ปลาไหลยุโรป คืออะไร?
ปลาตูหนายุโรป หรือ ปลาไหลยุโรป (European eel) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า แองกวิลลา แองกวิลลา (Anguilla anguilla) เป็นปลาที่อยู่ในสกุลปลาตูหนา ซึ่งในไทยจะมีปลาในสกุลนี้อยู่ 3 ชนิดคือ ปลาเอี่ยนหู ปลาตูหนา และปลาสะแงะ
โดยปลาไหลยุโรปจะมีรูปร่างเหมือนปลาตูหนาชนิดอื่น เมื่อโตเต็มวัยจะมีความยาวได้มากกว่า 100 เซนติเมตร แต่ขนาดโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 60 – 80 เซนติเมตร
ปลาไหลยุโรปกระจายพันธุ์อยู่ตามแนวชายฝั่งแม่น้ำในทวีปยุโรป และใกล้ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน โดยที่พ่อแม่พันธุ์จะว่ายน้ำไปวางไข่ในทะเลลึก ซึ่งเราเกือบจะไม่รู้เลยว่าพวกมันไปวางไข่กันที่ไหน และสันนิษฐานกันว่าพ่อแม่ปลาอาจจะตายหลังวางไข่?
ลูกปลาเมื่อฟักเป็นตัวอ่อน จะมีลักษณะโปร่งแสงเหมือนวุ้นเส้น และจะเรียกว่าปลาไหลแก้ว พวกมันยาวประมาณ 4 – 6 เซนติเมตร ปลาไหลพวกนี้จะเดินทางกลับสู่แม่น้ำทางทวีปยุโรป โดยลอยไปตามกระแสน้ำอุ่น ซึ่งอาจใช้เวลาถึง 2 ปีในการเดินทาง พวกมันจะถูกกินระหว่างทางเป็นจำนวนมาก และยังตกเป็นเป้าหมายของพวกลักลอบจับตัวอ่อนปลาไหลอีกด้วย …ปัจจุบันปลาไหลยุโรปอยู่ในสถานะเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์
ปี พ.ศ. 2463 จุดเริ่มต้นเบาะแสของแหล่งกำเนิดปลาไหลยุโรป
นานมาแล้วที่ปลาไหลยุโรปอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ แต่เดิมชีวิตของพวกมันก็ไม่ง่ายเลย พวกมันต้องเดินทางไกลถึง 10,000 กิโลเมตร เพื่อไปให้ถึงจุดวางไข่ และแน่นอนว่าในตอนนั้น นักวิจัยไม่ทราบจริงๆ ว่า เมื่อปลาไหลเหล่านี้วางไข่มันจะตายเหมือนปลาแซลมอนหรือไม่? เพราะเป็นเรื่องยากอย่างมากที่จะติดตามจุดจบหลังวางไข่ของพวกมันเป็นยังไง?
ในปี พ.ศ. 2463 นักชีววิทยาชาวเดนมาร์กชื่อ โยฮันเนส ชมิดท์ (Johannes Schmidt) ได้ค้นพบว่า ทะเลซาร์กัสโซซึ่งอยู่ทางตะวันออกของทวีปอเมริกาเหนือ มีตัวอ่อนปลาไหลอาศัยอยู่ จากนั้นเขาก็ใช้เวลาถึง 20 ปี เพื่อยืนยันการค้นพบของเขา และแม้จะใช้เวลามากขนาดนั้น แต่สุดท้ายเขาและทีมงานก็ไม่สามารถสุ่มตัวอย่างไข่หรือตัวอ่อนได้อีกเลย
หลักฐานแรกหลังผ่านมากว่า 100 ปี
ในปี พ.ศ. 2565 ทีมนักวิจัยจากยุโรปได้ตีพิมพ์บทความใน ไซเอินทิฟฟิค รีพอร์ท “Scientific Reports” ซึ่งแสดงหลักฐานที่หนักแน่นเป็นครั้งแรก ของปลาไหลยุโรปที่โตเต็มวัย ที่อพยพไปยังทะเลซาร์กัสโซเพื่อผสมพันธุ์ สิ่งนี้ให้ข้อมูลที่จำเป็นอย่างยิ่ง เกี่ยวกับวงจรชีวิตของปลาไหลที่เข้าใจได้ยากเหล่านี้
โรส ไรท์ (Ros Wright) หัวหน้าโครงการกล่าวว่า “ปลาไหลยุโรปกำลังอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤติ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องไขปริศนาที่อยู่รอบวงจรชีวิตที่สมบูรณ์ของพวกมัน ทั้งนี้ก็เพื่อสนับสนุนความพยายามในการปกป้องพื้นที่วางไข่ของสายพันธุ์นี้”
“นี่เป็นครั้งแรกที่เราสามารถติดตามปลาไหลไปยังทะเลซาร์กัสโซ …การเดินทางของพวกมัน จะเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการย้ายถิ่นของปลาไหลที่เราไม่เคยรู้มาก่อน”
วิธีการของพวกเราคือการติดแท็กดาวเทียมกับปลาไหลเพศเมีย 26 ตัว ที่อยู่ในแม่น้ำของหมู่เกาะอะซอเรส ซึ่งเป็นเขตปกครองตนเองของโปรตุเกส ในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือจากนั้นพวกเราก็รอ
สำหรับวิธีการติดตามแบบนี้ เคยทำมาก่อนในบางพื้นที่ของยุโรป เช่น ทะเลบอลติกและทะเลเหนือ มีการติดตามเส้นทางอพยพไกลถึง 5,000 กิโลเมตร แต่การติดตามก็ไม่ได้นานพอ นักวิจัยเลยไม่รู้ว่าสุดท้ายพวกมันจะไปไหน แน่นอนว่าไม่เคยรู้เลยว่าพวกมันจะมาถึงทะเลซาร์กัสโซอย่างที่เคยสันนิฐานหรือไม่?
นักวิจัยคิดว่า แม้ปลาไหลจะถูกติดตามเป็นเวลาหกเดือนหรือมากกว่านั้น แต่ความเร็วในการอพยพของพวกมันไม่เพียงพอที่จะไปถึงทะเลซาร์กัสโซในช่วงระยะเวลาวางไข่ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สันนิษฐานเอาไว้นานแล้ว ทำให้เกิดสมมติฐานว่าระยะการวางไข่ของปลาไหลอาจขยายไปถึงมากกว่า 18 เดือน
ด้วยเหตุนี้ทีมนักวิจัยจึงติดแท็กดาวเทียมกับปลาไหลเพศเมีย 26 ตัว โดยเริ่มต้นที่อะซอเรส (Azores) เพื่อให้เข้าใกล้ช่วงสุดท้ายของการเดินทางที่สุด โดยแท็กดาวเทียมนี้มีความก้าวหน้ามาก มันถูกเรียกว่า “X tags” สิ่งนี้สามารถส่งข้อมูลกลับมาได้ทุกๆ 2 นาที และหากแท็กลอยขึ้นผิวน้ำ ก็จะส่งข้อมูลกลับมาเช่นกัน ..และสุดท้ายมี 23 แท็กที่ทำงาน
นักวิจัยพบว่า “ความเร็วการย้ายถิ่นเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 3 – 12 กิโลเมตรต่อวัน พวกมันถูกติดตามตั้งแต่ 40 วันไปจนถึง 366 วัน มีปลาไหล 5 ตัวที่ลงเอยภายในเขตทะเลซาร์กัสโซ ในขณะที่ปลาไหลตัวหนึ่งไปถึงพื้นที่เพาะพันธุ์ที่ โยฮันเนส ชมิดท์ เคยสันนิษฐานเอาไว้เมื่อเกือบ 100 ปีก่อน …นี่แสดงให้เห็นว่าเขาคิดถูก แต่ในช่วงเวลานั้น มันยากที่หาหลักฐานมาเติมเต็มสิ่งที่เขาเคยสันนิษฐานเอาไว้
“แทนที่จะอพยพอย่างรวดเร็วเพื่อวางไข่ในโอกาสแรกสุด ปลาไหลยุโรปอาจเลือกที่จะทำการอพยพและวางไข่ที่ช้าและยาวนาน ซึ่งอาจช่วยประหยัดพลังงานและลดความเสี่ยงในการเสียชีวิต ..หากรีบพวกมันอาจตายทั้งหมดเหมือนกับปลาแซลมอน” นอกจากนี้ นักวิจัยยังมีคำถามว่า ปลาไหลใช้กลไกอะไรเพื่อให้สามารถนำทางไปสู่ทะเลซาร์กัสโซได้อย่างถูกต้อง?
การลักลอบจับปลาไหลยุโรป เป็นอาชญากรรมต่อสัตว์ป่าที่ใหญ่ในยุโรป
ปัจจุบันยุโรปนับว่าเป็นศูนย์กลางการค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฏหมาย ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 4 พันล้านยูโรต่อปี หรือประมาณหนึ่งแสนห้าหมื่นล้านบาทต่อปี นอกจากการค้างาช้างและนอแรดแล้ว องค์กรอาชญากรรมข้ามประเทศ ยังมีธุรกิจอย่างการลักลอบส่งออกปลาไหล 350 ล้านตัวจากยุโรปไปยังเอเซียอีกด้วย
ธุรกิจนี้ส่งผลกระทบร้ายแรงกับปลาไหลยุโรป ซึ่งนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 80 เป็นต้นมา ประชากรปลาไหลยุโรปลดลงถึง 96% ทั้งจากเส้นทางอพยพที่เปลี่ยนไป มลภาวะที่แย่ และความต้องการปลาไหลที่มากขึ้นทำให้พวกมันเสี่ยงกับการสูญพันธุ์อย่างมาก
“เมื่อพูดถึงการค้าตัวอ่อนปลาไหล คนมักจะคิดว่าเป็นเรื่องตลก แต่จริงๆ แล้วพวกมันกำลังเจอวิกฤตอย่างมาก และยังเป็นเรื่องผิดกฏหมายอย่างหนักด้วย พวกมันจะถูกส่งไปยังเอเซียตะวันออกเพื่อเพาะเลี้ยงจนโต จากนั้นปลาไหลสดและปลาไหลที่แปรรูปจะถูกส่งไปทั่วโลกเพื่อการบริโภค”
เนื่องจากความนิยมของซูซิที่มีทั่วโลก โดยเฉพาะในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ทำให้มีการเปิดตลาดของปลาไหลที่เพาะเลี้ยงในฟาร์ม ผู้เลี้ยงปลาไหลชาวจีน เริ่มเลี้ยงปลาไหลท้องถิ่นในเขตนั้นมากขึ้น ซึ่งในอดีตมันเป็นการค้าแบบถูกกฏหมายระหว่างยุโรปและจีน จนในปี พ.ศ. 2553 สหภาพยุโรปได้ยกเลิกข้อสัญญานี้
“ก่อน ปี พ.ศ. 2553 มีการส่งตัวอ่อนปลาไหลจำนวนมากไปยังจีน เมื่อรวมกับที่ว่าจำนวนปลาไหลลดลงอย่างมาก จนทำให้สหภาพยุโรปตัดสินใจหยุดการส่งออกปลาไหล” แต่เห็นได้ชัดว่าตอนนี้การค้าก็ยังไม่หยุด ถึงแม้ตลาดที่ญี่ปุ่นจะไม่รับปลาที่ผิดกฎหมาย แต่ความต้องการยังมีสูงอยู่ดี
และด้วยความนิยมของอาหารญี่ปุ่นทั่วโลก ตลาดได้ขยายตัวขึ้น พวกกลุ่มอาชญากรได้ลักลอบนำปลาไหลจากญี่ปุ่นไปจีน และไปยังประเทศอื่นๆ ซึ่งทำเงินได้หลายพันล้านเหรียญ
ร้านอาหารญี่ปุ่นมักขายปลาไหลสองแบบ ได้แก่ข้าวหน้าปลาไหลและซูชิ ในหลายประเทศทางตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐ ลูกค้าจะสนับสนุนกลุ่มอาชญากรโดยไม่รู้ตัว ด้วยการกินปลาไหลที่นำเข้าอย่างผิดกฏหมาย ทุกประเทศที่ขายปลาไหลพวกนี้มีโอกาสสูงที่จะเป็นปลาไหลเถื่อน
ปลาในสกุลปลาตูหนา 3 ชนิด ที่พบในไทย
1. ปลาเอี่ยนหู หรือ ปลาไหลหูขาว (Anguilla marmorata) เป็นปลาไหลที่ยาวประมาณ 150 เซนติเมตร มีลายบนลำตัวกระดำกระด่าง ปากกว้าง ครีบอกสีจางรูปกลมรี อันเป็นที่มาของชื่อ “ปลาไหลหูขาว” ในไทยพบในแม่น้ำเจ้าพระยา เคยมีรายงานพบถึงจังหวัดเชียงใหม่ และยังพบได้บ่อยในลุ่มแม่น้ำโขง …จัดเป็นปลาที่หาได้ยากในไทย
2. ปลาตูหนา หรือ ปลาไหลหูดำ (Anguilla bicolor) ยาวได้ประมาณ 120 เซนติเมตร เป็นปลาที่มีลำตัวส่วนบนสีน้ำตาลอมเทา ไม่มีลายกะ ท้องมีสีขาว ครีบหูสีดำ อันเป็นที่มาของชื่อ ปลาตูหนาจะอาศัยอยู่เฉพาะทางภาคใต้ของไทย ในป่าลำธารน้ำสะอาด
3. ปลาสะแงะ (Anguilla bengalensis) ยาวได้ประมาณ 120 เซนติเมตร มีลายบนตัวกระดำกระด่าง ท้องสีขาว ในไทยจะพบได้มากในลุ่มน้ำสาละวิน และยังพบได้ที่ภาคใต้ของไทย