สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้งรับ ‘พญาแร้งหนุ่ม’ จากสวนสัตว์หวังฟื้นฟูประชากร

เมื่อวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่องค์การสวนสัตว์ โดยสวนสัตว์นครราชสีมาได้ทำการขนย้ายพญาแร้งเพศผู้จากสวนสัตว์นครราชสีมา เพื่อนำมาเทียบคู่กับพญาแร้งเพศเมีย ของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี โดยมีทีมสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินการทำการตรวจสุขภาพพญาแร้งก่อนที่จะดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ต่อไป

สำหรับพื้นที่ห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี เป็นสถานที่แห่งความหวังที่จะร่วมกันฟื้นฟูประชากรของพญาแร้งให้กลับมาได้อีกครั้ง เพราะที่นี่เคยเป็นที่อยู่อาศัยเดิมของพญาแร้ง และที่นี่ก็เป็นที่เดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีประชากรเสือโคร่งหนาแน่นมากที่สุด เพราะเสือเป็นนักล่า เป็นผู้ที่ทำให้เกิดซาก การมีอยู่ของเสือจึงเกี่ยวข้องกับความอยู่รอดของแร้งในพื้นที่ กรมอุทยานแห่งชาติฯ จึงเข้มงวดในการดูแลพื้นที่อย่างมาก

ทั้งหมดนี้จึงเกิดความร่วมมือของ 4 หน่วยงาน ได้แก่ องค์การสวนสัตว์ โดยสวนสัตว์นครราชสีมา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยคณะวนศาสตร์ และสัตวแพทยศาสตร์, มูลนิธิสืบนาคะเสถียร จึงร่วมมือกันตาม “โครงการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย”

วัตถุประสงค์ของการดำเนินโครงการก็เพื่อฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย บริเวณพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง และเพื่อศึกษาข้อมูลทางด้านชีววิทยาและนิเวศวิทยาของแร้งในพื้นที่ถิ่นอาศัยในธรรมชาติ และสำรวจประชากรนกกลุ่มแร้งในพื้นที่ที่มีศักยภาพเหมาะสมเพื่อเป็นแหล่งพันธุกรรม เพื่อใช้เป็นโครงการต้นแบบในการฟื้นฟูประชากรแร้งประจำถิ่นอีก 2 ชนิด ของประเทศไทย ได้แก่ แร้งเทาหลังขาวและแร้งสีน้ำตาล และยังเป็นการสร้างเครือข่ายการอนุรักษ์นกกลุ่มแร้งทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระหว่างประเทศ

Advertisements
สำหรับพญาแร้งเป็นนกขนาดใหญ่ เป็นสัตว์ในวงศ์เหยี่ยว (Family Accipitridae) หรือนกวงศ์ผู้ล่า (Bird of Prey) มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤต ในประเทศไทยจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง มีพฤติกรรมที่ไม่ค่อยชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ มักหากินอยู่ตามพื้นที่โล่งแจ้ง โดยมักจะบินร่อนเป็นวงกลมบนท้องฟ้าระดับสูง สามารถร่อนกลางอากาศอยู่นานนับชั่วโมง โดยไม่ต้องกระพือปีก

พญาแร้งพบมากในทวีปเอเชียแถบประเทศอินเดีย จีน พม่า และอินโดจีน การทำหน้าที่ของพญาแร้งในฐานะนกเทศบาล พวกเขาเป็นผู้ที่ทำให้ระบบนิเวศในผืนป่าเกิดความสมดุล และคงความหลากหลายทางชีวภาพ หากที่ไหนมีพญาแร้งพื้นที่แห่งนั้นจะต้องมีซากสัตว์ และแสดงว่าต้องมีสัตว์ป่าผู้ล่าอาศัยอยู่ ทำให้เห็นว่านกเทศบาลตัวนี้ คือสิ่งมีชีวิตอีกหนึ่งชนิดที่เป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าใหญ่อีกด้วย

ภาพ : องค์การสวนสัตว์/สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements
Advertisements
แหล่งที่มาประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช