338 ชนิด 1,364 ตัว คือตัวเลขสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ในลุ่มน้ำคลองแสง ซึ่งเป็นสัตว์ป่าตกค้างในพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนเชี่ยวหลาน ในปี 2528 ในจำนวนสัตว์ป่าที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด มีสัตว์ป่าที่ได้รับการกำหนดสถานภาพว่ากำลังจะ “สูญพันธุ์” อยู่ด้วย 14 ชนิด ได้แก่ ช้าง สมเสร็จ และกระซู่ เป็นต้น แต่ภายหลังจึงพบว่า สัตว์ป่าที่ได้รับการช่วยเหลือตายเกือบทั้งหมด
เตรียมสร้างเขื่อนใหม่ในพื้นที่อุทยาน!
ล่าสุดจะมีการจัดประชุมเพื่อเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยภูนาง จ.พะเยา เพื่อให้กรมชลประทานเตรียมก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำแม่เมาะ (เขื่อน) ความจุ 3.45 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่ชลประทาน ประมาณ 4,000 ไร่ โดยพื้นที่ดำเนินโครงการบางส่วน (เนื้อที่ 397 ไร่) อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยภูนาง
“จากการสำรวจพบว่า บริเวณที่มีการสร้างเขื่อนมีนกยูงไทย อาศัยอยู่อย่างหนาแน่น ประมาณ 20 ตัว ต่อ ตร.กม.”
นกยูงไทย (Green Peafowl Pavo muticus) ถูกจัดให้เป็นสัตว์ป่าสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ (Endangered) ในระดับโลก ตาม IUCN red list มักพบได้ในประเทศกัมพูชา จีน อินโดนีเซีย ลาว เมียนมา ไทย และเวียดนาม และได้สูญพันธุ์ไปแล้วจากธรรมชาติของบังคลาเทศ อินเดีย และมาเลเซีย
หากพื้นที่ตรงนี้น้ำท่วมเราก็แค่ย้ายนกยูงไปที่อื่น?
ข้อมูลนี้ นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ ประธานชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา ได้ให้ความเห็นว่า “สัตว์แต่ละชนิด มีความต้องการทางชีววิทยาที่จำเพาะ พื้นที่ที่เหมาะสมในการดำรงชีวิตของนกยูงที่ดีที่สุด คือ พื้นที่ราบลุ่มริมลำห้วย ซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ และนกยูงต้องใช้ลานหาดริมห้วยเป็นพื้นที่ในการเกี้ยวพาราสี จับคู่ผสมพันธุ์
จากโครงการช่วยเหลือสัตว์ป่าตกค้างในพื้นที่อ่างเก็บน้ำโครงการเขื่อนเชี่ยวหลาน เป็นตัวอย่างให้เราได้เห็นแล้วว่า แม้จะระมัดระวังมากแค่ไหน สุดท้ายแล้ว สัตว์ทุกตัวที่ได้รับการช่วยเหลือ ก็ไม่สามารถมีชีวิตรอดและดำรงเผ่าพันธุ์ต่อไปได้