัญของปลาชนิดนี้ก่อนจะได้รับการอวยยศขึ้นเป็น Doctor fish เดิมทีมันใช้ชื่อว่า Red Garra มาก่อน

มีสมมติฐานของนักวิจัยต่างชาติท่านหนึ่ง ตั้งข้อสงสัยว่าทำไมการ่ารูฟ่าถึงต้องเข้ามาตอดมนุษย์เวลาลงน้ำ เค้าคิดว่าด้วยอุณหภูมิน้ำที่สูงถึง 35 องศาเซลเซียส (เอาจริงๆ แค่สามสิบองศาก็เรียกว่าน้ำอุ่นแล้ว) ทำให้สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กชนิดอื่นๆ หรือพืชน้ำไม่สามารถอยู่อาศัยในภาวะแบบนี้ได้

ด้วยเหตุนี้เจ้าการ่ารูฟ่าก็เลยไม่ค่อยจะมีอะไรกิน ดังนั้นเมื่อมีมนุษย์มานั่งแช่เท้า แช่ตัว มันก็เลยปรี่เข้ามาดูดกินหนังกำพร้าของคนที่ลงมาเล่นน้ำเพื่อประทังชีวิตนั่นเอง …แต่แอดมินไม่เห็นด้วยกับทฤษฎีนี้นะ

มาดูกันที่น้ำตกเอราวัณ จังหวัดกาญจนบุรี น้ำในไหลเย็น (เจี๊ยบ) มีปลามูด Garra fuliginosa อาศัยอยู่ไม่น้อย ซึ่งเป็นปลาตระกูลเดียวกับการ่ารูฟ่า เห็นมั๊ยว่ามีคำว่า “การ่า” อยู่ในชื่อเหมือนกัน แต่ที่น้ำตกเนี่ยมีตะไคร่ และแพลก์ตอนพืชเต็มไปหมด เจ้าปลาตัวนี้ก็ยังบุกมาตอดแข้งตอดขาอยู่ดี

Advertisements

ดังนั้นมันน่าจะเป็นธรรมชาติของปลาตระกูลการ่ามากกว่า ที่ชอบดูดเกาะในสิ่งต่างๆ แต่ก็คงจริงที่ได้อะไรไปกินบ้างเมื่อมาดูดร่างกายเรา เพราะมันก็ดูดแล้วดูดอีก ซ้ำแล้วซ้ำอีก

ด้วยความที่เป็นคนช่างสงสัย ช่วงที่ยังได้เลี้ยงการ่ารูฟ่าอยู่ในฟาร์มก็เลยลองให้อาหารการ่ารูฟ่าจนอิ่มเลย มีอาหารเหลือก้นตู้ด้วยแต่ปลาไม่กินแล้ว นั่นแปลว่ามันอิ่มแล้ว ทีนี้ก็ลองยื่นมือลงไปดูว่ามันจะเข้ามาตอดอีกมั๊ยถ้าแกอิ่มแล้ว คำตอบก็คือ ..มันก็มาตอดเหมือนเดิมแหละ

ดังนั้นก็เลยสรุปว่า มันมาดูดเอาหนังกำพร้าชั้นนอกที่ตายแล้วออกไป ส่วนทำไมต้องดูดเท้า ทำไมไม่มาดูดแขนดูดไหล่ คำตอบคือ มันเป็นปลาหน้าดินหากินอยู่ตามพื้นน้ำ สิ่งแรกที่ปลาเห็นก็ต้องเป็นเท้าอยู่แล้ว ถ้าเราลองเอาหน้าจุ่มลงไปให้ต่ำเท่ากับเท้าที่ยืนมันก็คงตอดหน้าเราแทนเท้าแหละ

เมื่ออยากรู้ว่าสมมติฐานนี้จริงมั๊ย หึ ๆ ว่าแล้วก็บอกให้น้องในบริษัทลองเอาหน้าจุ่มลงไปในตู้ปลาดูซิว่ามันจะตอดหน้ามั๊ย ผลปรากฎว่า ..ไม่มีใครยอมทำเลยครับ 555+

การพุ่งเข้าดูดของปลาตระกูลการ่านั้นมีลักษณะเฉพาะ เมื่อมันเริ่มดูดแล้วมันจะเคลื่อนที่ไปตามที่หัวมันชี้ไป มันจะไม่กลับตัวหรือเลี้ยวไปมา ในขณะที่ปลาปากดูดประเภทอื่นจะดูดด้วยการฉก คือว่ายไปดูดแล้วสะบัดตัวออก แล้วก็กลับไปดูดแล้วก็สะบัดตัวออกไปเรื่อยๆ ตำแหน่งที่ดูดก็เปลี่ยนไปมาไร้คอนเซปต์

กำลังการดูดของปลาการ่านั้นก็มากกว่าปลาชนิดอื่น มากถึงขนาดที่สามารถกระตุ้นการไหลเวียนของกล้ามเนื้อตรงจุดนั้นได้แบบเดียวกับที่เอาไฟฟ้ากำลังต่ำมาจี้กระตุก และจุดที่สำคัญที่สุดชื่อดอกเตอร์ฟิชของการ่ารูฟ่าไม่ใช่ตั้งมามั่วๆ แต่ได้มาเพราะน้ำลายของการ่ารูฟ่า มีเอนไซม์ Dithranol ซึ่งมีผลในการยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียบางชนิด และเอนไซม์ตัวนี้ก็ปรากฎอยู่บนฉลากยาทาภายนอกสำหรับการใช้รักษาโรคสะเก็ดเงินด้วยนะครับ

ก็เลยสรุปได้ว่าการทำฟิชสปาที่ใช้ปลาการ่ารูฟ่านั้นไม่ใช่เรื่องลวงโลก มันมีประโยชน์ต่อร่างกายจริงๆ แต่เอาจริงๆ นะครับในช่วงเวลาดังกล่าวมีสปาน้อยร้านมากที่ใช้การ่ารูฟ่าจริงๆ ส่วนใหญ่ที่เห็นก็จะเป็นปลาเล็บมือนาง ปลานกกระจอก แปลกๆหน่อยก็เคยเห็นกาแดง กาเผือก ปลาน้ำผึ้ง แต่ที่เห็นแล้วตกใจจริงๆ ก็คือ กาดำ กับ ทรงเครื่อง ไอ้กาดำนี่กัดแล้วเจ็บแบบได้แผลเลยนะเฟ้ย หาความรู้กันนิดนึงมั๊ยก่อนจะขายของเนี่ย

สถานการณ์ในปัจจุบัน กระแสฟิชสปาเงียบไปตั้งแต่ก่อนโควิดจะเริ่มแล้ว เป็นเพียงแฟชั่นประเดี๋ยวประด๋าว แต่ฟาร์มในบ้านเราก็ผลิตการ่ารูฟ่ามาได้นานหลายปีแล้วเช่นกัน ปลาตัวนี้เพาะพันธุ์ได้ตามฤดูของมันไม่สามารถเพาะได้ทั้งปี ไม่บ่อยนักที่ลูกค้าต่างชาติจะขอซื้อปลาชนิดนี้เพื่อไปทำฟิชสปา แต่ก็ยังมีมาเป็นระยะๆ

Advertisements

สุดท้าย! ปลาการ่ารูฟ่านั้น สามารถนำมาเลี้ยงในตู้ปลาสวยงามได้ ไม่จำเป็นต้องใช้งานในลักษณะฟิชสปาเพียงอย่างเดียว ปลาชนิดนี้เป็นปลาหน้าดินอาศัยอยู่ด้านล่าง มีหน้าที่ช่วยเก็บกวาดเศษอาหาร ดูดกินตะไคร่ พฤติกรรม “อมบ้วนทราย” ก็ช่วยให้วัสดุรองพื้นถูกพลิกกลับอยู่เสมอ ไม่เป็นที่หมักหมมของสิ่งสกปรก กินง่าย ไม่ดุร้าย นิสัยน่ารัก ติดอย่างเดียวตรงที่สีสันลวดลายบนตัวไม่มีจุดไหนดึงดูดสายตาเลย นี่มัน Deuce Bigalow Male Gigolo (1999) นี่เอง “ไม่หล่อ แต่เร้าใจ” !!

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements
Advertisements
แหล่งที่มาThai Fish Shop